อธช.กำชับแผนบริหารน้ำ – นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำที่สำนักชลประทาน 12 เขื่อนเจ้าพระยา โดยมีผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 3,4 และ 10-13 เข้าร่วมด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเค็มและการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2563/64

โดยอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ซึ่งประสบวิฤติภัยแล้งจึงต้องมีการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางทั้งนี้ย้ำว่าต้องผ่านสถานการณ์แล้งปี 63/64ให้ได้ ภายใต้แนวนโยบายทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม ขณะเดียวกันก็จะประสานกับการประปานครหลวงบริหารสูบน้ำจืดในช่วงจังหวะที่เหมาะสมป้องกันน้ำเค็มเข้าระบบประปาอย่างเต็มกำลัง

“การทำงานในสถานการณ์นี้ต้องใช้แผนรับมือ ไม่ใช่แผนเผชิญเหตุ ต้องทำงานให้กระชับมากขึ้น ประสานการวางแผนมากขึ้น เช่นการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกที่ขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มใช้เกินแผน ขอให้ทุกสำนักงานชลประทานทำการมีส่วนร่วมกับประชาชนอย่างเข้มข้นโดยลงพื้นที่คุยกับเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำประกอบกับการส่งหนังสือขอความร่วมมือเพื่อขอให้ใช้น้ำทำการเกษตรแบบประณีต ประหยัด ใช้น้ำตามรอบเวรที่ตกลงกัน

โดยกรมยืนยันว่าที่ปลูกแล้ว กรมจะไม่ทำให้เสียหาย ทั้งนี้เพื่อรีดน้ำจากต้นทางมาสะสมที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา -ชัยนาท ให้อยู่ที่ระดับบวก 15 ม.รทก. เพื่อให้มีมวลน้ำก้อนใหญ่ลงไปไล่น้ำเค็มภายใต้ปริมาณน้ำตามแผนเดิม ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯได้ขอให้ช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ “นายประพิศกล่าว

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษากล่าวว่า ปัจจุบันนาปรังมีการปลูกพืชฤดูแล้ง2563/64 เกินแผนที่กำหนด โดยภาพรวมทั้งประเทศ แผน 1.9 ล้านไร่ ปลูกจริง 4.8 ล้านไร่ ในลุ่มเจ้าพระยา ไม่มีแผนสนับสนุนการเพาะปลูก แต่มีการปลูกแล้ว2.7 ล้านไร่ ทั้งนี้ ณ วันที่ 1 พ.ค.2564 ตามแผนจะต้องมีน้ำ 2,400 ล้านลบ.ม.

สำหรับการแก้ไขปัญหาความเค็มที่จะสูงอีกครั้งรอบปลายก.พ.ถึงมี.ค. กรมจะเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็น 55 ลบ.ม.ต่อวินาทีและปรับเพิ่มจากเขื่อนพระราม6 เป็น40 ลบ.ม.ต่อวินาที และผันน้ำจากลุ่มแม่กลอง มายังแม่น้ำท่าจีนผ่านคลองพระยาบรรลือ ที่สถานีสูบน้ำสิงหนาท2 ในอัตรา 24 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อผลักดันค่าความเค็มไม่ให้เกินเกณฑ์เฝ้าระวังที่ 0.25 กรัม/ ลิตร

นายกวี อารียกุล ผู้ว่าการประปานครหลวง(กปน.) กล่าวว่า ได้ประสานกับกรมชลฯต่อเนื่อง ทำให้แก้ปัญหาน้ำประปาเค็มผ่านพ้นมาได้ อย่างไรก็ตามต้องเฝ้าระวังปลายก.พ.ถึงมี.ค.อีกรอบหนึ่ง ทั้งนี้แต่ละวันกปน.จะใช้น้ำดิบประมาณ 6.3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันใช้น้ำดิบ 2,520 ล้านลบ.ม. ต่อปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน