รพ.ธรรมศาสตร์ ตอกย้ำศักยภาพการรักษาด้านกระดูกและข้อ จากผลงานวิจัยการฉีดยาสเตียรอยด์ เข้าหลอดเลือดดำเพื่อระงับอาการปวดหลังการผ่าเปลี่ยนข้อเข่า ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ระดับโลก (Journal of Arthroplasty)นับเป็นผลงานของนักวิจัยไทยที่มีคุณภาพ จนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

ภาวะข้อเข่าเสื่อมพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมนับเป็นแนวทางหนึ่งในการรักษา แต่การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าถือเป็นหนึ่งในการผ่าตัดที่เจ็บปวดมาก คนไข้ส่วนใหญ่ได้รับความทุกข์ทรมานหลังผ่าตัด ทำให้คนไข้ได้รับประสบการณ์การผ่าตัดที่ไม่น่าพึงพอใจ และยังทำให้ผู้ป่วยหลายคนตัดใจไม่เข้ารับบริการ เป็นโจทย์ให้วงการแพทย์ไทย ต้องพัฒนางานผ่าตัดข้อเข่าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับคนไข้

รศ.นพ.ณัฐพล ธรรมโชติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อเข่าและข้อสะโพก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้หนึ่งที่ได้เล็งเห็นถึงปัญหาความเจ็บปวดของคนไข้ จึงได้ศึกษาวิจัยหาแนวทางเพื่อระงับความเจ็บปวดภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม จนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติหลายฉบับ อาทิ การศึกษาการฉีดยาระงับความเจ็บปวดรอบข้อเข่าเปรียบเทียบกับการให้ยาชาผสมมอร์ฟีนทางช่องไขสันหลัง การศึกษาการฉีดยาระงับปวดผสมหลายชนิดรอบข้อเข่า เพื่อระงับความเจ็บปวดเปรียบเทียบกับยาชาเพียงอย่างเดียว และการฉีดยาสเตียรอยด์ ชนิดไตรแอมชิโนโลน อะเซโตนาย(triamcinolone acetonide)ในช่องเหนือไขสันหลัง เพื่อลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าได้นานเกือบ 2 เดือนภายหลังผ่าตัด

ทั้งนี้ ยาสเตียรอยด์ เป็นยาที่ใช้กันมายาวนานและแพร่หลาย โดยเป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและเป็นที่ทราบกันดีในเหล่าแพทย์วิสัญญีว่า ยาสามารถลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการให้ยาระงับความรู้สึก ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้ยาสเตียรอยด์ในการช่วยลดการอักเสบและลดความเจ็บปวดอยู่บ้าง แต่ไม่ได้รับความนิยมแพร่หลาย

รศ.นพ.ณัฐพล จึงได้ทำการศึกษาวิจัยการให้ยาสเตียรอยด์ชนิดเด๊กซ่าเมทาโซน (Dexamethasone) ฉีดทางหลอดเลือดดำ ก่อนที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม พบว่าสามารถช่วยลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัด ทั้งขณะที่อยู่นิ่ง และขณะขยับข้อเข่าได้ถึง 30% เมื่อเทียบกับยาหลอก และมีระยะเวลาระงับความเจ็บปวดได้นานประมาณ 1 วัน หลังจากได้ตีพิมพ์ผลงานและได้นำยามาใช้กับผู้ป่วยพบว่ายาช่วยลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าได้เป็นอย่างดี และเป็นประโยชน์อย่างมากในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายหรือแพ้ยากลุ่มแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถทำกายภาพข้อเข่าได้ดีขึ้น มีความพึงพอใจต่อการผ่าตัดมากขึ้น

จากความสำเร็จของการศึกษาวิจัย ทำให้ผลงานนี้ได้รับรางวัลวิจัยดีเด่น (Best research award) ของราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2563 และรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2564 อีกด้วย แสดงให้เห็นถึงคุณค่า และผลดีของงานวิจัยชิ้นนี้ต่อผู้ป่วย และวงการแพทย์ในวงกว้าง

นอกเหนือจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกแล้ว รศ.นพ.ณัฐพล ยังเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มการก่อตั้ง “ศูนย์การผ่าตัดเปลี่ยนข้อธรรมศาสตร์” (Thammasat Joint Replacement Center) ซึ่งจะพร้อมเปิดให้บริการในราวเดือนเมษายน 2565 นี้ เพื่อยกระดับการรักษาและบริการด้านนี้ให้เป็นผู้นำในระดับภูมิภาค โดยมีทีมบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการดูแลผู้ป่วยตลอดเส้นทางการรักษา ตั้งแต่กระบวนการวินิจฉัย การรักษา กายภาพบำบัด กินยา ฉีดยา รวมไปถึงการผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยที่มารับการเปลี่ยนข้อเทียมได้ประสบการณ์ที่ดี มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถรองรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อของผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศได้ถึง 3,600 ข้อต่อปี นอกจากนี้ ยังริเริ่มนำเอาเทคโนโลยีแขนหุ่นยนต์ช่วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม(Mako robotic assisted TKA) มาใช้ ซึ่งทำให้สามารถวางตำแหน่งข้อเข่าเทียมได้แม่นยำยิ่งขึ้นและจัดสมดุลของเนื้อเยื่อรอบข้อได้เป็นอย่างดี อันนำมาซึ่งความพยายามของการพัฒนาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้สามารถใช้งานได้เสมือนข้อดีอันเดิมของผู้ป่วยมากที่สุด ทั้งนี้ ผู้สนใจเข้ารับการรักษาผ่าข้อเข่า สามารถติดต่อได้ที่ โทร.093 135 9979 หรือ Line add : @doctornattapol หรือ Facebook คุยกับหมอกระดูก

นับเป็นการแก้โจทย์ให้กับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ได้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกครั้ง และยังเป็นการเตรียมความพร้อมทางด้านการแพทย์ของไทย เพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว !!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน