กรมชลประทาน ร่วมมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP), องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF)
ในการดำเนินการ “โครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำของประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ และการเกษตรแบบยั่งยืน” เพื่อช่วยส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นเกษตรกรในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน จำนวนกว่า 20,000 ครัวเรือน หรือประมาณ 62,000 คน สามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดียิ่งขึ้น ลดความเสียหายจากภัยแล้งหรือน้ำท่วม รวมถึงเพิ่มรายได้และความมั่นคงในชีวิตให้กับเกษตรกร โดยโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาในการดำเนินงานทั้งหมด 4 ปี ตั้งแต่ปี 2566 – 2569 ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมาได้มีการเตรียมความพร้อม จัดทำข้อมูลพื้นฐาน รวมถึงจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ล่าสุดกรมชลประทานได้เผยถึงความคืบหน้าของโครงการในปี 2567 ตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้
1) การสร้างระบบฐานข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ
โครงการได้จัดเตรียมและติดตั้งอุปกรณ์ติดตามข้อมูลสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประกอบไปด้วย สถานีอุตุนิยมวิทยา, ระบบตรวจวัดปริมาณการไหลของน้ำ, ระบบตรวจวัดความชื้นในดิน, ระบบตรวจวัดปริมาณน้ำในทุ่ง, ระบบตรวจวัดปริมาณน้ำใต้ดิน, ระบบตรวจวัดปริมาณน้ำในบึง และกล้อง CCTV รวมทั้งสิ้น 81 จุด คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เพื่อใช้ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำและการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำยม – น่าน ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูล ติดตามและคาดการณ์สถานการณ์ได้สะดวกขึ้น พร้อมทั้งแนะนำทางเลือกในการเพาะปลูกพืชที่เหมาะสมให้แบบอัตโนมัติ โดยเชื่อมโยงกับ AGRI-MAP และข้อมูลปริมาณฝนคาดการณ์ล่วงหน้า ซึ่งคาดว่าสามารถให้เกษตรกรใช้ได้ในปี 2568 ประโยชน์ที่เกษตรกรในพื้นที่โครงการจะได้รับจากการใช้แอปพลิเคชันคือ มีข้อมูลช่วยตัดสินใจการวางแผนการเพาะปลูกเพื่อลดความเสียหายของผลผลิต รวมถึงสามารถปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้จากการปลูกพืชทางเลือก สร้างความมั่นคงในการเกษตรอีกด้วย
2) การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารจัดการน้ำ และการบูรณาการมาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA)
โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างมี 2 โครงการ คือ โครงการปรับปรุงคลองเหมืองช้างพร้อมอาคารประกอบและโครงการปรับปรุงท่อระบายน้ำคลองตะเข้ นอกจากนี้ยังมีแผนงานก่อสร้างประตูระบายน้ำอีก 2 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำคลองเหมืองช้างแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ช่วงต้นปี 2568 เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ก่อสร้างประสบปัญหาน้ำท่วม ประกอบกับอยู่ระหว่างจัดทำแผนการจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (ESMP) เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากงานก่อสร้าง
ในปี 2567 ที่ผ่านมาได้วิเคราะห์ และจัดทำรายงานประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แล้วเสร็จ เพื่อนำมาใช้กำหนดตำแหน่งและออกแบบมาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 และจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2569 มาตรการ EbA นี้จะเป็นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงต่อไป

ที่มา : คู่มือการออกแบบมาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศในภาคส่วนน้ำของประเทศไทย, GIZ (2018)
โดยในปี 2568 – 2569 โครงการจะมีการออกแบบก่อสร้างตามมาตรการ EbA ซึ่งจะคัดเลือกจากมาตรการต่างๆ อาทิ บ่อหรือแอ่งดักตะกอน (Sediment trap), การฟื้นฟูพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ (Riverbank restoration), กล่องลวดถักบรรจุหินแซมต้นไม้ (Vegetated gabion), แก้มลิงชั่วคราว (Temporary flooding of agricultural land) และทะเลสาบรูปแอก หรือน่านหลง (Oxbow lake)
ทั้งนี้ โครงการได้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมโดยมีการจัดเวทีเพื่อหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงและความเปราะบางดังกล่าว รวมถึงจัดฝึกอบรมการประเมินความเสี่ยงและความเปราะบาง ให้กับเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการจัดอบรมขั้นพื้นฐานให้กับผู้นำชุมชน และเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการ EbA ด้วย
3) การสนับสนุนเกษตรกรให้มีความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โครงการได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร จัดฝึกอบรมเกษตรกร และจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกร (FFS) โดยได้ดำเนินการจัดตั้งแล้ว 22 แห่ง ในพื้นที่ 22 ตำบล ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 (มีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมทั้งสิ้น 682 คน เป็นผู้ชาย 240 คน ผู้หญิง 442 คน) อีกทั้งยังมีแผนการดำเนินการจัดทำแปลงเกษตรสาธิต ซึ่งคาดว่าจะเริ่มกิจกรรมในช่วงต้นปี 2568
นอกจากนี้ยังมีการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพในการวางแผนการเงิน และการเข้าถึงตลาดให้กับเกษตรกร โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนร่วม (Co-Financing) จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้วในหลายพื้นที่ของจังหวัดพิษณุโลก อาทิ ตำบลท่านางงาม, ตำบลบางระกำ, ตำบลชุมแสงสงคราม, อำเภอบางระกำ, ตำบลบ้านกร่าง, ตำบลไผ่ขอดอน, อำเภอเมืองพิษณุโลก และจะมีการจัดฝึกอบรมในพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมจนกว่าจะครบทั้ง 22 ตำบล สำหรับปี 2568 – 2569 ทางโครงการจะสนับสนุนอุปกรณ์ด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการทำตลาดออนไลน์ เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรแบบยั่งยืน
โครงการนี้เป็นความพยายามที่มุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืนที่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้นในระยะยาว ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง Facebook Page : โครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ