เขื่อนกาญจน์ ระบายน้ำเพิ่ม กาญจนบุรียังระทึก ผอ.กฟผ. เขื่อนวชิราลงกรณแจ้งขยายเวลาระบายน้ำ53 ล้านลบ.ม./วัน จาก 5 เพิ่มเป็น 12 วัน เหตุฝนยังตกเหนือเขื่อน ส่งผลให้ยังมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่อเนื่อง ขณะที่สะพานมอญปริ่มน้ำ เหลืออีกแค่ 2 เมตรน้ำถึงตัวสะพานแล้ว

ด้านอ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ชาวบ้านวอนภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือหลังต้องผจญกับน้ำท่วม-พายเรือแทนรถมากว่า 2 สัปดาห์ ขณะที่สระบุรีฝนถล่มหนัก แม่น้ำป่าสักล้นท่วม 20 ครัวเรือน น้ำโขงยังทะลักจม 5 อำเภอนครพนม ผวจ.สั่งพร่องน้ำหวั่นย้อนกลับเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนซ้ำ

เขื่อนกาญจน์ ปล่อยน้ำเพิ่มถึง 3 ก.ย.
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นายไววิทย์ แสงพาณิชย์ ผอ.เขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจน บุรี ทำการแทนผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีหนังสือที่ กฟผ.954400/00223 เรื่องขอขยายเวลาการระบายน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ กรณีพิเศษ ถึงหัวหน้าศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี ระบุว่า ตามที่ กฟผ.เขื่อนวชิราลงกรณได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยจะระบายผ่านช่องทางปกติวันละ 43 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้านลบ.ม.) และระบายผ่านทางระบายน้ำล้น หรือสปิลเวย์ วันละ 10 ล้านลบ.ม. รวมเป็นวันละ 53 ล้านลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 23-27 ส.ค.นั้น

จากการติดตามสถานการณ์น้ำที่ไหลเข้าเขื่อนในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่ายังมีปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อนมาก จึงเป็นเหตุให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอด ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามประกาศของศูนย์เฉพาะกิจติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ กฟผ.ฉบับที่ 1/2561 เรื่องแผนการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ และข้อสั่งการของ ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงขอขยายเวลาการระบายน้ำผ่านช่องทางปกติวันละ 43 ล้านลบ.ม. ผ่านช่องทางระบายน้ำล้น วันละ 10 ล้านลบ.ม. รวมการระบายน้ำวันละ 53 ล้านลบ.ม. ต่อไปจนถึงวันที่ 3 ก.ย.61 และจะติดตามสถานการณ์น้ำไหลเข้าเขื่อนเพื่อพิจารณาปรับแผนการระบายน้ำต่อไป จึงขอแจ้งประสานงานให้กับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ระบายน้ำที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าว กฟผ.เขื่อนวชิราลงกรณขอยืนยันว่าสภาพตัวเขื่อนมีความมั่นคงแข็งแรง มีความปลอดภัยสูง โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง

เขื่อนศรีฯน้ำยังไม่เต็ม
นายประเสริฐ อินทับ ผอ.เขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ณ วันที่ 26 ส.ค. เวลา 13.00 น. อยู่ที่ระดับ 175.48 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) เป็นปริมาณน้ำ 15,991.63 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 89.67 โดยมีแผนการระบายน้ำ 22 ล้านลบ.ม. ขณะที่เมื่อวันที่ 25 ส.ค. มีน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อน 57.21 ล้านลบ.ม. ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ระดับ 175.45 ม.รทก. เพิ่มขึ้นจากวันที่ 24 ส.ค. 8 ซ.ม. และได้ระบายน้ำออกตามแผนการระบายน้ำ 24.96 ล้านลบ.ม. ซึ่งเขื่อนศรีนครินทร์ยังมีพื้นที่รับน้ำได้อีก 1,833.47 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 10.33 จึงทำให้มั่นใจได้ว่าอ่างเก็บน้ำเขื่อนยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีก โดยไม่เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยของตัวเขื่อน รวมไปถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนด้านท้ายน้ำ

“จากสถานการณ์น้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์อย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ทางเขื่อนจึงได้เพิ่มการตรวจสอบเขื่อนให้มีความถี่มากขึ้นกว่าเดิม เช่น การตรวจอัตราการซึมของน้ำผ่านตัวเขื่อน การตรวจวัดระดับน้ำในหลุมวัดน้ำ เดิมตรวจสอบสัปดาห์ละครั้ง เป็นตรวจสอบทุกวัน ส่วนการตรวจสอบการทรุดตัวและเคลื่อนตัวของเขื่อน จากเดิมไตรมาสละครั้ง เป็นเดือนละครั้ง จากการตรวจสอบพบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีแนวโน้มหรือบ่งชี้ว่ามีสิ่งผิดปกติแต่ประการใด เขื่อนยังมีความแข็งแรง มั่นคง ปลอดภัย จึงขอให้ประชาชนมีความมั่นใจในความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนศรีนครินทร์ สำหรับเขื่อนท่าทุ่งนา ได้ระบายน้ำสอดคล้องกับแผนระบายน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ คือ ระบายน้ำวันละ 22 ล้านลบ.ม. โดยไม่มีผลกระทบใดๆ” นายประเสริฐกล่าว

สะพานมอญน้ำปริ่ม
ด้านนายไพรัตน์ ทับประเสริฐ ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา รักษาการแทน ผอ.สำนักชลประทานที่ 13 กล่าวว่า จากการระบายน้ำเขื่อนแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ลงท้ายเขื่อนแม่กลอง 736 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนโรงไฟฟ้าพลังน้ำระบาย 60 ลบ.ม.ต่อวินาที รวม 796 ลบ.ม. หรือ 69 ล้านลบ.ม.ต่อวัน โดยในวันจันทร์ที่ 27 ส.ค. เวลา 10.00 น. คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ จะร่วมประชุมครั้งที่ 24/2561 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ชั้น 3 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน กทม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการระบายน้ำเพิ่มขึ้นของเขื่อนวชิราลงกรณ และเกิดฝนตกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำท่วมบ้านเรือนที่อยู่ริมน้ำในพื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 2 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ประมาณ 70 หลังคาเรือน โดยบริเวณสะพานไม้อุตตมา นุสรณ์ หรือสะพานมอญ มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 35 ซ.ม. เหลืออีกเพียง 2 เมตรจะถึงระดับเดียวกับตัวสะพาน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องเตรียมอพยพไปพักอาศัยที่อื่นชั่วคราว ขณะที่ทางทหารกองพลทหารราบที่ 9 และอำเภอสังขละบุรี ได้จัดส่งเรือนำอาหารและน้ำดื่มเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว

“บ้านแหลม”ยังจม
ส่วนที่ จ.เพชรบุรี ชาวบ้านหมู่บ้านแคววังใหญ่ หมู่ 10 ต.บางครก อ.บ้านแหลม กว่า 30 หลังคาเรือน ต้องนำเรือมาใช้เป็นยานพาหนะแทนรถ เพราะน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่านคลองสวนทุ่ง เข้ามาท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนประชาชน บางจุดน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร และถนนทางเข้าหมู่บ้านน้ำท่วมสูงถึง 80 ซ.ม. ทำให้รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ และต้องการให้หน่วยงานราชการเข้ามาช่วยดูแล

สำหรับสถานการณ์น้ำในจังหวัดเพชรบุรี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี สำนักงานชลประทานที่ 14 เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 26 ส.ค. เขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณน้ำ 754.554 ล้านลบ.ม. จากความจุเขื่อน 710 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 106.28 ลดลงจากเมื่อวาน 0.446 ล้านลบ.ม. เมื่อเทียบจากเวลาเดียวกันที่เขื่อนแก่งกระจานมีน้ำ 755.00 ล้านลบ.ม. น้ำไหลลง 13.712 ล้านลบ.ม. เปิดระบายน้ำ 165.65 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือวันละ 14.3121 ล้านลบ.ม. เขื่อนเพชรเปิดระบายน้ำลงแม่น้ำเพชรบุรี 115.79 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือวันละ 10.0046 ล้านลบ.ม. ส่งผลให้มีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ 2 ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ในพื้นที่อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง และอ.บ้านแหลม

เร่งระบายป่าสักล้น
ที่บริเวณบ้านครัว หมู่ 1 ต.บ้านครัว อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี หลังจากที่ผ่านมาได้มีฝนตกหนักติดต่อกันมาหลายวัน ส่งผลให้น้ำบนเขาไหลลงมาสู่คลองน้ำเริงราง หมู่ที่ 1 ต.บ้านครัว อ.บ้านหมอ น้ำได้เอ่อท่วมขึ้นมาบนตลิ่ง ส่งผลให้ชาวบ้านที่อยู่ริมคลองน้ำเริงราง ท่วมบ้านเรือนประชาชนจำนวน 20 หลังคาเรือน และต.บางโขมด อีกกว่า 15 หลังคาเรือน ซึ่งมีระดับสูงเกือบ 50 ซ.ม. เนื่องจากพื้นที่ติดคลองชัยนาท-ป่าสัก เชื่อมต่อคลองเริงรางไปยังแม่น้ำป่าสัก และเป็นที่ลุ่มแอ่งกระทะ เมื่อฝนตกลงมาติดต่อกันหลายวันก็จะเกิดน้ำท่วมแบบซ้ำซาก ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย มณฑลทหารบกที่ 18 นำกำลังทหารเข้าช่วยขนย้ายของชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมขัง

ด้าน จ.ปราจีนบุรี ที่ต้นน้ำแม่น้ำปราจีนบุรีมวลน้ำจากแควพระปรงที่มีปริมาณสูงได้ไหลมารวมกับมวลน้ำจากแควหนุมานที่ถูกระบายมาจากเขื่อนห้วยโสมง ระดับน้ำยังคงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนตลาดเก่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง น้ำท่วมสูงเพิ่มกว่า 60 ซ.ม. โดยระดับน้ำแม่น้ำปราจีนบุรี จุดวัดหน้าสถานีอุตุนิยมวิทยากบินทร์บุรี เวลา 12.00 น. วันที่ 26 ส.ค. วัดได้ 9.20 เมตร

ชาวนาจ้างเกี่ยวข้าวหนีน้ำ
ขณะที่ชาวบ้านพากันนำแคร่ หรือโต๊ะเก้าอี้มาหนุนเพื่อเก็บสิ่งของหนีน้ำท่วมดังกล่าว พร้อมกันนี้พบมีนักศึกษาวิชาทหารจากหน่วยฝึกกำลังพลสำรองมณฑลทหารบกที่ 12 (มทบ.12) ได้มาช่วยขนเรือยางนำไปไว้ให้ชาวบ้านได้สัญจรเข้า-ออกชุมชน ส่วนประชาชนส่วนใหญ่ขึ้นพักผ่อนอยู่บนชั้น 2 ของตัวบ้าน เนื่องจากชั้นล่างถูกน้ำท่วมแล้วทั้งหมด ส่วนที่หมู่บ้านด้านล่างของต้นน้ำแม่น้ำปราจีนบุรี น้ำท่วมขยายวงกว้างเข้าสู่พื้นที่นาข้าวของเกษตรกรที่กำลังให้ผลผลิตรอการเก็บเกี่ยวในหลายหมู่บ้าน ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 60-70 ซ.ม. ในพื้นที่ อาทิ บ้านท่าขี้เหล็ก หมู่ 9 ต.กบินทร์ ได้รับผลกระทบแล้วจำนวน 30 หลังคาเรือน หมู่บ้านนางเลง หมู่ 5 ได้รับผลกระทบ 15 ครัวเรือน ส่วนที่ต.ท่างาม อ.เมือง ตลอดริมแม่น้ำปราจีนบุรี ชาวนาต่างรีบว่าจ้างรถเกี่ยวข้าวในราคาไร่ละ 300 บาท แม้ยังไม่ถึงเวลาเก็บเกี่ยว เนื่องจากเกรงมวลน้ำจะมาถึงล้นตลิ่งแม่น้ำปราจีนบุรี หรือมีการเปิดบานประตูระบายน้ำของกรมชลประทานเข้าพื้นที่ท้องทุ่งต่างๆ อาทิ ผ่านประตูระบายน้ำเพ็ชรเอม คลองแขนนาง, ประตูระบายน้ำตะกุดอ้อม, ประตูระบายน้ำบางไผ่ ทุ่งท่าแห, ประตูระบายน้ำหาดยาง, ประตูระบายน้ำบางพลวง ทุ่งบางพลวง

ส่วนที่เขตตลาดเทศบาลเมืองปราจีนบุรี ตามท่อระบายน้ำมีน้ำจากแม่น้ำปราจีนบุรี เริ่มทะลักเข้ามาในพื้นที่เต็มตามท่อแล้ว โดยบริเวณตลาดล่างข้างศาลพระหลักปราจีนบุรี ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ไว้สูบน้ำลงแม่น้ำปราจีนบุรีหากน้ำเอ่อล้นขึ้นท่วม ขณะที่วัดแก้วพิจิตร ที่มีสถาปัตยกรรมผสมผสาน 4 ชาติ (ไทย, กัมพูชา, จีน และยุโรป) มีน้ำท่วมรอบนอกและในกำแพงแก้ว และท่วมพื้นพระอุโบสถ สูงกว่า 30-40 ซ.ม. เนื่องจากตั้งใกล้ริมแม่น้ำปราจีนบุรี ทางวัดได้นำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งคอยสูบน้ำ

น้ำป่าทะลักสระแก้ว
ที่จ.สระแก้ว หลังฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ทำให้น้ำป่าทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนไร่นาของชาวบ้านเสียหายจำนวนมาก นอกจากนี้แล้ว ถนนเข้าหมู่บ้านยังถูกน้ำท่วมขาดเสียหาย ที่บ้านหัวลิง หมู่ 5 ต.ศาลาลำดวน อ.เมือง จ.สระแก้ว มีน้ำป่าทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนของชาวบ้าน ชาวบ้านต้องอพยพขนของหนีน้ำ นอกจากนั้นน้ำป่ายังทะลักเข้าท่วมไร่นาของชาวบ้านเสียหายจำนวนมาก

นครพนมจม 5 อำเภอ
ด้านสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงที่ จ.นครพนม ยังมีมวลน้ำเหนือด้านจ.หนองคาย และบึงกาฬ ไหลบ่ามาสมทบต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 12.47 เมตร จะเข้าสู่ภาวะวิกฤตที่ 13 เมตรแล้ว ส่งผลให้เอ่อล้นตลิ่งทะลักท่วมที่อ.บ้านแพง บ้านดอนแพง หมู่ 7 และบ.แพงใต้ ขณะที่โรงเรียนบ้านแพงพิทยาคมน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 30-50 ซ.ม. บ้านเรือนเสียหาย 50 หลัง ส่วนอ.ศรีสงคราม น้ำสงครามล้นตลิ่งท่วมบ้านปากอูน และบ้านท่าบ่อสงคราม ท่วมบ้าน 240 หลัง ระดับน้ำสูงเฉลี่ย 80 ซ.ม.-1 เมตร ถนน 12 สายถูกน้ำท่วม

ขณะที่อ.ท่าอุเทน ลำน้ำทวยเอ่อล้น ท่วมถนนสายท่าอุเทน-โนนตาล รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ ส่วนที่อ.ธาตุพนม น้ำโขงเอ่อล้นตลิ่งที่บ้านดอนนางหงส์ หมู่ 7 ต.ดอนนางหงส์ อ.ธาตุพนม สูง 70 ซ.ม. ระยะทางยาว 1.5 ก.ม. พื้นที่การเกษตรเสียหายหลายร้อยไร่ และที่อ.เมือง น้ำห้วยฮ่องฮอล้นตลิ่งเอ่อท่วมสะพานและผิวจราจร เส้นทางสายหนองจันทร์-ดงโชค สถานีสูบน้ำเทศบาลเมือง รยาว 100 เมตร ระดับน้ำสูง 30-40 ซ.ม.

นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผวจ.นครพนม ได้สั่งการให้ชลประทาน จ.นครพนม เร่งระดมสูบน้ำ 4 จุด ที่บานประตูระบายน้ำห้วยหนองเซา ต.หนองเซา ที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ หลังปิดประตูระบายน้ำ และมีน้ำโขงหนุนทะลักเข้ามา พร้อมประสานสำนักชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี ขอเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่อีก 3 เครื่อง เพื่อเร่งพร่องน้ำลงแม่น้ำโขง ป้องกันน้ำย้อนทะลักกลับเข้าท่วมในตัวเมือง

ด้าน ปภ.นครพนม รายงานสรุปพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมและอุทกภัย ทั้งหมด 12 อำเภอ ได้รับผลกระทบ 94 ตำบล 909 หมู่บ้าน มีราษฎรเดือดร้อน 17,454 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตรเสียหายแล้ว 165,545 ไร่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน