รีวิว Marvel’s Spider-Man (PS4)

โดย ปอลนาโช่

ประเด็นน่าสนใจ

– เกม Marvel’s Spider-Man มีรูปแบบคล้ายคลึงกับหนังฮีโร่มาร์เวลเป็นอย่างมาก !!!ดังนั้น!!! จงระวังโดนสปอยล์ตอนจบตามอินเตอร์เน็ตก่อนได้เล่นเอง

– ปมเรื่องถือเป็นเซอร์ไพรซ์สำคัญของตัวเกม ส่วนบทความชิ้นนี้ จะพูดถึงภาพรวมของเกมและเนื้อเรื่องส่วนต้น (Act1) เท่านั้น แต่หากใครอยากเล่นเองโดยปราศจากการรับรู้โดยไม่ตั้งใจ แนะนำให้ข้ามหัวข้อ “เนื้อหาและการนำเสนอ” ไปก่อนครับ

– ผู้เขียนเล่นจนจบ ขณะเลเวลได้ 40 ใช้เวลาไปประมาณ 20 ชั่วโมงกว่าๆ แต่ตอนนี้ซัดบวกไปอีก 30 กว่าแล้วยังไม่รู้สึกว่าเกมมันจบ เล่นได้เรื่อยๆ

– บทความนี้ใช้เครื่อง PS4 แบบธรรมดาในการรีวิว

– เกมไม่ใช่ไม่มีตำหนิ เพราะช่วงแรกๆ กะให้คะแนน 7.5 ด้วยซ้ำ แต่พอเล่นไปซักพักๆ ผมปรับเป็นคะแนนใหม่(อยู่ท้ายบทความ)ให้อย่างยุติธรรม และมีเหตุผลอธิบาย…ส่วนเป็นเพราะอะไรนั้น ผมจะเริ่มเล่าประสบการณ์ให้ฟังครับ…ดังนี้

รีวิว Marvel’s Spider-Man

เนื้อหาและการนำเสนอ

สไปเดอร์แมนเวอร์ชั่นนี้ของ Insomniac Games เลือกใช้เหตุการณ์ที่อิงมาจากตัวคอมมิค ที่ผมใช้คำว่าอิงก็เพราะมันมีการเขียนเนื้อเรื่องให้กับเกมใหม่โดยเฉพาะ ซึ่งโทนมันเน้นหนักไปทางหนังสือการ์ตูน ผสมกับตัวภาพยนตร์เก่าๆ ของทางค่ายต้นสังกัดเอง (ในเกมใช้คนเขียนบท 4 คน โดยหนึ่งในทีมคือ Christos Gage นักเขียนบทชื่อดัง ที่รับงานเขียนซีรีส์ให้มาร์เวล อย่างเรื่องแดร์ดีวิลนั่นก็ด้วย) ซึ่งตัวเนื้อเรื่องนี่แหละ ที่ถือเป็นแก่นแกนดุจเพชรล้ำค่าของเกมไอ้แมงมุมเกมนี้เลยทีเดียว

เข้าทำนอง ระบบเกมด้านอื่นมีปัญหา แต่เจอเรื่องราวที่เต็มไปด้วยเซอร์ไพรซ์ ก็ทำให้กลายเป็นเกมที่เรารู้สึกคุ้มค่าในการซื้อหาได้ทันที!

คือต้องบอกว่าช่วงครึ่งหลังของเกมมันมีโมเมนต์ที่ทำให้ผู้เขียน อุทานลั่นห้องบ่อยมาก ซึ่งอะไรแบบนี้แหละครับ ผมถือว่ามันเป็นประสบการณ์เชิงบวกที่คนเล่นจะได้รับแน่ๆ หากได้เล่นเกมนี้ และควรให้คะแนนกับตัวเกมไปเต็มๆ

เสียดายที่ผมไม่อยากแตะอะไรมากกับ “เนื้อเรื่อง” ของเกม จึงขอเกริ่นให้เห็นจุดเริ่มต้นกันนิดเดียวพอ ว่า เหตุการณ์ใน Marvel’s Spider-Man จะเป็นช่วงที่ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ สวมบทเป็นมนุษย์แมงมุมรับใช้สังคมมาแล้ว 8 ปีเต็ม เรียนก็จบแล้ว ต้องหาการหางานทำ (ไม่บอกนะทำอะไรที่ไหน) ขณะที่สถานการณ์ในมาร์เวลนิวยอร์ก ก็เปลี่ยนผ่านไปตามกาลเวลา แต่สิ่งหนึ่งไม่เคยเปลี่ยนนั่นคือ “ความชั่วร้าย” ที่เกาะกินอยู่ในทุกสังคม แถมคราวนี้มากันหลายตัว ภาระเหนื่อยหนักจึงตกอยู่กับปีเตอร์…เสียจนมันกระทบต่อชีวิตรักแบบหนุ่มสาวที่คนวัยเดียวกับเขาควรประสบพานพบ

หลังจากนั้น เกมจะค่อยๆ เรียงร้อยเรื่องราวผ่านภารกิจต่างๆ ที่เราในฐานะผู้เล่นต้องลงมือทำ โดยการดำเนินเรื่องจะกระทำผ่านคัตซีนเป็นหลัก (ได้นั่งดูหนังกันบานเลยล่ะ) แต่นั่นคือเนื้อเรื่องใน Story mission เท่านั้นนะครับ เพราะมันยังมีเนื้อเรื่องแยกย่อยในส่วนของ Side mission ตลอดจน Lore หรือพวกเกร็ดเนื้อเรื่องในจักรวาลมาร์เวลให้เราตามหาตามแงะอีก “มหาศาล” ซึ่งผมเองก็ยังตามเล่นไปหมด คาดว่าคงใช้เวลาอีกนาน (แถมแผนที่มหานครนิวยอร์กก็กว้างขวางใหญ่โตเสียด้วย)

ระบบเกม

Marvel’s Spider-Man เป็นเกมโอเพ่นเวิลด์แท้ๆ รูปแบบคล้ายจับเอา The Amazing Spider-Man 2 (ใช่ครับ เกมที่โดนนักวิจารณ์สับเละเกมนั้นนั่นแหละ) ที่พัฒนาให้ดีขึ้น เข้ารูปเข้ารอย ผสมกับเกมอย่างอินเฟมัส, แอสฯ ครีด, แบตแมน อาร์คัม แล้วเคาะออกมาเป็นเกมของตัวเอง ผู้เล่นที่เก๋าๆ หน่อย จะเรียนรู้เกมได้แทบจะทันทีเมื่อเข้าสู่เกม เพราะระบบเมนูต่างๆ คล้ายคลึงกับเกมที่กล่าวไป แถมถูกทำให้เข้าใจง่าย ใช้งานง่าย คาดว่าเพื่อรองรับผู้เล่นทุกแนว ตรงนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน

แต่สิ่งหนึ่งที่เกมนี้มีความเด่นเฉพาะของตัวเอง นั่นก็คือการโหนใย ซึ่งให้ความรู้สึกที่ “โอเค” เสียที หลังวงการเกมต้องผ่านประสบการณ์เลวร้ายมามากมายกับเกมสไปเดอร์แมน

ขั้นตอนการโหนง่ายมากครับ แค่กด R2 ค้างไว้ก็ไปได้เลย ที่เหลือก็บังคับทิศทางเพื่อตีโค้งสวยๆ อ้อมตึก หรือจะเพิ่มความเร็วด้วยการพุ่ง (ปุ่ม X) ผสมผสานกันไปก็ได้ ทีนี้ ถึงมันจะใช้ง่ายก็จริง แต่จะใช้ให้คล่องก็ต้องฝึกฝนซักเล็กน้อย บวกกับการจดจำแผนที่หรือภูมิประเทศประกอบก็จะช่วยได้มากขึ้น

ในเกมมีฟาสต์ทราเวลให้ใช้ (นั่งรถไฟฟ้า) แต่ต้องเล่นเกมผ่านช่วงต้นไปซักระยะหนึ่งก่อนถึงจะใช้ได้

ด้านโครงสร้างของเกม จะมี Story mission เป็นแกนหลัก กะพริบเป็นจุดสีเหลืองในแผนที่ จะไปเล่นเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีเงื่อนเวลามาควบคุม นอกนั้นจะเป็น ภารกิจเสริม, ตามเก็บของสะสม, ปรับจูนเสาอากาศ(เพื่อเปิดแผนที่), ถ่ายภาพสถานที่สำคัญ, ทลายรังโจร ฯลฯ ซึ่งแต่ละโซนของเมือง จะมีเหล่าภารกิจแบบเนี้ย ให้ทำเกือบ 15 ประเภท! (แต่ละประเภทก็จะมีจำนวนงานที่ต้องทำแตกต่างกันไป) ซึ่งเมื่อรวมๆ แล้วก็อื้อซ่าเลยครับ ใครกลัวซื้อเกมไปไม่คุ้มเงินบอกเลยว่าหายห่วง เล่นกันจนเบื่อไปข้าง

ในส่วนของการต่อสู้ มีความคล้ายคลึงแบตแมนแค่นิดเดียว เพราะสไปดี้เน้นหลบหลีกมากกว่าสวนกลับ โดยคนเล่นสังเกตได้จากสัญญาณเตือน spider sense ที่หัวของสไปเดอร์แมนแทนที่หัวของศัตรู และต้องบอกเลยว่าเกมเน้นความเร็วในการตอบสนอง ดังนั้นในโหมดยากของเกมนี้ก็ตึงมือไม่ใช่เล่นนะครับ (สามารถปรับระดับความยากง่ายได้ตลอดเวลาในเกม)

มาถึง การปะทะบอส…ซึ่งนี่คือจุดใหญ่ที่ผู้เขียนหักคะแนนแบบเต็มๆ เลยทีเดียว เพราะมันเป็นแพตเทิร์นมากเกินไป บอสมีมูฟเซ็ตที่ซ้ำซาก ดูออกง่าย และไม่มีตัวไหนท้าทายฝีมืออย่างแท้จริง ไม่เข้าใจว่ากลัวเด็กเล็กเล่นไม่ผ่านหรืออย่างไร ขอบอกเลยว่าใครต้องการบอสอลังๆ บู๊แบบดุเดือด เกมนี้ขาดแคลนอย่างแรงครับ

แถมอีกนิดว่า พวกศัตรูก็จะมีคลาสไม่กี่แบบ ซึ่งแต่ละแบบก็มีจุดอ่อนของใครของมัน ส่งผลให้เราต้องใช้เทคนิคเดิมๆ ในการกำจัด ซึ่งมันทำให้เบื่ออยู่เหมือนกัน…ทว่าตัวเกมใช้เทคนิคหนึ่งในการแก้ไขตรงนี้ นั่นคือ อุปกรณ์และท่วงท่าที่อัพเกรดได้

ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ซึ่งเรียนจบทำงานแล้ว มีความรู้พอตัว ช่วยให้เขาคิดค้นอัพเกรดอุปกรณ์ยิงใยแบบต่างๆ ได้หลากหลาย ซึ่งมีประโยชน์สุดๆ เวลาใช้ต่อสู้ครับ (โดยเฉพาะเวลาโดนรุม) ส่วนการอัพเกรดตัวเองจะแบ่งเป็น 3 สายสกิล คือ การใช้ใยโหนและการต่อสู้กลางอากาศ, สกิลเชิงป้องกัน และ สกิลใช้ใยร่วมในการต่อสู้ ซึ่งเกมพยายามเสริมเข้าไปเพิ่มความหลากหลายในการปะทะนั่นเอง

นอกจากที่กล่าวไปแล้ว เกมยังมีรูปแบบการเล่นแนวสืบสวน(คล้ายเดอะวิชเชอร์3), การลอบเร้นผ่านด่าน, การไขปริศนาวงจรไฟฟ้าและสมการเคมีในสไตล์เกมพัซเซิลง่ายๆ, กับลอบเข้าตีรังโจร(ซึ่งละม้ายคล้ายแบตแมนพอตัวเลยล่ะ)

ประเด็นสุดท้ายในส่วนนี้ก็คือ ชุดเกราะเท่ๆ (เท่จริงๆ นะยืนยัน) ที่มีเบื้องต้นในภาคหลักนี้ก็ราว 25-30 แบบแล้ว แต่ละแบบก็จะให้ความสามารถพิเศษต่างกัน (อาทิ ป้องกันกระสุนปืน, ต่อยหนัก, ต่อยเสริมพลังไฟฟ้า ฯลฯ) โดยเมื่อเราปลดล็อกแล้ว ก็สามารถเอาความสามารถที่ได้ ไปใส่ชุดเกราะแบบอื่นๆ ที่ไม่ได้ติดมาด้วยกันก็ได้ ส่งผลให้คนเล่นผสมชุดดังๆ จากการ์ตูนสไปเดอร์แมน เข้ากับสกิลต่างๆ ได้ตามใจชอบ…เหล่าแฟนการ์ตูนน่าจะปลื้มฟังก์ชั่นนี้กัน

สรุปสำหรับหัวข้อ “ระบบเกม” นี้ก็คือ Marvel’s Spider-Man เป็นเกมที่เล่นง่ายทำความเข้าใจได้ไม่ยาก มีอะไรให้ทำเยอะ(มาก) แต่ มีการต่อสู้และการปะทะบอสที่ยังดูขัดใจอยู่

กราฟิก

แล้วก็มาถึงหัวข้อเจ้าปัญหาสำหรับผู้เขียน เพราะทีแรกเกือบตัดคะแนนในจุดนี้ไปแล้วด้วยซ้ำ!

ขอเล่าแบบนี้…ช่วงแรกผมจับได้ว่า ตัวเกมมีความต่างของกราฟิกระหว่างภาพยนตร์คัตซีนและฉากเฉพาะ(ที่ใช้กับภารกิจเนื้อเรื่อง) กับ ฉากแผนที่ทั่วไปในเมือง โดยอย่างหลังให้ความรู้สึกว่าหยาบกว่ากันพอสมควร

เพราะเวลาภาพคัตซีนปรากฏ คุณภาพงานจะสวยงามตามยุคสมัย ขณะที่ฉากในอาคาร, ฉากห้องทำงานของตัวละครสำคัญ จะมีรายละเอียดสมจริง มีของให้ดูให้ชมเพียบ แต่พอตัดภาพไป กลับไปโหนใยในเมือง ทำไมมันดูโล่งๆ ซึ่งผมเองเข้าใจว่า เพื่อความลื่นไหลในการเคลื่อนที่ความเร็วสูง จึงต้องอาศัยเทคนิคการออกแบบเฉพาะบางอย่าง ขณะที่การเล่าเรื่องส่วนสำคัญในเกม จึงต้องให้น้ำหนักมากกว่า (ซึ่งตลอดการเล่น ผมไม่พบปัญหาการโหลดกราฟิกฉากไม่ทันเลยแม้แต่ครั้งเดียว)

ผมจึงลองออกสำรวจฉากท้องถนนจริงๆ ในเมือง ดูว่ามันมีตรงไหนผิดสังเกต…ก็พบดังนี้ครับ ว่า ดีเทลวัตถุบนตึกสูงทั้งหมดจะดูราบเรียบกว่าข้างถนนมาก อีกทั้งรายละเอียดบนใบหน้า สีหน้าท่าทาง ของคนเดินถนนก็จะดูไม่สมจริงมากนัก ที่สำคัญเราทำไรคนเดินถนนไม่ได้ ทำได้แค่โบกมือทักทาย แตกต่างจากโอเพ่นเวิลด์เกมอื่นๆ …ซึ่งจะว่ากันตามจริง มันก็พอรับได้อยู่นะ

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมที่ได้ทั้งหมดเมื่อเล่นไปเรื่อยๆ ผมก็คิดว่าคุณภาพงานกราฟิกมัน “โอเค” ดูคล้ายๆ infamous second son แต่ยังเป็นรองอันชาร์ตภาคล่าสุด หรือ horizon zero dawn อยู่นิดๆ

เสียงพากย์และเพลงประกอบ

งานพากย์เสียงตัวละครทำได้ดี โดยเฉพาะผู้รับบทสไปเดอร์แมน (Yuri Lowenthal) อาจเป็นเพราะบทพูดที่เขียนมาให้พ่อหนุ่มปีเตอร์ของเรายิงมุกตลกแหลกลาญ (แม้ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน) ช่วยเสริมอีกแรงด้วยก็ได้ ทำให้เกมมีชีวิตชีวา ไม่มีช่วงที่ชวนง่วงซักเท่าไหร่

ทว่าทีเด็ดจริงๆ ที่ผมคิดว่าเป็นส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศความเป็นเกมในจักรวาลมาร์เวลก็คือ “เพลงประกอบ” ครับ โดยซาวด์อลังการที่ดังขึ้นทุกครั้งเมื่อเราเริ่มโหนใยไปมาระหว่างตึก ได้รับการประพันธ์โดย John Paesano เจ้าของผลงานเพลงประกอบจาก Daredevil และ The Defenders นั้นช่วยเพิ่มความฮึกเหิมได้จริง เหมือนเราอยู่ในหนังฮีโร่มาร์เวลเลยล่ะ

ความเป็นจักรวาลมาร์เวล

หัวข้อนี้ผมเพิ่มพิเศษให้แก่เกมนี้โดยเฉพาะ เพราะปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับเกมเมอร์บางคนที่ผมเชื่อว่าต้องใช้ประเด็นนี้ประกอบการพิจารณาควักเงินในกระเป๋ามาซื้อเกมอย่างแน่นอน ซึ่งขอบอกเลยว่า Marvel’s Spider-Man ทำสำเร็จอย่างน่าพอใจในการจำลองฉากนิวยอร์กในหนังมาร์เวล ซึ่งประกอบไปด้วยย่านดังๆ อาทิ ฮาเล็ม เฮลคิตเช่น ฯลฯ ซึ่งในทุกๆ โซนเหล่านี้ จะบรรจุโลเคชั่นสำคัญจากจักรวาลมาร์เวลไว้ให้แก่ผู้ที่รู้จักได้ไปเยี่ยมเยียน ซึ่งผมเองก็ยังรู้จักไม่หมด แต่สำหรับที่ดังมากๆ ก็ได้แวะไปปีนป่ายมาเรียบร้อย ซึ่งบางแห่งผู้เล่นอาจจะพบอีสเตอร์เอ้ก ซุกซ่อนไว้ให้ฮือฮากันอย่างสนุกสนาน

ถึงแม้เกือบทุกที่ เราจะเข้าไปข้างในไม่ได้ แต่มันก็เพียงพอให้บรรดาแฟนๆ หนังฮีโร่ได้ออกค้นหาเผื่อว่าจะเจออีสเตอร์เอ้กทั้งหลาย แถมด้วยตัวเกม ให้ความรู้สึกว่า แต่ละภารกิจล้วนสำคัญ เพราะเป้าหมายของสไปเดอร์แมนคือการช่วยเหลือชุมชน ดังนั้น ตัวเกมมันจึงเหมือนเล่นจบก็ยังไม่จบ ยังเล่นต่อได้เรื่อยๆ (เพื่อรอ DLC) ผู้เล่นจะรู้สึกราวกับ “ได้ความเป็นสไปดี้และเมืองนิวยอร์ก(แบบในหนังมาร์เวล) มาไว้ในครอบครอง” จะออกโหนใยช่วยเหลือชาวเมืองเมื่อไหร่ก็ได้ มีอิสระเสรี

รีวิว Marvel’s Spider-Man

สรุป

จากประสบการณ์ที่ได้เมื่อเล่นตั้งแต่ต้นจนจบก็คือ Marvel’s Spider-Man ค่อยๆ ทวีความสนุกเร้าใจแบบค่อยเป็นค่อยไปครับ ช่วงแรกอาจมีเนือยอยู่บ้าง เพราะต้องการฝึกสอนให้ผู้เล่นรู้จักระบบเกมต่างๆ ตลอดจนให้ฝึกฝนเรื่องการโหนใย และการต่อสู้ ก่อนจะเริ่มเข้มข้นจนผู้รีวิวยอมรับว่า “เอ้อ มันเป็นเกมที่ดี” ก็จะพ้นช่วงครึ่งหนึ่งของเกมไปแล้ว (ตรงนี้เดาว่า จากประสบการณ์หลายปีในฐานะบก.นิตยสารเกม ของ Bryan Intihar ทำให้เขารู้ว่าเกมเมอร์ต้องการอะไร จึงพยายามกำหนดจังหวะของเกม ให้ออกมาเป็นแบบนี้)

ทีนี้จะเห็นว่า ผมเสนอให้เห็นจุดด้อยไปหลายข้อเหมือนกันแต่ทำไมกลับให้คะแนนอย่างที่ปรากฏ ก็ขอสารภาพว่า สาเหตุเพราะเรื่องเซอร์ไพรซ์จากเนื้อเรื่องท้ายเกมเลยครับ (เล่นเอาอึ้งแบบเดียวกับดูหนังนั่นแหละ…หนังจบอย่าเพิ่งรีบลุกกันนะ! เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน อิอิ) ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเพิ่มคะแนนสำคัญที่ผมมองว่าเกมมัน “มีของ” ใช้ได้

สุดท้ายนี้ผมเชื่อว่า Marvel’s Spider-Man จะเซ็ตมาตรฐานใหม่ และเป็นฐานที่ดี ให้กับเกมฮีโร่จากคอมมิคตัวอื่นๆ ได้ก้าวตามหรือก้าวข้ามไปให้ได้ (หากต้องการทำเป็นโอเพ่นเวิลด์)

จุดเด่น

– สร้างฉากนิวยอร์กสไตล์มาร์เวล ที่เต็มไปด้วยสถานที่สำคัญในหนังฮีโร่ของพวกเขา ได้เจ๋งดี

– ออกแบบระบบการโหนใยของสไปดี้ได้ดี ทำให้การเดินทางในฉากเป็นเรื่องสนุก

– เนื้อเรื่องพลิกผันสุดยอด! นำเสนอในสไตล์ภาพยนตร์

– เกมเล่นได้นานคุ้มค่า โดยมีภารกิจหลากหลายให้ทำ

จุดด้อย

– ระบบต่อสู้ตายตัวเกินไป เกมเพลย์แบบลอบเร้นง่ายมาก เหมือนทำเพื่อประกอบการเล่าเรื่องเฉยๆ ไม่เน้นท้าทายความสามารถ

– การสู้บอสเป็นแพตเทิร์นมากเกินไป บอสไม่ท้าทายและไม่อลังการ

คะแนน 9/10

ที่มา รีวิว Marvel’s Spider-Man (PS4) พลังอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมแผนที่และคอนเทนต์อันใหญ่ยิ่ง

อ่านบทความอื่นจากคอลัมน์ สาระ1000เกมมิ่ง

สาระ 1000 เกมมิ่ง : สานตำนานนักสร้างเมือง The Settlers

สาระ 1000 เกมมิ่ง : ANNO 1800

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน