ด้วยพระอัจฉริยภาพและความสนพระทัยด้านวิทยาศาสตร์และด้านการแพทย์ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้า น้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

ทรงมีพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการมุ่งมั่นพัฒนางานด้านการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และการคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ผ่านกระบวนการวิจัยที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อเกิดประโยชน์กับสังคมไทยทั้งในเมืองและชนบทที่ห่างไกล จึงทรงมีพระดำริพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563)

โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร (7 ปี 2 ปริญญา) เพื่อการศึกษาการแพทย์แห่งอนาคต ก้าวขึ้นสู่ “The Futuristic Medical Education” รับมือ โควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (ววจ.) เผยว่าการแพทย์ยุคใหม่และบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องปรับตัวรับมือกับโรคอุบัติใหม่นำมาสู่การคิดค้นและร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรของ ววจ. คุณสมบัติบัณฑิตที่พึงประสงค์คือการบ่มเพาะให้เขามีความเป็นมนุษย์มากขึ้น

พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง รู้จักคิดวิเคราะห์เป็นระบบ รู้จักการใช้ดิจิตอลให้เกิดประโยชน์ มีความร่วมมือระหว่างวิชาชีพเพื่อให้เกิดการคิดวิเคราะห์หาตัวยาใหม่ๆ มารักษาโรคอุบัติใหม่

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีทรงมีพระประสงค์ที่จะยกระดับการศึกษา ด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพในประเทศไทย

พร้อมทั้งทรงมีพระดำริให้ดำเนินการพัฒนาต่อยอด “โรงพยาบาลจุฬาภรณ์” ให้เป็น “วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์” ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สถาบันการศึกษาวิจัยและสถาบันการแพทย์ครบวงจร

โดยเสด็จสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและการแพทย์ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้วิทยาลัยแห่งนี้เป็นสถาบันการศึกษาที่มีเป้าหมายพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์สาธารณสุข

ด้วยเทคนิคการเรียนการสอนที่ทันสมัยผสมผสานงานวิจัยอยู่ในการศึกษาวิชาต่างๆ โดยเสด็จประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร ด้วยพระองค์เอง เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแนวใหม่

โดยมุ่งหวังให้บัณฑิตแพทย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นอกจากจะเป็นแพทย์ที่มีทักษะทางวิชาชีพเป็นเลิศ มีคุณธรรมจริยธรรมแล้วยังต้องมีความรู้ความสามารถด้านการวิจัย รู้จักกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อเตรียมพร้อมเป็นแพทย์แห่งอนาคต

หลักสูตรแพทย์แนวใหม่นี้ใช้ระยะเวลา เรียน 7 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับ 2 ปริญญา คือปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และปริญญา iBSc จากมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร

โดยรับนักศึกษาแพทย์รุ่นแรกไปแล้วจำนวน 32 คน ในปี พ.ศ.2563 นอกจากนี้ยังเปิดสอนคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2563

สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้รู้ว่าประเทศไทยมีของดีซ่อนอยู่ เช่น ระบบพื้นฐานสาธารณสุขไทย และอาสาสมัครประจำหมู่บ้านที่เข้มแข็งมาก แต่มีหลายส่วนที่ต้องปรับปรุงและปรับตัวให้ดีขึ้นเพื่อตั้งรับหากโรคระบาดกลับมาใหม่ คือการเก็บข้อมูล เตรียมความพร้อมและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ

ศ.นพ.นิธิชี้แจงรายละเอียดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตหลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563 ว่าพัฒนาทั้งวิธีการเรียนการสอน การประเมิน การติดตามผลที่มุ่งบูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เทคโนโลยี และคิดค้นนวัตกรรม พร้อมโอกาสเข้าร่วมศึกษาและทำงานวิจัย กับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร ยกระดับหลักสูตรสู่มาตรฐานสากล

มุ่งเน้นการสร้างแพทย์สมัยใหม่ที่มีคุณลักษณะเฉพาะ รับผิดชอบต่อสังคม มีจิตอาสา มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ รู้จักรักษาโรค รักษาใจ รักษาคน รู้จักคิดค้นวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สนองพระปณิธานองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน