2564 ปีแห่งการยกระดับเกษตรกร

ในปีงบประมาณ 2564 กรมส่งเสริมการเกษตร โดยนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรเพื่อยกระดับเกษตรกรไทยภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อก้าวสู่เกษตรวิถีใหม่ ยึดหลักตลาดนำการผลิต ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สร้างผลงานจนเป็นที่ประจักษ์ ดั่งผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งเกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการร่วมกัน ปัจจุบันมีแปลงใหญ่ที่ผ่านการรับรองแล้ว 8,192 แปลง ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการเกษตร 4,623 แปลง เกษตรกรเข้าร่วมกว่า 4.67 แสนราย พื้นที่ 7.6 ล้านไร่ สร้างมูลค่าเพิ่มจากการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตประมาณ 47,276 ล้านบาท สำหรับแปลงใหญ่ที่มีศักยภาพ 3,381 แปลง ได้พัฒนาต่อยอดสู่โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด เน้นประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม และอีกหนึ่งเป้าหมายการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มผลผลิต กรมส่งเสริมการเกษตรได้ใช้กลไกของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน หรือ ศจช. 2,928 ศูนย์ ใน 77 จังหวัด ช่วยแก้ไขปัญหาการระบาดของศัตรูพืช และลดการใช้สารเคมีจนเกิดเป็นศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน หรือ ศดปช. 882 ศูนย์ทั่วประเทศ ขับเคลื่อนขยายผลการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินไปสู่ชุมชน โดยมี 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด ซึ่งมีศักยภาพได้รับการยกระดับให้เป็นศูนย์บริการด้านดินและปุ๋ยแบบครบวงจร ผ่านโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ผลสำเร็จถัดมาคือเกษตรกร 10,000 ราย ได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตและกระบวนการจัดการสินค้าเกษตรเพื่อเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐาน GAP ในขณะที่อีก 4,000 ราย ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งยกระดับสินค้าอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อีก 137 สินค้า

นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้สนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างเกษตรกรต้นแบบ 250 ราย ซึ่งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต พัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer ขยายผลสู่การเป็น Smart Farmer ต้นแบบ และพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer ทดแทนเกษตรกรผู้สูงอายุ 15,640 รายทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มี 1,003 รายผ่านเกณฑ์การประเมินได้รับการต่อยอดเพิ่มทักษะให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ และพัฒนายกระดับเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่สู่ตลาดสากลอีก 100 ราย รวมทั้งโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน ซึ่งได้สร้างเกษตรกรต้นแบบเกษตรผสมผสานอีก 228 ราย มีการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่โครงการตามแผนแม่บทศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 39 แห่ง เกิดเกษตรกรต้นแบบ (ไข่แดง) 86 ราย ทำหน้าที่ขยายผลโครงการสู่เกษตรกรทั่วไป (ไข่ขาว) และชุมชนต่อไป

ความสำเร็จด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการเกษตรได้รณรงค์หยุดการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยขยายเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผารวม 280 เครือข่ายในพื้นที่ 60 จังหวัด และในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ช่วยเหลือเกษตรกรในการจัดหาช่องทางจำหน่ายผลผลิต จัดแคมเปญ “ซื้อสินค้าเกษตรไทยเกษตรกรอยู่ได้ประเทศไทยอยู่รอด” และเปิดเว็บไซต์ “ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com” จำหน่ายสินค้าจากเกษตรกรตัวจริงทุกจังหวัดทั่วประเทศ ยอดขายกว่า 287 ล้านบาท

Next Step ก้าวอย่างไรในปี 2565

สำหรับปีงบประมาณ 2565 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กรสู่การเป็น Digital DOAE และปรับระบบการทำงานเข้าสู่ New Normal รวมทั้งการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แนวคิด “Next Step” ขับเคลื่อนองค์กรวิถีใหม่…ก้าวต่อไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งได้วางแนวทางไว้ 2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 แนวทางการขับเคลื่อนองค์กรและระบบการทำงาน มุ่งพัฒนากรมส่งเสริมการเกษตรสู่การเป็น Digital DOAE ปรับเปลี่ยนการทำงานภายในองค์กรให้เป็น Digital Transformation เน้นพัฒนาและใช้ประโยชน์จากระบบ Big Data รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบส่งเสริมการเกษตร ในขณะเดียวกันต้องเพิ่มศักยภาพบุคลากรทุกระดับให้มีความพร้อมในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล โดยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่าน e – Learning ปรับวิธีคิดเป็นแบบ Growth Mindset พร้อมยกระดับเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เน้นพัฒนา Smart Farmer และ Young Smart Farmer เป็นผู้ประกอบการเกษตรยุคใหม่ ส่งเสริม e – Commerce และเชื่อมโยงสินค้าเกษตรเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ จะต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินโครงการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบ New Normal และพร้อมรองรับ Next Normal ในอนาคต เป็นการทำงานออนไลน์เต็มรูปแบบ โดยยังคงยึดเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของโครงการเป็นสำคัญ และผลักดันองค์กรสู่ระบบราชการ 4.0 ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ส่วนที่ 2 แนวทางการดำเนินงานภารกิจสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ครอบคลุมพื้นที่และเกษตรกรมากขึ้น ส่งเสริมการเกษตรโดยยึดหลักตลาดนำการผลิต เน้นผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมีคุณภาพได้มาตรฐาน ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ ยกระดับกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร ขยายโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนา Young Smart Farmer และ Smart Farmer ให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเกษตรของชุมชน พร้อมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และภาคการเกษตร ให้สามารถประกอบกิจการได้อย่างยั่งยืน และเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ขยายผลการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และการช่วยเหลือดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร จัดทำแผนเตรียมรับมือและฟื้นฟูอาชีพ ให้คำแนะนำ และปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นให้เกษตรกรมีอาหารบริโภคในครัวเรือนและสร้างรายได้ในระยะสั้น พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างรวดเร็ว

ก้าวต่อไปในปี 2565 นับว่าเป็นภารกิจที่ท้าทายนักส่งเสริมการเกษตรในการสร้างความเข้มแข็งสู่ภาคการเกษตรไทยทั้งระบบ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรเชื่อมั่นว่าในท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้นนั้น นักส่งเสริมการเกษตรทุกคนต่างมุ่งมั่นตั้งใจขับเคลื่อนการทำงานบนแนวทางวิถีใหม่ พึ่งพาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนสู่พี่น้องเกษตรกรไทยต่อไป…

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน