‘นักศึกษาสิงห์อาสา’สานต่อไอเดีย แปลงเกษตรลอยน้ำ-ป้องกันอุทกภัย

‘นักศึกษาสิงห์อาสา’ – กลุ่มสิงห์อาสา โดยบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี พร้อมเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี ร่วมกับเครือข่ายความคิดสร้างสรรค์จิตอาสา ดีไซน์ ฟอร์ ดีแซสเตอร์ (D4D) ที่มุ่งเตรียมความพร้อมรับมือและจัดการกับภัยพิบัติ

เพื่อมุ่งสร้างสังคมให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน ได้ร่วมกันใช้ไอเดียทางสถาปัตยกรรมทำแปลงเกษตรลอยน้ำจากวัสดุเหลือใช้ เพื่อให้นักเรียน และชาวบ้านในชุมชนมีพืชผักปลอดสารพิษรับประทาน

รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงเกิดอุทกภัย ในชื่อโครงการ “แปลงผักพอดี พอดี” ที่โรงเรียนบ้านไทรงาม ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของชุมชนที่สำคัญ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มติดกับแม่น้ำตาปี และมักได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูง 1-2 เมตร ในช่วงเดือนพ.ย.-ม.ค.ของทุกปี ทำให้พืชผักสวนครัวที่ใช้ในโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนเสียหาย คนในพื้นที่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบอย่างหนัก

‘นักศึกษาสิงห์อาสา’

‘นักศึกษาสิงห์อาสา’

โครงการ “แปลงผักพอดี พอดี” เป็นนวัตกรรมเกษตรลอยน้ำต้นแบบที่พัฒนามาจากแนวคิดของผู้นำชุมชนบ้านไทรงาม โดยนายสังเวียน ถ้อยทัด ที่นำโฟมเก่าเหลือใช้จากระบบอุตสาหกรรมนากุ้ง ภูมิปัญญาชาวบ้านที่พยายามพึ่งพาตนเองในสถานการณ์น้ำท่วมมาต่อยอดแนวคิดโครงการดังกล่าว

โดยได้รับความร่วมมือจากปองพล ยุทธรัตน์ สถาปนิกผู้ก่อตั้งเฮ็ดดีไซน์ สตูดิโอ ใช้ไอเดียทางสถาปัตยกรรมมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำตาปี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับ “อุทกภัย” สร้างแปลงเกษตรลอยน้ำจากวัสดุเหลือใช้อย่างขวดน้ำดื่มพลาสติกเหลือใช้

นอกจากนี้ “แปลงผักพอดี พอดี” ที่นี่ยังเป็นแปลงต้นแบบ สำหรับนักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสาทั่วประเทศ ในการนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตน หรือนำไปช่วยเหลือในพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบอุทกภัยในประเทศไทยต่อไป ซึ่งนับเป็นการสานต่อโครงการให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน

น.ส.ศศิธร รักษายศ นักศึกษาสาขาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 มรภ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า “รู้สึกสนุก และแปลกใหม่มากที่ได้มาร่วมโครงการครั้งนี้ แม้จะเหนื่อยบ้างแต่ในความเหนื่อยล้านี้ก็ทำให้เราได้ทำสิ่งดีๆ ให้กับผู้อื่น ได้มิตรภาพ ได้เจอเพื่อนใหม่ต่างสถาบัน ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน โครงการนี้คิดว่ามีประโยชน์มาก เพราะเราไม่สามารถห้ามน้ำท่วมได้ แต่สามารถหาวิธีรับมือกับมัน และปรับวิถีชีวิตของเราให้อยู่กับมันได้อย่างปลอดภัย”

ด้าน นายวรายุทธ ทิพย์รักษา นักศึกษาสาขางานเกษตรศาสตร์ คณะพืชศาสตร์ ชั้นปวส.1 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “ผมเป็นคนสุราษฎร์ธานี ประสบภัยกับน้ำท่วมโดยตรง มีทั้งน้ำท่วมขัง น้ำป่าไหลหลาก ชาวบ้านก็จะลำบากมากเพราะน้ำท่วมขังอยู่นานพอสมควร กิจกรรมในวันนี้ผมจึงสนใจมาก เพราะโดยส่วนตัวชื่นชอบงานเกษตรและการประดิษฐ์ เคยปลูกผักไร้ดินไฮโดรโปนิกส์มาก่อนด้วย จึงเป็นเรื่องดีที่ผมจะนำความรู้และประสบการณ์ในครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ พร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมได้”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน