กรมชลประทาน และหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมพัฒนาทักษะลดความผันผวนและเพิ่มความมั่นคงของภาคเกษตรกรรมในพื้นที่เสี่ยงต่อ Climate Change

กรมชลประทาน ร่วมกับ หน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาทักษะการลดความผันผวนและเพิ่มความมั่นคงภาคเกษตรกรรมด้วยการวางแผนระดับท้องถิ่นในพื้นที่เสี่ยงประสบภัยแล้งและน้ำท่วม ภายใต้โครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำของประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน โดยความร่วมมือของกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมน่าน เพื่อประยุกต์ใช้ข้อมูลสภาพภูมิอากาศในการวางแผนการเกษตรระดับครัวเรือน และการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการสนับสนุนการขยายการให้บริการ

โดยจัดให้มีโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร ครูผู้สอนสำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย และหลักสูตร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและพัฒนาที่ดินต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ณ ห้องประชุมอยุธยา โรงแรมท็อปแลนด์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2567

การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “ครูผู้สอนสำหรับเจ้าหน้าที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ และการเกษตรแบบยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์” ได้รับเกียรติจาก นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 69 คน ชาย 28 คน หญิง 41 คน จากหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับจังหวัดและอำเภอ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันนโยบายด้านภูมิอากาศของประเทศ ระดมเทคนิคและองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้แก่ผู้เข้าร่วมการอบรมอย่างเต็มที่ผ่านการสื่อสาร และกิจกรรมต่าง ๆ โดยผู้เข้าร่วมอบรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปรับตัวภาคเกษตรกรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการบูรณาการมาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ EbA (Ecosystem-based Adaptation) สู่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้งานเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจในการพยากรณ์น้ำ และการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากแอปพลิเคชัน พร้อมเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ คิด วิเคราะห์จริง เพื่อเสริมสร้างทักษะการจัดการอย่างเป็นกระบวนการ การทำงานเป็นทีม นำไปสู่ความเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้กับงานในอนาคตได้อย่างแท้จริง

การอบรมครั้งนี้มุ่งเน้นการเพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อภาคการเกษตร อีกทั้งสามารถประยุกต์แนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการเกษตร และเสริมสร้างทักษะการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรต่อไป

และการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “เจ้าหน้าที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ และการเกษตรแบบยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์” ได้รับเกียรติจาก นายสมจิตฐิพงศ์ อำนาจศาล ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 3 เป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 มีผู้เข้าร่วมการอบรมกว่า 70 คน ชาย 27 คน หญิง 43 คน จากหลากหลายกลุ่ม ทั้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับตำบล เจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาสาสมัครชลประทาน และกลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยเนื้อหาครอบคลุมการปรับตัวในภาคเกษตร การบูรณาการมาตรการ EbA ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งยังได้รับการฝึกใช้เครื่องมือพยากรณ์น้ำเพื่อช่วยในการตัดสินใจ รวมถึงเสริมทักษะการเป็นวิทยากรกระบวนการเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมโรงเรียนเกษตรกร (FFS) ในพื้นที่ของตน ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง กลยุทธ์สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรไทยในการรับมือกับ Climate Change

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการอบรมยังสามารถนำเอาความรู้และความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อภาคการเกษตร มาประยุกต์แนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมและสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและพัฒนาที่ดินมีทักษะการถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยผู้เข้ารับการอบรมจนได้องค์ความรู้ด้านการลดความผันผวนและเพิ่มความมั่นคงด้วยการวางแผนดังกล่าวไปขยายผลด้วยการสื่อสารถ่ายทอดให้สมาชิกในครัวเรือนตนเองและครัวเรือนอื่น ในพื้นที่โครงการยมน่าน ครอบคลุม 24 ตำบล 7 อำเภอ ใน 3 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ให้รับรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนการเกษตรของครัวเรือนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน