ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นประธานในพิธีแถลงข่าว พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.สมิตร ส่งพิริยะกิจ คณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมเกียรติ นนทแก้ว คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์ ดร.พงศธร สายสุจริต รักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และทีมนักวิจัยโครงการดาวเทียมแนคแซท ร่วมกันแถลงข่าวสร้างดาวเทียมของนักเรียนโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (KNACKSAT-2 TGPS) ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ อาคารนวมินทรราชินี มจพ. เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญกับการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อนำองค์ความรู้มาต่อยอดงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่สามารถใช้งานได้จริงตามแนวทางการผลิตบัณฑิตของ มจพ. ที่เน้นสร้างบัณฑิตให้เป็นนักปฏิบัติ นักวิจัย และเสริมสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ภายใต้นโยบาย การพลิกโฉมมหาวิทยาลัยที่สอดรับกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศ Thailand 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมและผลิตกำลังคนด้านอุตสาหกรรมระบบราง การสร้างสรรค์นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์หุ่นยนต์ รวมถึงการวิจัยในด้านเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งถือเป็นสาขาหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของ มจพ.

ทั้งนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในปัจจุบันและในอนาคต ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ตลอดจนเพื่อต่อยอดสร้างสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ช่วยสร้างความมั่นคงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ในอนาคต

ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศของ มจพ. ไม่จำกัดอยู่แค่ในการเรียนการสอนและการวิจัยในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเสริมหลักสูตรของโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน (โรงเรียนเทคนิคไทย-เยอรมัน เดิม) เป็นสถาบันการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี สังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มีชื่อเสียง โดดเด่นด้านการฝึกหัดนักเรียนให้มีทักษะความชำนาญในงานปฏิบัติ (วิศวกรมือเปื้อน) มายาวนานกว่า 60 ปี ส่งเสริมการจัดการศึกษาในรูปแบบ STEM มุ่งเน้นการบูรณาการความรู้ใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพื่อประยุกต์ให้เป็นรูปธรรม นำมาใช้ในการแก้ปัญหา รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ในการออกแบบและสร้างดาวเทียม

ปี 2565 มจพ. ได้สนับสนุนโครงการของโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กับภารกิจส่งดาวเทียมเพื่อการศึกษาสู่อวกาศ โดยนักศึกษาระดับต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ซึ่งถือว่าเป็นก้าวเล็กๆ ก้าวแรกที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนสู่ความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ เป็นกิจกรรมที่ท้าทายศักยภาพ ความคิดสร้างสรรของนักเรียน เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีประสบการณ์จริงในการบูรณาการองค์ความรู้ เห็นถึงความเชื่อมโยงของทั้ง 4 สาขาวิชา สอดคล้องกับปณิธานของโรงเรียนที่ยึดถือมาตลอด ในจัดการเรียนรู้ด้วยการสร้างประสบการณ์จริงจากการปฏิบัติ ในการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศจากระดับอุดมศึกษามาสู่ระดับเตรียมอุดมศึกษา โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีการเชื่อมโยงและต่อยอดในการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี เป็นการสร้างความต่อเนื่องในการจัดการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศตั้งแต่ระดับเตรียมอุดมศึกษา สู่ระดับอุดมศึกษาโดยภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. ได้จัดการศึกษาและทำการวิจัยในสาขาดังกล่าว

ปัจจุบันมีนักเรียนจำนวน 22 คน ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การฝึกอบรมการสร้างดาวเทียมสำหรับนักเรียนโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน (KNACKSAT 2 TGPS) โดยทีมงานของ อาจารย์ ดร.พงศธร สายสุจริต อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบินอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย (INSTED) และทีมงานโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน เป็นผู้ฝึกอบรมและให้คำปรึกษา

มจพ. ได้ส่งเสริมให้เยาวชนเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุดประกายความสนใจและสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อหรือก้าวเข้าสู่อาชีพด้านเทคโนโลยีอวกาศ เป็นการเตรียมนักเรียนให้มีความพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองในสาขานี้ต่อไป เมื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย เป็นการวางรากฐานการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศ ผ่านการจัดกิจกรรมให้กับเยาวชนที่จะเป็นกำลังหลักของประเทศในอนาคตต่อไป


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน