ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำหรับการดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้หวัดนกของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จนถึงขณะนี้ ยังคงมาตรการเตรียมความพร้อม และป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ประเทศไทยอย่างเข้มข้น และอย่างต่อเนื่อง ด้วยองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ยังคงรายงานว่า พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง (HIPAI) ทั้ง H5N1 H5N6 และ H5N8 ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคงมาตรการเข้มงวด ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานหลัก ได้มีการรายงานผลปฏิบัติการมายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตลอดเวลา ตนเองได้เน้นย้ำและมอบเป็นนโนยบายว่า ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกคนทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในการเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้หวัดนก

ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ประเทศไทยจะไม่พบรายงานการเกิดโรคไข้หวัดนกมาแล้วเป็นระยะเวลา 12 ปี แต่กรมปศุสัตว์ก็ยังคงเตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคไข้หวัดนกตามนโยบายของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ เช่น พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่นกอพยพ พื้นที่นกวางไข่ พื้นที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่น เป็นต้น ทั้งการสุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์ปีก รณรงค์ทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อโรค และอื่น ๆ

“ ต้องเรียนว่า การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ปีกจากประเทศที่เกิดโรคไข้หวัดนกถือเป็นมาตรการสำคัญที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 ที่ผ่าน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมปศุสัตว์ รวม 3 ฉบับ ประกอบด้วย ประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีก จากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พ.ศ. 2565 , ประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีก จากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย พ.ศ.2565 , และประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีก จากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ พ.ศ. 2565 ให้ชะลอการนำเข้าหรือ นำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ปีก จำพวกนก ไก่ เป็ด ห่าน น้ำเชื้อสำหรับผสมพันธุ์ ไข่สำหรับทำพันธุ์ รวมถึงซากของสัตว์ปีกดังกล่าว ที่มีแหล่งกำเนิดจากทั้ง 3 ประเทศ โดยมีผลใช้บังคับได้เป็นเวลา 90 วันนับตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป”

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการที่ดำเนินการในประเทศ กรมปศุสัตว์ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงอย่างใกล้ชิด พร้อมผลักดันการเลี้ยงสัตว์ปีกให้เข้าระบบมาตรฐาน CAP หรือ GFM และการเลี้ยงในระบบฟาร์ม ต้องเน้นถึงความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นสูงสุด นอกจากนี้ยังประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศด้วย ขณะเดียวกัน ต้องขอความร่วมมือเกษตรกรสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินมาตรการควบคุมโรคทันที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน