จังหวัดเชียงรายไม่เพียงแต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและศูนย์กลางวัฒนธรรมทางภาคเหนือเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะข้าวญี่ปุ่นหรือข้าวจาปอนิกา ซึ่งกำลังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับคุณภาพและผลผลิต สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) – ARDA สนับสนุนทุนวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายขับเคลื่อนโครงการวิจัยที่มีเป้าหมายสำคัญในการลดการนำเข้าข้าวญี่ปุ่นจากต่างประเทศตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการสร้างสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะพื้นที่ผลักดันให้เกิด Soft Power ภายใต้นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”

นางสาวกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ARDA สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการพัฒนาการตลาดข้าวจาปอนิกาในจังหวัดเชียงราย โดยมีศาสตราจารย์ปวีณา ลี้ตระกูล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยฯ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย กรมการข้าว ผู้ประกอบการภาคเอกชน และเกษตรกร เพื่อยกระดับข้าวข้าวญี่ปุ่น หรือ ข้าวจาปอนิกาให้เป็นข้าวพรีเมี่ยมของจังหวัดเชียงราย เนื่องจากข้าวจาปอนิกาถือเป็นสินค้าทางเลือกเพื่อตลาดเฉพาะ (niche market) มีความต้องการค่อนข้างสูง

แต่ประเทศไทยยังมีพื้นที่ปลูกค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้ประเทศไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศปีละประมาณ 2,100 ตันคิดเป็นมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท นอกจากนี้ยังประสบกับปัญหาตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่เหมาะสม การผลิตต้นทุนสูง การรับรองมาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงปัญหาด้านช่องทางการตลาด โครงการวิจัยนี้จึงถือเป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาตลอดห่วงซี่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ

นายพายัพภูเบศวร์ มากกูล นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย กล่าวถึงการพัฒนาเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นว่า ได้มีการ Coaching & Workshop ชุดเทคโนโลยีพร้อมใช้ของกรมการข้าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกรจำนวน 90 คน พบว่า กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมวิจัยมีผลผลิตเฉลี่ย 945 กก./ไร่ สูงกว่าวิธีการของเกษตรกร ร้อยละ 10 ต้นทุนการผลิตข้าวจาปอนิกาด้วยงานวิจัย 5,096 บาทต่อไร่ ต่ำกว่าวิธีการของเกษตรกร ร้อยละ 14 และผลตอบแทนหรือกำไรสุทธิจากงานวิจัย 6,567 บาทต่อไร่ สูงกว่าวิธีการของเกษตรกร ร้อยละ 19

ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ ทางคณะผู้วิจัยได้ตรวจวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยายพบว่าผ่านมาตรฐานทั้งหมด โดยมีความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ร้อยละ 99.80 -99.83 ความงอกร้อยละ 88-91 ไม่มีข้าวพันธุ์อื่นปน ส่วนผลด้านการพัฒนาและขยายพื้นที่การผลิตตามมาตรฐาน GAPของเกษตรกรจำนวน 40 ราย พื้นที่ปลูก 279.7 ไร่ มีเกษตรกรได้รับการรับรอง จำนวน 35 ราย ด้านมาตรฐานโรงสีมีผู้ประกอบการโรงสีต้นแบบในการผลิตข้าวจาปอนิกาของจังหวัดเชียงราย ผ่านการรับรองมาตรฐานโรงสีเพิ่มอีก 1 ราย ได้แก่ บริษัท เกริก ไรซ์มิลล์ จำกัด โดยผลจากโครงการวิจัยในปีที่ 1 มีผู้ประกอบการได้รับการรับรองมาตรฐาน GHP/HACCP ผ่านไปแล้ว 1 ราย คือ บริษัท พีแอนด์พี โกะเมะยะ จำกัด

นายวิเชียร บรรดิ เกษตรกรต้นแบบ ต.แม่กรณ์ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย กล่าวเสริมว่า
ผมปลูกข้าวจาปอนิก้ามากว่า 20 ปี บนพื้นที่ 20 กว่าไร่ เนื่องจากมีราคาขายที่สูงกว่าข้าวชนิดอื่นๆ แต่ต้องเจอกับปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์คุณภาพ เจอเมล็ดพันธุ์ปลอมเยอะ ทำให้ได้ผลผลิตต่ำ การที่มีโครงการวิจัยนี้เป็นเรื่องที่ดีมากเพราะมีนักวิจัยเค้ามาดูแลเป็นพิเศษตลอดตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การปลูก การดูแล อาทิ การเก็บพันธุ์ปลอมปนระหว่างการปลูก การกำจัดศัตรูพืช การให้ปุ๋ย การเก็บเกี่ยว จนถึงส่งขายโรงสี โดยขั้นตอนการปลูกไม่ยุ่งยากจากเดิมแต่เก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้ดีขึ้น โดยพื้นที่ 1 ไร่ เดิมเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 700 กก. ปัจจุบันสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 กก. และนำไปขายแบบข้าวเปลือกได้ราคา 12,000 บาท เมล็ดพันธุ์ได้ 14,000 บาท และที่มั่นใจกับการลงทุนเพาะปลูกคือมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน ราคาที่แน่นอน ผลผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ผมรู้สึกว่างานวิจัยไม่ได้ไกลตัวผมอีกต่อไป เพราะผมเอามาใช้กับการปลูกข้าวของผมได้จริง

โครงการวิจัยนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตและรายได้ แต่ยังสร้างโอกาสในการพัฒนา “ข้าวญี่ปุ่นสัญชาติไทย” ให้กลายเป็นสินค้าพรีเมียมที่สามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศและเสริมสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมข้าวของไทยต่อไป


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน