สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดเวทีสาธารณะด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ ครั้งที่ 2 ในรูปแบบเสวนาออนไลน์หัวข้อ “อนาคตตลาดและแรงงานในเศรษฐกิจไทย” เพื่อนำข้อมูลความคิดเห็น ไปสังเคราะห์และจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า กองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ตระหนักถึงการสนับสนุนประเด็นวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ นอกเหนือจากวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้โจทย์วิจัยทางด้านนี้ที่แหลมคมที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก จึงมีการจัดการประชุมวันนี้ขึ้น ทั้งนี้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง โครงสร้างประชากร ภาวะสังคมสูงวัย การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะตลาดและแรงงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล การซื้อขายและการบริการจึงขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ผู้ประกอบการรวมถึงแรงงาน ต้องเร่งปรับตัวจนนำมาสู่คำถามว่าแรงงานปัจจุบันควรได้รับการยกระดับและปรับทักษะอย่างไร แนวโน้มรูปแบบงานใหม่ในอนาคต และแรงงานแห่งอนาคต ควรมีลักษณะอย่างไรเพื่อนำไปสังเคราะห์เป็นโจทย์ที่ท้าทาย ความคาดหวังของ สกสว.ในวันนี้คือ การได้โจทย์จากภาคส่วนต่างๆ เพื่อจัดทำแผนด้าน ววน. สนับสนุนงบประมาณในการวิจัย และสร้างความรู้นวัตกรรมที่ช่วยแก้ไขสถานการณ์แรงงานได้ดียิ่งขึ้น

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยข้อมูลแนวโน้มตลาดแรงงานในอนาคตของไทยว่า ภายในปี 2568 อาชีพปัจจุบันจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรระบบดิจิทัล 85 ล้านตำแหน่งงาน เกิดอาชีพใหม่ 97 ล้านตำแหน่งงาน คนหนึ่งคน จะเปลี่ยนอาชีพบ่อยครั้งขึ้น งานจะไม่ยึดติดกับองค์กรหรืออาชีพแต่จะยึดติดกับทักษะ ตลาดแรงงานจะประกอบด้วยแรงานหลากหลายประเภทขึ้นมีความยืดหยุ่นขึ้น เกิดการจ้างชั่วคราว จ้างไม่เต็มเวลา จ้างรายชั่วโมง มีความหลากหลายของคนในตลาดแรงงานมากขึ้น คนหนึ่งคน มีหลายงานและไม่ได้ทำงานบนแพลตฟอร์มเดียว

ทั้งนี้ข้อมูลจากคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระบุว่า จะเกิดการปรับตัวการจ้างงานในอนาคต กล่าวคือ 1.ลดขนาดองค์กรและนำเทคโนโลยีมาใช้งานให้มากขึ้น 32.2 % 2.จ้างค่าจ้างเพิ่มเพื่อให้ได้แรงงานที่มีทักษะหลากหลาย (Multi Skills) 19.5 % 3.ปรับรูปแบบการจ้างงานให้มีความยืดหยุ่น เช่นจ้างรายชั่วโมง 17.8 % 4.ลดการจ้างลูกจ้างประจำและมาใช้ Outsource แทน 15.5 % 5.อื่นๆเช่น เน้นตลาดออนไลน์ ปรับฐานเงินเดือน 9.2 % 6.การแชร์หรือแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างอุตสาหกรรม และ 7.ลดการใช้แรงงานต่างด้าว 1.2 % นอกจากนี้ในสถานการณ์โควิด – 19 ที่ทุกฝ่ายต่างได้รับผลกระทบ กลุ่มแรงงานนอกระบบ ได้ยื่นข้อเรียกร้องดังนี้ 1.ประกันการมีงานทำอย่างน้อย 10 วันต่อเดือน 2.คืนพื้นที่ให้ค้าขายหาบเร่แผงลอย 3.สนับสนุนทุนประกอบอาชีพแบบให้เปล่า/ปลอดดอกเบี้ย 4.หน่วยงานรัฐมีโควตาจัดซื้อจัดจ้างให้แรงงานนอกระบบ 5.อุดหนุนค่าจ้างเอสเอ็มอี (SMEs) เพื่อชะลอการเลิกจ้าง 6.โครงการ Workfare บริหารสาธารณะเพื่อหนุนกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือ และ 7.สิทธิประโยชน์ประกันการว่างงานแก่ผู้ประกันตน มาตรา 40 ทั้งนี้ข้อสังเกตของ รศ.ดร.กิริยาที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญคือ ในช่วงโควิด – 19 มีประเด็นแรงงานการถูกเลิกจ้างอย่างไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ยังคงเป็นปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมที่ต้องได้รับการช่วยเหลือและสร้างความเป็นธรรมมากขึ้น

ด้านนายอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยข้อมูลว่า Future of Work หรือ โลกแห่งการทำงานในอนาคต ถูกจัดเป็นวาระแห่งโลก ทุกภาคส่วนมีความเห็นตรงกันว่าในระยะยาวเป็นโอกาสในที่ดี เทคโนโลยีที่เปลี่ยนจะมีตำแหน่งมากขึ้น ประเด็นที่น่าจะต้องให้น้ำหนักคือ ทักษะของคนที่ไม่เหมาะกับรูปแบบงานที่เปลี่ยนแปลงไป การเพิ่มทักษะจะมีต้นทุนที่ต้องมีผู้สนับสนุน จะมีอาชีพประมาณ 14 % หายไป ส่วนอาชีพที่ไม่หายไป 32 % จะมีเครื่องจักรเข้ามาช่วย โดยขั้นตอนที่มนุษย์ทำงานได้ ไม่ได้หมายความว่าเครื่องจักรทำงานไม่ได้ แต่ยังคงไม่ใช้เครื่องจักรเพราะลงทุนสูง เงื่อนไขดังกล่าวจะเป็นข้อต่อรองให้แรงงานไม่ได้เพิ่มค่าแรงเพราะมองว่าเครื่องจักรก็ทำได้ นอกจากนี้งานแบบ “Gig Worker” หรือ ผู้ที่ไม่ต้องการทำงานประจำ ไม่ต้องการที่จะสังกัดกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งจะมีมากขึ้น ข้อที่ฝากไว้ คือให้มองแรงงานมากกว่าแค่เรื่องต้นทุนในการส้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ แต่ให้มองในฐานะมนุษย์ ต้องคุ้มครองดูแล นโยบายที่ลงมาต้องมองในรูปแบบใหม่ ต้องทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้น

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์โควิด – 19 ฉายให้เห็นภาพของช่องว่างและ ความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล ระบบต่างๆของภาครัฐที่ยัง ไม่สมบูรณ์ นโยบายภาครัฐที่ช่วยเหลือที่คนไทยไม่ได้เข้าถึงทุกคน ทั้งนี้รายงานดัชนีเศรษฐกิจดิจิทัล Digital Evolution Index 2020 ประเทศไทยมีการเติบโตฝั่งดีมานด์ด้านดิจิทัลที่ดี แต่ยังมีจุดอ่อนประเด็นเรื่อง Digital Trust หรือความเชื่อถือในศักยภาพการรักษาความปลอดภัยข้อมูล ไทยถูกจัดอันดับที่ 34 จาก 42 ประเทศ ทั้งในมิติ ความเป็นส่วนบุคคล (Privacy) ความปลอดภัย (Security) และ การตรวจสอบได้ (Accountability) ดังนั้นรัฐอาจต้องสร้างสมดุลระหว่างการวางระบบที่เป็นส่วนตัวแต่นโยบายก็ต้องไม่กีดกันผู้เล่นหน้าใหม่มากเกินไป นอกจากนี้ประเด็นเรื่องการนำ ข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ต่อทางด้านการตลาด ยังคงเป็นข้อถกเถียงว่า แท้จริงเจ้าของแพลตฟอร์มต้องจ่ายให้ผู้ใช้หรือไม่ อย่างไร อย่างกรณี Facebook และนโยบายกำกับธุรกิจแพลตฟอร์มต่างๆ อาจต้องเข้ามาดูเรื่อง ข้อมูลนอกเหนือจากการพิจารณาเรื่องตัวเลขผลกำไร เป็นต้น

ในขณะที่ รศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ให้ข้อสังเกตว่า เมื่อก้าวเข้าสู่ดิจิทัลชี้ให้เห็นว่า เครื่องมือการทำนโยบายเศรษฐกิจของเราถูกออกแบบมาจากประเทศที่มีข้อมูลของแรงงานทุกคนในระบบ แต่ของไทยไม่เป็นเช่นนั้น เรามีแรงงานนอกระบบมาก เมื่อนโยบายถูกปฏิบัติงานจริงจึงเกิดการตกหล่น มีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงสิทธิ์ต่างๆอยู่มาก ดังนั้นนโยบายด้านนี้จะเป็นแบบ One size fit all ไม่ได้ ต้องสอดรับปรับให้พอดีกับบ้านเรา นอกจากนี้การสร้างความเท่าเทียมจึงเป็นข้อสำคัญที่ต้องเร่งสร้างทั้งในเรื่องเข้าสู่ตลาด การทำให้ทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจในกฎกติกา (Rules of the game) ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเรื่องแนวทางการเข้าสู่เงินทุน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน