บริเวณอ่าวไทยตอนในหรือที่เรียกกันว่า “อ่าวตัว ก.” ซึ่งมีความยาวประมาณ 120 กม. เริ่มต้นจากปากแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง รวมเป็นพื้นที่ปากน้ำที่มีลักษณะภูมินิเวศน์อุดมสมบูรณ์ทั้งกุ้ง หอย ปูปลา เป็นกระทั่งแหล่งหากินของโลมาและวาฬ จนได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย และมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอันดับ 7 ของโลก

แต่ไม่กี่ปีมานี้ พื้นที่อ่าวตัว ก. ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัญหากัดเซาะชายฝั่งที่มาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรมรุกล้ำที่ดิน ที่ดินเอกชนถูกปล่อยทิ้งร้างไม่มีการป้องกันการกัดเซาะ ฯลฯ ทำให้แผ่นดินหายไปเฉลี่ย 20 เมตรต่อปี หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ-เอกชนจึงได้เร่งช่วยกันแก้ไขด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้ง การไฟฟ้านครหลวง ที่ได้ร่วมมือกับกองทัพเรือ ดำเนินโครงการแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณป้อมพระจุลฯ จังหวัดสมุทรปราการ ในปี 2548 ด้วยการนำเสาไฟฟ้าที่ชำรุดสวมเข้าไปในยางรถยนต์เก่า มาปักทำเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ดักตะกอน เป็นระยะทางกว่า 1,100 เมตร

จากนั้น คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น พบว่านวัตกรรมเสาไฟฟ้าสวมยางรถยนต์สามารถเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะได้อย่างดี เนื่องจากช่วยลดความแรงของกระแสน้ำ ตามมาด้วยปริมาณการสะสมของตะกอนหลังเขื่อนเพิ่มมากขึ้น บรรดาต้นกล้า ลูกไม้ ก็หนาแน่นขึ้น เริ่มมีสัตว์น้ำนานาพันธุ์และนกในบริเวณนั้น เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนยางรถยนต์ก็ไม่พบ การสลายตัวที่เป็นพิษต่อสภาพแวดล้อม

เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา กฟน. จึงได้เริ่มนำเสาไฟฟ้าที่ไม่ใช้งานแล้วมามอบให้กับโครงการปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชา เพื่อนำไปสร้างแนวป้องกันคลื่นการกัดเซาะชายฝั่งทะเลเขตบางขุนเทียน ระยะทาง 4.7 กม. ล่าสุดนำเสาไฟฟ้าจากพื้นที่โครงการสายไฟฟ้าใต้ดินบนถนนพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท รวม 1,344 ต้น ส่งมอบพร้อมนำไปติดตั้งในรูปแบบการปักแบบเฉียงเพื่อรับกับคลื่นที่เข้าปะทะกับชายฝั่ง

แผนผังในการปักเสาไฟฟ้าวางให้เป็นลักษณะของกลุ่มทรงสามเหลี่ยมขนาด 1.5 x 1.5 เมตร ตอกตลอดระยะทาง 4,700 เมตรหรือเท่ากับขอบเขตชายฝั่งของกรุงเทพมหานคร โดย กทม.ได้คัดเลือก เสาไฟฟ้าขนาด 25 x 25 ซม.ยาว 12 เมตร จำนวน 10 ต้นต่อ 1 ชุด ระยะห่างระหว่างศูนย์กลางเสา 50 ซม. กำหนดแนวตอกบริเวณด้านนอกของชายฝั่ง ให้ห่างจากแนวเสาไม้ไผ่ที่ตอกไว้อยู่ก่อนแล้ว

เนื่องจากธรรมชาติของน้ำทะเลที่ต้องมีขึ้นมีลง ระดับน้ำทะเลปานกลางมีความสูงจากพื้นดินโคลนประมาณ 2 เมตร หากน้ำทะเลขึ้นสูงสุดก็จะมีความสูงเหนือพื้นดินประมาณ 3.5 เมตร ดังนั้นในการสร้างแนวป้องกัน ปลายยอดเสาไฟจะต้องมีความสูงไม่ต่ำกว่า 4.5 เมตร เพื่อให้เรือเล็กที่สัญจรทางน้ำมองเห็นยอดเสาช่วงเวลาที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด

จากโครงการป้องกันและบรรเทาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนด้วยวิธีนี้ จะช่วยให้ลดขนาดของคลื่นที่มีความยาวน้อยกว่า 3 เมตร เนื่องจากเกิดการสลายพลังงานคลื่นภายในกลุ่มเสาที่ตอกเป็นผังรูปสามเหลี่ยม ก่อนเคลื่อนที่ไปยังแนวเสาไม้ไผ่ที่อยู่ด้านในใกล้ฝั่งต่อไป

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน กฟน. มีแผนงานโครงการที่จะดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินให้เสร็จสิ้นภายในปี 2564 รวมระยะทางกว่า 214.6 กิโลเมตร สำหรับเสาไฟฟ้าของ กฟน. ผลิตเป็นแท่งคอนกรีตมีคุณสมบัติที่เหมาะสมแข็งแรง อายุการใช้งานนานประมาณ 30 ปี ซึ่งมีอายุการใช้งานมากกว่าเสาไม้ทั่วไปกว่า 30 เท่า อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นจากโครงสร้างลวดเหล็กภายในเสาไฟฟ้า ทำให้สามารถรับแรงดัดได้มากถึง 4.5 ตันเมตร หรือหักโค้งได้ประมาณ 7-8 เซนติเมตร ทำให้มีความแข็งแรงทนทานสามารถรองรับความรุนแรงของคลื่นทะเลที่มากระทบได้มากขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ภายใน 5 ปี (2561-2566) กฟน. มีเป้าหมายส่งมอบเสาไฟฟ้าเพื่อใช้กันคลื่นกัดเซาะบริเวณชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน จำนวน 10,000 ต้น และมอบเสาไฟฟ้าให้แก่กองทัพเรือใช้ในบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จำนวน 5,000 ต้น อีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน