ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมืองและคณะ (ซ้าย) มอบหนังสือคู่มือให้ผู้บริหาร พอช. (ขวา)

วันนี้ (23 ก.ย.) ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ นายแพทย์เกษม เวชสุทธานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย พร้อมคณะ ได้มอบหนังสือคู่มือการกักตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ฉบับประชาชน จำนวน 3,000 เล่มให้แก่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เพื่อนำไปมอบให้แก่ประชาชนในชุมชนต่างๆ โดยมีนางสาวพรรณทิพย์ เพชรมาก รองผู้อำนวยการสถาบันฯ เป็นผู้รับมอบ

หนังสือฉบับดังกล่าวจัดทำโดยสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงตีพิมพ์เดือนกันยายน 2564 ใช้ชื่อว่า ‘คู่มือการกักตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ที่สังเกตอาการ 14 วันที่บ้าน ผู้ป่วยที่แยกกักตัวอยู่ที่บ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ ฉบับประชาชน’ มีความหนาจำนวน 41 หน้า

โดยระบุวัตถุประสงค์ในการตีพิมพ์ว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันจํานวนเตียงไม่เพียงพอ จึงมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องแยกกักตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) รวมถึงผู้ที่กลับมาสังเกตอาการต่อ 14 วันที่บ้าน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มเพื่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย จึงจัดทำคู่มือการกักตัวเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนในครอบครัวและชุมชน”

ส่วนเนื้อหาภายในเล่มมีหัวข้อความรู้ที่น่าสนใจ เช่น โควิด-19 ติดได้จาก 3 ทาง ใครบ้างต้องแยกกักตัว การเตรียมสถานที่พักและอุปกรณ์เครื่องใช้ การปฏิบัติตนระหว่างแยกกักตัว แนวทางปฏิบัติเมื่อต้องกักตัว 14 วัน คำแนะนำในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การเตรียมน้ำยาฆ่าเชื้อจากน้ำยาฟอกขาวหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เมนูอาหารต้านภัยโควิด-19 สมุนไพรต้านภัย โควิด-19

ตัวอย่างเมนูอาหาร การฝึกปอดเพื่อสร้างความแข็งแรง ฯลฯ (สามารถดาวน์โหลดหนังสือได้ที่ https://mwi.anamai.moph.go.th/)

อาสาสมัครในชุมชนกัลยาณมิตร เขตบางซื่อ ทำอาหารแจกในชุมชน

ทั้งนี้ในช่วงสถานการณ์โควิดตั้งแต่ต้นปี 2563 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ได้จัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนให้ชุมชนทั้งในเมืองและชนบทจัดทำโครงการเพื่อแก้ไขผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เช่น ช่วยเหลือคนที่ตกงาน คนป่วย คนแก่ คนด้อยโอกาสในชุมชน ทำครัวกลาง ทำอาหารแจกจ่าย แจกหน้ากากผ้าอนามัย เจลล้างมือ ให้ความรู้ป้องกันการติดเชื้อ สร้างแหล่งอาหาร ปลูกผัก เพาะเห็ด เลี้ยง ปลา ไก่ไข่ ฯลฯ โดย พอช.สนับสนุนโครงการชุมชนทั้งหมด 1,754 โครงการ รวม 535,577 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 126.52 ล้านบาท

ส่วนในปี 2564 นี้ พอช.สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 62 ล้านบาทให้แก่ชุมชนต่างๆ ทั้งในเมืองและชนบททั่วประเทศ จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิดต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา มีชุมชนที่ดำเนินการแล้ว 761 ชุมชน รวมทั้งสนับสนุนชุมชนจัดทำศูนย์พักคอยชุมชน (Community Isolation) เพื่อเป็นสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อในชุมชนที่ยังมีอาการไม่รุนแรง ผู้กักตัวสังเกตอาการ เพื่อช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์และปัญหาเตียงไม่พอ ขณะนี้จัดทำศูนย์พักคอยชุมชนแล้ว จำนวน 12 แห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

​​​

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน