เผยโฉม‘ไอโอเอส 14’ แอปเปิ้ลไลฟ์แจ้งปรับใหญ่

เผยโฉม‘ไอโอเอส 14’ แอปเปิ้ลไลฟ์แจ้งปรับใหญ่ – แอปเปิ้ล เผยโฉมระบบปฏิบัติการ ไอโอเอส 14 พร้อมฟีเจอร์ล้ำยุค และเป้าหมายปรับปรุงผลิตภัณฑ์ใหม่หลายชนิด

อาทิ ไอโฟน แอปเปิ้ลวอตช์ แอร์พอดส์ ไปจนถึงการหันมาพัฒนาชิพประมวลผลเองเพื่อใช้แทนหน่วยประมวลผล หรือซีพียู จากค่ายอินเทล ในไลน์อัพคอมพิวเตอร์แมคอินทอช และแมคบุ๊ก

iOS 14 ไอโฟน

แอปเปิ้ลเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวผ่านการนำเสนอทางรูปแบบถ่ายทอดสดผ่านไลฟ์สตรีมจากงาน Worldwide Developers Conference (WWDC) ซึ่งแอปเปิ้ลจัดเป็นประจำทุกปี

งานดังกล่าวเป็นที่สนใจของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และแวดวงไอที เพื่อทราบทิศทางการพัฒนาของแอปเปิ้ล ส่วนการถ่ายทอดไลฟ์สตรีมในปีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการระบาดของโรค โควิด-19

ไลฟ์สตรีมเริ่มต้นด้วยรายละเอียดของไอโอเอส 14 ระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ของไอโฟน มาพร้อมฟีเจอร์ใหม่ เรียกว่า App Library ทำหน้าที่จัดเรียงแอพพลิเคชั่นของผู้ใช้บนหน้าจอโดยอัตโนมัติ ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องลำบากเขี่ยเปลี่ยนจอหลายๆ ครั้ง เวลาหาแอพฯ ที่ต้องการ

ถัดมาเป็นวิธีการค้นหาและดาวน์โหลดแอพฯ แบบใหม่ในไอโอเอส 14 เรียกว่า App Clips โดยระบบจะนำฟีเจอร์ที่จำเป็นของแอพฯ นั้นๆ ที่ผู้ใช้ต้องการมาให้ใช้ก่อนในยามที่ไม่มีและต้องการใช้ด่วน เช่น เรียกรถรับจ้าง หรือสั่งอาหารจากร้านค้าที่ชื่นชอบ

ฟีเจอร์ดังกล่าวจะส่งผลให้ประสบการณ์การใช้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง (เสมือนมีแอพฯ ที่ยังไม่ได้โหลดอยู่ในเครื่อง) หากต้องการใช้เพิ่มเติมผู้ใช้ค่อยดาวน์โหลดตัวเต็มมา นอกจากนี้ แอพฯ ที่สนับสนุนเทคโนโลยีดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับ Apple Pay ด้วย

ทางแอปเปิ้ลยังพยายามต่อยอดไอโฟนให้เป็นศูนย์รวมของชีวิตยุคดิจิตอลด้วย หลังไอโฟนยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้ให้กับแอปเปิ้ลมากที่สุด นำไปสู่ฟีเจอร์อย่างการใช้ไอโฟนแทนบัตรเครดิตได้

มาหนนี้ทางแอปเปิ้ลเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่อีก เรียกว่า CarKey ที่จะทำให้ไอโฟนใช้แทนรีโมตกุญแจรถยนต์ที่สนับสนุนได้ เริ่มต้นที่ บีเอ็มดับเบิลยูซีรีส์ 5 (รุ่นปี 2021)

 

การถ่ายทอดผ่านไลฟ์สตรีมของแอปเปิ้ลที่ทำขึ้นเป็นครั้งแรกนั้นยังถูกทำให้น่าสนใจด้วยการใช้เทคนิคการเล่นกล้อง ไม่ว่าจะเป็นมุมการถ่าย เทคนิคการซูม และการถ่ายบรรยากาศหอประชุมบริเวณอาคารสำนักงาน ลานจอดรถของแอปเปิ้ลที่ไร้เงาผู้คนมาให้ชมกันด้วย

ทักทาย iOS 14 กันหน่อย

ทิม คุก ซีอีโอแอปเปิ้ล

 

การนำเสนอฟีเจอร์ใหม่ต่างๆ ในไอโอเอส 14 ของแอปเปิ้ล สะท้อนว่าแอปเปิ้ลเป็นหนึ่งในเอกชนไม่กี่แห่งของโลกที่มีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนทั่วไปจำนวนมาก

อัพเดตที่ทางแอปเปิ้ลนำมาเสนอ ได้แก่ รูปแบบใหม่ของการสนทนาแบบกลุ่มในแอพฯ ส่งข้อความ iMessage ในจำนวนนี้ รวมถึงความสามารถในการปักหมุดการสนทนาที่สำคัญๆ ในกลุ่ม แช็ตด้วย

แอปเปิ้ลยังแก้ไขปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้าของผู้ใช้ไอโฟนด้วยกรณีที่กำลังใช้งานแล้วมีสายเรียกเข้า ส่งผลให้หน้าจอทั้งหมดถูกบดบังด้วยสายเรียกเข้าดังกล่าว มาคราวนี้สายเรียกเข้าจะกลายเป็นเพียงแถบอยู่ด้านบนของจอเท่านั้น (คล้ายๆ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์)

ด้านฟีเจอร์ Picture in Picture ปรับปรุงใหม่ ทำให้ผู้ใช้รับชมคลิปวิดีโอได้อย่างต่อเนื่องหากเปลี่ยนแอพฯ ใช้งาน ยกตัวอย่าง เปลี่ยนไปใช้ iMessage ขณะชมคลิป ก็จะส่งผลให้คลิปย่อขนาดลงเป็นกรอบเล็กๆ โดยผู้ใช้สามารถเลื่อนหน้าต่างคลิปนี้ได้ไปทั่วจอ หรือเลือกซ่อน แต่ยังคงรับฟังเสียงในคลิปต่อไปก็ได้

ภายในงาน WWDC ปีนี้ ทางแอปเปิ้ลยังประกาศจะหันไปพัฒนาหน่วยประมวลผลกลางหรือซีพียูเอง เพื่อใช้ในคอมพิวเตอร์แมคอินทอช และแมคบุ๊ก ซึ่งเป็นไปตามข่าวลือในแวดวงไอทีก่อนหน้านี้ ว่าแอปเปิ้ลกำลังพยายามตีตัวออกห่างจากอินเทล ผู้พัฒนาซีพียูชื่อดังในสหรัฐ

แอปเปิ้ลระบุว่า การหันมาพัฒนาซีพียูเองจะทำให้คอมพ์แมคอินทอชมีประสิทธิภาพสูงขึ้นทั้งทางด้านการประมวลผลและการใช้พลังงาน

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า การประกาศนี้ถือเป็นตะปูอีกดอกที่ตอกฝาโลงอินเทล หลังต้องเร่งพัฒนาซีพียูรุ่นใหม่ และเปลี่ยนมาใช้สถาปัตยกรรมการผลิตระดับ 7 นาโนเมตร (nm) เพราะเพลี่ยงพล้ำใหญ่หลวงให้กับคู่แข่งอย่าง เอเอ็มดี ซึ่งใช้สถาปัตยกรรมการผลิต 7 nm ได้ก่อน ทั้งยังมีจำนวนคอร์มากกว่าในราคาที่ต่ำกว่าทาง ฟากอินเทล

ล่าสุดเอเอ็มดียังประกาศแผนการเปลี่ยนไปใช้สถาปัตยกรรมการผลิตระดับ 5 nm (AMD Zen-4) ในปี 2565 ส่วนอินเทลระบุว่า จะเปลี่ยนไปผลิตที่ 7 nm ได้อย่างเร็วที่สุดก็ปี 2564

ด้านซีพียูใหม่ของแอปเปิ้ล ตั้งชื่อว่า Apple Silicon ชิพนี้จะทำให้แอปเปิ้ลมีความสามารถในการควบคุมด้านการอัพเดตและประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้งานมากขึ้น โดยจะทำให้แอพฯ ต่างๆ ทำงานร่วมกันได้อย่าง ต่อเนื่องทั้งในไอโฟน ไอแพ็ด และเครื่องแมค

แอปเปิ้ลเปิดตัวซอฟต์แวร์สำหรับ ผู้พัฒนาแอพฯ ต่างหากด้วย เพื่อช่วยเหลือผู้พัฒนาแอพฯ ในการปรับเปลี่ยนแอพฯ ที่สนับสนุนซีพียู ของอินเทล มาให้รองรับกับ Apple Silicon แทน

แอปเปิ้ลในวันโควิดครองเมือง

อย่างไรก็ดี นายทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิ้ล ยืนยันว่า แอปเปิ้ลจะยังพัฒนาเครื่องแมคที่ใช้ซีพียูอินเทลต่อ

ทิม คุก ระบุว่า แผนการพัฒนา Apple Silicon ของทางค่าย จะทำให้มีผลิตภัณฑ์เครื่องแมคที่ใช้ซีพียู รุ่นใหม่เปิดตัวได้ในปลายปีนี้ โดยแผนการปรับเปลี่ยนจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี

มาถึง AirPods หูฟังไร้สาย ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากแอปเปิ้ล การปรับปรุงครั้งนี้ทำให้การเปลี่ยนอุปกรณ์เชื่อมต่อนั้นมีความต่อเนื่องมากขึ้น เช่น การรับฟังพ็อดคาสต์ ในไอโฟน แล้วเปลี่ยนชมภาพยนตร์จากไอแพ็ดได้ทันที จากนั้นเมื่อมีสายเรียกเข้ามาที่ไอโฟน แอร์พ็อดส์ จะเปลี่ยนไปรับสัญญาณจากไอโฟนได้ทันทีอีกเช่นกันเป็นต้น

ขณะที่แอร์พ็อดส์ โปร จะมีฟีเจอร์ใหม่ เรียกว่า spatial audio ส่งผลให้จำลองเสียงแบบเซอร์ราวด์ได้เพื่อเปิดประสบการณ์ฟังเหมือนอยู่ในโรงภาพยนตร์

การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้ ยังทำให้แอปเปิ้ลต้องตั้งทิศทางการพัฒนาเพิ่มด้วย อาทิ ระบบปฏิบัติการใหม่สำหรับแอปเปิ้ล วอตช์ อย่างวอตช์โอเอส 7 จะมีการเตือนเรื่องล้างมือเข้ามาเพิ่มด้วย

ระบบดังกล่าวจะเปิดขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อตรวจจับได้ว่าผู้สวมใส่อยู่ใกล้ซิงก์น้ำ ผ่านการตรวจจับเสียงน้ำที่สะท้อนจาก ซิงก์น้ำ และเมื่อผู้ใช้ล้างมือ ระบบก็จะนับเวลาให้ด้วย (ตามมาตรฐานการล้างมือ 20 วินาที จากองค์การอนามัยโลก WHO) หากล้างมือไม่นานพอ แอปเปิ้ล วอตช์ จะรีบเตือนให้ล้างต่อไปอีก

ร้านแอปเปิ้ลต้องปิด

นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ด้านการสื่อสารที่สะท้อนวิถีชีวิตนิวนอร์มัลของประชาคมโลกขณะนี้ เช่น Memoji จะปรากฏหน้ากากอนามัยด้วยหากผู้ใช้สวมใส่อยู่ เป็นต้น

ช่วงที่ผ่านมาแอปเปิ้ลยังพยายามสร้างจุดเด่นให้กับตัวเองด้วยการเป็นเอกชนไอทีที่ประกาศเรื่องการเอาใจใส่กับความเป็นส่วนตัวยุคดิจิตอลของผู้ใช้ โดย ไอโอเอส 14 จะทำให้ผู้ใช้เลือกที่จะให้ข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งแบบคร่าวๆ กับแอพฯ ได้ ตามสิทธิการปิดบังที่ตั้ง

ขณะที่ก่อนดาวน์โหลดแอพฯ จาก App Store ผู้ใช้จะเห็นไฮไลต์การเก็บข้อมูลด้านต่างๆ ของแอพฯ ได้ชัดเจน โดยจะจัดทำเป็นลักษณะเหมือนฉลากสินค้า เรียกว่าฉลากความเป็นส่วนตัว เพื่อบอกให้ผู้ใช้รับทราบว่าแอพฯ ดังกล่าวจัดเก็บข้อมูลด้านใด และขอบเขตเพียงใด

ขณะที่ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นทุกคนที่ได้รับการรับรองจากแอปเปิ้ลจะ ต้องรายงานฉลากดังกล่าวให้แอปเปิ้ล ทราบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน