วันที่ 15 มีนาคม 2568 ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร
แถลงนโยบายสนับสนุนทุนวิจัยของสำนักงานพัฒนาพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) – ARDAภายใต้หัวข้อ “Support For ARDA’ Research Innovation in the Northern Region นวัตกรรมงานวิจัยขับเคลื่อนการเกษตรเขตพื้นที่โซนภาคเหนือ” เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เปลี่ยนเกษตรดั้งเดิมเป็น “เกษตรมูลค่าสูง” ด้วยนวัตกรรมงานวิจัย ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก ARDA
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการ ARDA เปิดเผยว่า ภาคเหนือของไทย ถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศ แต่ปัจจุบันกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ ตั้งแต่ปัญหาหมอกควัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้นทุนการผลิตสูง ไปจนถึงความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร ARDA จึงให้การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อยกระดับภาคเกษตรกรรมดั้งเดิมสู่ “เกษตรสร้างมูลค่า” โดยตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมา ทุ่มงบประมาณกว่า 718 ล้านบาท สนับสนุนโครงการวิจัยในภาคเหนือ แบ่งเป็นการสนับสนุนงานวิจัยเชิงกลยุทธ์ (SF) จำนวน 308 โครงการ งบประมาณ 661 ล้านบาท และการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (RU) จำนวน 20 โครงการ งบประมาณ 57 ล้านบาท และในปี 2567 ARDA ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเฉพาะพื้นที่โซนภาคเหนือ รวมจำนวน 46 โครงการ งบประมาณรวมกว่า 130 ล้านบาท แบ่งเป็น SF จำนวน 30 โครงการ งบประมาณ 85 ล้านบาท และฝั่ง RU จำนวน 16 โครงการ งบประมาณ 45 ล้านบาท
และใน ปี 68 ARDA ยังคงเดินหน้าสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมงานวิจัยที่มีอิมแพคสูง
เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่มีผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเน้นงานวิจัยมุ่งเป้าผลสำเร็จที่ สกสว. กำหนด อาทิ การพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้สินค้าไทยปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation: EUDR) ซึ่งหากไม่เร่งสร้างความเชื่อมั่น ไทยจะได้รับผลกระทบถึง 60,000 กว่าล้านบาท นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการเกษตรมาขยายผลให้กับเกษตรกรเพื่อเพิ่มรายได้ ครัวเรือน ร้อยละ 20 ต่อปี/ สำหรับครัวเรือนเกษตรกรเป้าหมาย 20,000 ราย ภายในเวลา 2 ปี ซึ่งจะเป็นการบูรณาการระหว่างกระทรวงเกษตรฯ ธกส. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
และสถาบันการศึกษา และในส่วนของงานที่ดำเนินงานตามนโยบายหลักของภาคการเกษตร ARDA ยังร่วมขับเคลื่อน งานวิจัยโซนภาคเหนือโดยมุ่งเน้น 4 เรื่องสำคัญ ดังนี้
- ปั้นพืชเศรษฐกิจภาคเหนือ สร้างมูลค่าเพิ่ม สู่ตลาดโลก
ARDA มุ่งเน้นการพัฒนา พืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ อาทิ กาแฟ ลิ้นจี่ ลำไย ชา และสมุนไพรซึ่งมีศักยภาพสูงในการแข่งขันระดับโลก โดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์การเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้ตรงตามมาตรฐานสากล ทั้งการยืดอายุการเก็บรักษา ลดการเน่าเสีย เพิ่มโอกาสส่งออก การพัฒนาสายพันธุ์และกระบวนการผลิต ให้ตอบโจทย์ความต้องการตลาดยุโรป จีน และตะวันออกกลาง รวมถึงการวิจัยการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพร ผลักดันสู่อุตสาหกรรมสุขภาพและความงามที่ได้มาตรฐาน
- ผลักดันพืชเมืองหนาว สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร
พืชผักและดอกไม้เมืองหนาวถือเป็นโอกาสสำคัญของภาคเหนือ ARDA สนับสนุนงานวิจัย
เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและการตลาด เช่น การพัฒนา สายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศและดินในพื้นที่การเพิ่มมูลค่าผ่านการแปรรูป และการตลาด เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชเมืองหนาว ด้วยการนำเทคโนโลยีSmart Farming มาใช้ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต
- เกษตรปลอดการเผา ลด PM2.5 สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน
หนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงของภาคเหนือคือ การเผาพื้นที่เกษตร ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของฝุ่น PM2.5 ARDA สนับสนุนงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีจัดการเศษวัสดุการเกษตร เปลี่ยนใบไม้ ใบอ้อย ซังข้าวโพดเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง อาทิ การนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น Black Pellet White Pellet ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนสำหรับการผลิตไฟฟ้า การส่งเสริม อาชีพทางเลือกให้เกษตรกรลดการพึ่งพาการเผาทำลาย เช่นการส่งเสริมให้ปลูกพืชเศษฐกิจมูลค่าสูง กาแฟ ผักอินทรีย์ โกโก้ อะโวคาโด้ ฯลฯ โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการถ่ายทอดองค์ความรู้สร้าง จิตสำนึกและเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา ให้เกิดความยั่งยืน
- การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ สนับหนุนงานวิจัยตรงจุด เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้จริง
ARDA เชื่อมั่นว่าการสร้างงานวิจัยที่ดีและสามารถนำไปใช้ในจริงในพื้นที่ต้องเกิดจากการบูรณาการความร่วมมือ กับหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่
– มูลนิธิโครงการหลวง และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ในการพัฒนาเกษตรบนพื้นที่สูง ทั้งงานวิจัยที่เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร การลดต้นทุน การเพิ่มช่องทางการตลาด
– สถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา
และมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อได้งานวิจัยให้การวิจัยตอบโจทย์พื้นที่โดยเฉพาะการใช้วัตถุดิบพื้นถิ่น ซึ่งจะก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมส่งผลให้เกิดการต่อยอดการพัฒนาองค์ความรู้และได้รับการยอมรับจากเกษตรกรในพื้นที่อย่างแท้จริง
โดยยังกำหนดกรอบในการสนับสนุนงานวิจัยเชิงกลยุทธ์ (SF) และการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรม
ไปใช้ประโยชน์ (RU) แบ่งออกเป็น 6 หมวด ดังนี้
- การพัฒนากระบวนการผลิตและการตลาดของอาหารและผลไม้ไทยคุณค่าสูง เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศ
- การพัฒนากระบวนการผลิตและการตลาดของผลิตผลทางการเกษตรและเกษตรแปรรูป
- การพัฒนาผู้สูงอายุในภาคชนบทและเมืองให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
- Smart Farming ที่ครบห่วงโซ่คุณค่าสำหรับเกษตรกรยากจนในชุมชน
- แก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติด้านนิเวศน์เกษตร (น้ำ ป่าไม้ ที่ดิน)
- เทคโนโลยี นวัตกรรมต้นแบบ เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากการสนับสนุนงานวิจัยแล้ว ARDA ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรการเกษตรมืออาชีพเพิ่มขึ้น โดยการส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรวิจัยทั้งบุคลากรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นักวิจัยสถาบันการศึกษา และบุคคลทั่วไป (เกษตรกรรุ่นใหม่) ด้วยรูปแบบการให้ทุนระยะยาวและทุนระยะสั้นภายใต้กิจกรรมต่างๆเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพบุคลากรวิจัยภาคการเกษตรของไทยให้สามารถสร้างและต่อยอดด้านการวิจัยที่สูงขึ้น โดยที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ARDA ให้การสนับสนุนทุนพัฒนาบุคลากรวิจัยด้านการเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือไปแล้วกว่า 63 ทุน งบประมาณรวม 18 ล้านบาท
และจากความมุ่งมั่นของ ARDA ในการสนับสนุนงานวิจัยท่ามกลางความท้าทายของภาคเกษตรไทย
ที่ตอบโจทย์ได้จริง จึงมุ่งเป้าสนับสนุนโครงการที่ส่งผลกระทบสูง (High Impact Research) เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ให้สมกับที่ได้รับการยอมรับ อย่างกว้างขวางจากเกษตรกร นักวิจัย ผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชน ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยด้านการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย