นายสมิชฌน์ เพ็ชร์ดี ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทด้านอาหารได้มีการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนประจำปี 2568 ใน 2 มิติ คือ การดูแลสุขภาพของผู้บริโภค 1,000 ล้านคนทั่วโลก โดยใช้ประโยชน์จากอะมิโนไซแอนซ์ ซึ่งเป็นจุดแข็งของอายิโนะโมะโต๊ะ มาสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านอาหาร ที่ให้รสชาติอร่อย และมีโภชนาการที่ดี ควบคู่ไปกับการดำเนินการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลง 50% ภายในปี 2573 จากการที่ได้เริ่มดำเนินมาตั้งแต่ปี 2561
สำหรับเป้าหมายหลักในปี 2568 จะโฟกัสไปที่ “วัฏจักรอาหารยั่งยืน” ที่มุ่งเน้นไปที่ 4 มิติหลัก คือ การจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดพลาสติก การลดขยะอาหาร ควบคู่ไปกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดความความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ วัฏจักรอาหารยั่งยืน ประกอบด้วย 4 มิติหลัก 1.จัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างให้เกิดระบบการจัดซื้อวัตถุดิบแบบหมุนเวียนและยั่งยืน บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายในการบรรลุผลสำเร็จให้ได้ 75% ภายในปี 2568 โดยมุ่งเน้นเรื่องการติดตามและทำการตรวจสอบกลับได้
ซึ่งรวมถึงการจัดหาวัตถุดิบที่ยั่งยืน และไม่ไปรุกล้ำระบบนิเวศหรือรบกวนสิ่งแวดล้อม สำหรับเมล็ดกาแฟ บริษัทจะรับซื้อเมล็ดกาแฟจากไร่ที่มีคุณภาพตามหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) กับกรมส่งเสริมการเกษตร
2.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีการดำเนินงานตามแนวทาง Ajinomoto Bio-cycle ที่เป็นกลไกความร่วมมือกับภูมิภาคท้องถิ่นเพื่อสร้างกระบวนการจัดการการผลิตและการเกษตรอย่างยั่งยืน ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยโรงงานการผลิตทั้งหมด 7 แห่งเป็นโรงงานสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) มาใช้ในการจัดการภายในโรงงาน ในปีนี้ อายิโนะโมะโต๊ะได้ตั้งเป้าหมายในการตรวจสอบ carbon footprint ที่เกิดขึ้นทั้งหมด พร้อมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรคู่ค้าเพื่อการดำเนินงานลดคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง
3.การลดพลาสติก โดยมุ่งเน้นการลดพลาสติกในบรรจุภัณฑ์ ด้วยการลดการใช้พลาสติกใหม่ และเลือกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ อีกทั้งยังส่งเสริมการรีไซเคิลอย่างเป็นรูปธรรม
4.การลดขยะอาหาร ปัจจุบัน 6 โรงงานของอายิโนะโมะโต๊ะสามารถลดขยะอาหารได้ 100% ส่วนโรงงานเบอร์ดี้สามารถลดขยะอาหารได้สำเร็จ 82% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับชุมชนข้างเคียงรอบพื้นที่โรงงานเพื่อส่งเสริมเรื่องการลดขยะอาหาร ด้วยการนำเอาวัตถุดิบที่เหลือจากการผลิตรสดี และ เบอร์ดี้ ไปทำอาหารสัตว์หรือปุ๋ยให้กับชุมชน
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดความความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างวัฏจักรอาหารยั่งยืนในอนาคต
รวมถึงเดินหน้าเต็มสปีดในการลดคาร์บอนและการตรวจสอบได้อย่างเป็นระบบ ยกระดับโครงการ “Thai Farmer Better Life Partner” ด้วยการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่กาแฟ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความ “กินดี มีสุข” แก่สังคมและเกษตรกรไทย