สสส. ผนึกภาคีสู้ฝุ่น ระดมสมองสร้างกลไกแก้ฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือ เร่งสานพลังอาเซียนจัดการปัญหาหมอกควันข้ามแดน ด้าน ภาคการเมือง ลุย ดันกฎหมายอากาศสะอาด สร้างพลเมืองตื่นรู้ติดตามค่าฝุ่นเรียลไทม์-ปรับมาตรฐานมลพิษทางอากาศเทียบเท่าสากล

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีเปิดการประชุมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ ครั้งที่ 1/2565 ว่า สสส. ตระหนักถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชากรไทย ได้ยกระดับความสำคัญของการดำเนินงานลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อมให้เป็น 1 ใน 7 เรื่อง ที่กำหนดไว้ในทิศทางและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2565-2574) สสส. ร่วมกับ สภาลมหายใจภาคเหนือ จัดงานประชุมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ ครั้งที่ 1/2565 เร่งระดมความคิดจากสภาลมหายใจภาคเหนือ 8 จังหวัด ผู้แทนพรรคการเมือง สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐส่วนกลางและท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอ และสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน นำไปสู่การแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นควันในประเทศ

“การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือผลักดันให้เกิดกฎหมายเพื่ออากาศสะอาด เพื่อเป็นกรอบการทำงานอย่างบูรณาการ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือ และมาตรการเพื่ออากาศสะอาด ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรมเครื่องมือสู้ฝุ่น รวมถึงโมเดลห้องเรียนสู้ฝุ่น โดยเริ่มแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในระดับพื้นที่ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีปัญหารุนแรงมากที่สุด การประชุมครั้งนี้จะช่วยสะท้อนการดำเนินงานแก้ปัญหาฝุ่นควันครอบคลุมทุกมิติ นอกจากนี้ ยังเปิดรับฟังข้อเสนอจากภาคการเมืองและภาคประชาสังคม เพื่อนำไปพัฒนา ปรับปรุง ต่อยอดการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมในระดับนโยบาย เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

นางสาวภาดาท์ วรกานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การผลักดันให้เกิดกฎหมายอากาศสะอาดจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและยั่งยืน เนื่องจากมีการปรับปรุงมาจากร่างของภาคประชาชน เน้นการนำกฎหมายมาใช้จัดการต้นเหตุของการเกิดฝุ่น PM 2.5 ที่ผ่านมาได้เสนอร่างกฎหมายแก่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ อยู่ในกระบวนการผลักดันให้รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกกฎหมายเพื่ออากาศสะอาดคู่ขนานกับ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม

นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหาฝุ่นควันต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งระดับประเทศและระดับอาเซียน เพื่อสร้างกลไกแก้ปัญหาฝุ่นภาคเหนือ เพราะร้อยละ 60 ของหมอกควันมาจากประเทศเพื่อนบ้านร่วมกับการเปลี่ยนเกษตรเชิงเดี่ยว ขณะนี้ พรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นร่างกฎหมายอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานต่อกฤษฎีกา และเตรียมความพร้อมร่วมมือทำงานกับทุกภาคส่วนเพื่อให้คนไทยเข้าถึงอากาศสะอาดที่เป็นสิทธิพื้นฐาน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กฎหมายสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างการปรับปรุง ซึ่งนำเนื้อหาสำคัญมาจากร่างกฎหมายอากาศสะอาด ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์พยากรณ์มลพิษทางอากาศล่วงหน้า 7 วัน เพื่อให้ประชาชนเตรียมความพร้อมในการดูแลและป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM 2.5 การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน การขยายสถานีตรวจวัดคุณภาพโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการสื่อสารเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนให้เป็นพลเมืองตื่นรู้ในการลดมลพิษทางอากาศ

ทั้งนี้ การประชุมมีมติเห็นชอบ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การปกป้องสุขภาพ เชิญชวนประชาชนภาคเหนือ 18 จังหวัด ติดตามคุณภาพมลพิษทางอากาศแบบรายนาที 2. เห็นสุขภาพประชาชนเป็นสำคัญ ขอให้ปรับค่ามาตรฐานมลพิษทางอากาศให้เป็นไปตามวาระแห่งชาติ ได้แก่ ค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของ PM 2.5 เฉลี่ยรายปี ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ 3. กฎหมายคือทางออกสำคัญ ขอให้รับร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน