“อังคณา นีละไพจิตร” ชี้ “ไทยประหารชีวิตในรอบ9ปี เป็นไปตามกฏหมาย” แต่ยังมองกฎหมาย-สิทธิไม่สอดคล้องกัน เชื่อประหารชีวิตไม่ได้ช่วยให้อาชญากรรมลดลง

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กล่าวถึงกรณีที่ทางกรมราชทัณฑ์ประหารชีวิตนักโทษชายอายุ 26 ปี ในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ว่า เรื่องนี้ก็เป็นไปตามกฎหมาย แต่ในบทบัญญัติให้ประหารชีวิตควรมีการแก้ไข ที่ผ่านมาในปี2558 ทางกสม.เราได้เสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี เรื่องยกเลิกโทษประหารชีวิต ซึ่งเราได้เสนอทางเลือกจากประหารชีวิตให้ควรให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในความผิดฐานประเภทที่ประหารชีวิตอย่างเดียว ก็ให้ปรับปรุงมีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต เพื่อเปิดโอกาสให้ศาลมีดุลยพินิจ หรือเรียกว่าให้เป็นศาลมีทางเลือก อีกทั้งเราเสนอให้ครอบครัว ชุมชนมามีบทบาทดูแลเยาวชน และให้มีการพัฒนาวิธีการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพกายและใจของผู้ที่กระทำความผิดและครอบครัวด้วย

“ที่ผ่านมาประเทศไทยเป็น 1 ใน 4 กลุ่มประเทศที่ยังมีโทษประหารชีวิต แต่เราก็ยังไม่มีการประหารชีวิตนานกว่า 9 ปีแล้ว และคดีนี้เมื่อครั้งจับได้นั้นผู้กระทำความผิดยังอายุไม่มาก ดังนั้นถ้าเรามีการแก้ปรับปรุงกฎหมายสำหรับเยาวชน คือให้ครอบครัวและชุมชนมาคุ้มครองผู้กระทำความผิดน่าจะดีกว่า ทั้งนี้ในส่วนที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ได้ออกมาประณามเรื่องนี้ก็ต้องยอมรับว่าเขามีเป้าหมายหลักที่จะรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลกอยู่แล้ว ซึ่งในเอเชียมีหลายประเทศที่ยังมีโทษประหารชีวิตรวมถึงประเทศไทย และมีหลายประเทศที่กำลังจะพยายามยกเลิกโทษดังกล่าว การออกมาประณามนี้ก็ถือเป็นงานของเขาและเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่ผ่านมาพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ก็มีการปรับปรุงมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องการพัก หรือลดหย่อนโทษที่มีความผิดบางประเภทที่ไม่สามารถพักโทษได้ เช่น การใช้วิธีการรุนแรง รุมข่มขืน” นางอังคณา กล่าว

นางอังคณา กล่าวว่า ตนยังมองว่าโทษประหารไม่ได้ทำให้อาชญากรรมลดลง และยังมีคนเคยบอกว่าถ้าคนผิดถูกจับได้และโดนโทษประหารชีวิต ต่อไปคนทำผิดก็อาจจะฆ่าเหยื่อเพื่อปิดปากความผิดได้ อย่างไรก็ตามในทางกฎหมายก็ดำเนินไป แต่ทางสิทธิมนุษยชนนั้นคือ การเคารพสิทธิในการมีชีวิตอยู่ การไม่ทำลายชีวิต แต่ข้อกฎหมายและสิทธิบางอย่างก็ยังไม่สอดคล้องกันเราจึงมีข้อเสนอเรื่องดังกล่าวต่อไปยังคณะรัฐมนตรี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน