กทม.-สธ.ลุยคลองหลอด ตามหา ร้านสัก ให้สาวติดเชื้อเสียชีวิต หวั่นแพร่เชื้อต่อให้กับคนที่ไปสักต่อ แต่ยังไม่เจอ พบอีกร้านสัก ตรวจสอบอุปกรณ์ไม่ปลอดภัย ไม่มีใบอนุญาต สั่งปิดชั่วคราว สธ.ยันสาวติดเชื้อ เอชไอวีตาย ที่จ.เลย ไม่ได้ติดเชื้อจากการสัก ใบรับรองการตายระบุชัด ติดเชื้อมาร่วมปี

จากกรณีนายพิธญ์ชยุตม์ พันพิมพ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 บ้านน้อยสนามบิน ต.กุดป่อง อ.เมือง จ.เลย รับแจ้งจากลูกบ้านว่าลูกสาววัย 22 ปีเสียชีวิต หลังจากไปสักลายกับเพื่อนๆ ย่านคลองหลอด กทม. ทั้งหมด 4 คน เสียชีวิตหมดทุกคน เพราะติดเชื้อในกระแสเลือด (HIV) โดยตั้งศพบำเบ็ญกุศลไว้ที่วัดวิเวศธรรมคุณ (วัดนาฮุง) บ้านน้อยสนามบิน ต.กุดป่อง อ.เมือง จ.เลย

ร้านสัก / ความคืบหน้าวันที่ 3 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 2 ก.ย. มีการจัดงานฌาปนกิจ น.ส.ขวัญ (นามสมมติ) ที่เสียชีวิต โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความโศกเศร้า มีญาติพี่น้อง ญาติสนิท ร่วมงาน

ขณะที่พ่อของน.ส.ขวัญนำหลักฐานใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลนครพิงค์มาให้ ผู้สื่อข่าวดู ซึ่งระบุว่าลูกสาวผู้ตายติดเชื้อ HIV ขั้นที่ 3 พร้อมกับนำหนังสือรับรองการตาย ที่โรงพยาบาลเลยระบุโรคที่เป็นสาเหตุการตาย ระยะเริ่มต้นตั้งแต่เป็นโรคจนกระทั่งเสียชีวิต มีด้วยกัน 3 โรค Hypovolumjc Shock เป็นมาได้ 14 วัน โรค Acute Djarrhea เป็นมาได้ 14 วัน และโรค Human Immuno-Defjciency Virus Infectjon เป็นมาได้ 1 ปี

พ่อน.ส.ขวัญกล่าวว่า น้องไปอยู่กับน้าที่ กทม. ประมาณ 5 ปีแล้ว แล้วก็ไปๆ มาๆ ระหว่าง จ.เลย มาหาพ่อ และไปเชียงใหม่เพื่อไปอยู่กับป้า ก่อนหน้านี้น้องก็มีสุขภาพแข็งแรง เพิ่งจะโทรศัพท์มาบ่นกับพ่อเมื่อช่วงพ.ค.ที่ผ่านมาว่าปวดท้องบ่อย และทราบว่าติดเชื้อขั้นที่ 3 ตอนวันที่ 19 ก.ค. 2561 และทรุดหนักวันที่ 17 ส.ค. และเสียชีวิตในวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา และยังเชื่อในคำพูดของลูกสาวที่บอกก่อนเสียชีวิตว่า การสักลายที่ข้อเท้าของลูกสาวจะเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ และไม่อยากให้เรื่องนี้บานปลายไปมากกว่านี้ และขอหยุดการให้ข่าวแค่นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังใบรับรองแพทย์จากร.พ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ และใบรับรองการเสียชีวิตจากร.พ.เลย ระบุว่า โรคที่ทำให้เสียชีวิตมีด้วยกัน 3 โรค คือ Hypovo lemic Shock (ช็อกจากการเสียเลือดและน้ำ) เป็นมาได้ 14 วัน โรค Acute Diarrhea (อุจจาระร่วงเฉียบพลัน) เป็นมาได้ 14 วัน และโรค Human Immunodeficiency Virus Infection (HIV) เป็นมาได้ 1 ปี ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูคำให้สัมภาษณ์ของผู้เป็นพ่อระบุว่า ลูกสาวไปสักลายเมื่อช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา กระทั่งมาเสียชีวิตดังกล่าว คาดว่าเชื้อเอชไอวีที่เป็นอยู่ไม่น่าจะติดมาจากการสักลายที่คลองหลอด เนื่องจากผู้เสียชีวิตติดเชื้อเอชไอวีมาก่อนหน้านี้แล้ว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า กรณีหญิงสาวเสียชีวิตที่ญาติระบุว่าเกิดจากการติดเชื้อเอชไอวีหลังรับการสักลายนั้น คิดว่าไม่น่าจะเป็นได้ เพราะจากองค์ความรู้หลังรับเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายแล้วหากไม่ได้รับการดูแลรักษาใดๆ เลยนั้นจะใช้เวลาเฉลี่ยเป็น 10 ปี ถึงจะป่วยเอดส์ และเสียชีวิต ซึ่งก็มักเป็นการเสียชีวิตจากโรคฉวยโอกาสอื่นๆ เนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำมาก เช่น วัณโรค ซึ่งเป็นโรคฉวยโอกาสที่เกิดได้บ่อยในผู้ป่วยเอดส์ ส่วนโรคฉวยโอกาสอื่นๆ ที่พบได้คือเชื้อราเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น เพราะฉะนั้นเคสที่เสียชีวิตจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดจากการติดเชื้อเอชไอวีเพียงไม่นาน แต่อาจจะเกิดจากอย่างอื่น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค สำนักโรคติดต่อ สำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ต้องลงไปสอบสวนหาสาเหตุของการเสียชีวิตที่แท้จริง และช่วยกันสื่อสารให้ประชาชนได้เข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง ลดความเข้าใจผิด

“เมื่อมีข้อกังขาเกี่ยวกับโรคขึ้นในสังคม การช่วยให้สังคมได้รับข้อเท็จจริงเป็นหน้าที่โดยตรงของหน่วยงานรัฐ ดูว่าโรคเกิดจากอะไร ต้องเร็ว ต้องสืบสวน สอบสวน และให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน เพราะถ้าบอกว่าเป้าหมายคือลดการรังเกียจ ลดการกีดกัน ลดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวี และโรคเอดส์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขด้วยนั้น กระทรวงต้องรีบทำเรื่องนี้ เพราะเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้หากเป็นข้อมูลที่ไม่จริงและสร้างความเข้าใจผิด การเข้าใจผิดนี้จะนำไปสู่การรังเกียจ เลือกปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี กระทบกับเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ของกระทรวงโดยตรง ดังนั้น ต้องรีบดำเนินการ” นาย นิมิตร์กล่าว และว่า ต้องให้เขารู้ว่าเอชไอวีหากรู้เร็วรักษาได้ เพราะถ้ารู้เร็วกินยาต้านไวรัสต่อเนื่องสม่ำเสมอสามารถกดปริมาณเชื้อให้ต่ำจนเกือบจะหาไม่เจอ

ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าวต่อว่า สถาน การณ์ของประเทศไทยตอนนี้ยังพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่อยู่เรื่อยๆ ในทุกกลุ่ม ซึ่งมีทั้งเยาวชน ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ยังมีพฤติกรรมเสี่ยง ถ้านับตัวเลขก็ราวๆ 6,000-10,000 คนต่อปี ที่สำคัญคือทุกวันนี้ยังเจอคนที่มารับการรักษาด้วยโรคฉวยโอกาสอีกจำนวนไม่น้อยเป็นหลักหมื่น นั่นหมายความว่าในสังคมไทยยังมีผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวอีกมาก ส่วนตัวเลขของผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เข้ารับยาต้านไวรัสเอชไอวี ในระบบหลักประกันสุขภาพอยู่ที่ประมาณปีละ 2 หมื่นราย สำหรับสถานการณ์การใช้ถุงยางอนามัยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 90 ก็ถือว่ายังสูง ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นแม้อัตราการใช้ถุงยางอนามัยจะเพิ่มจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 60 แล้ว แต่ก็ยังไม่ถือว่าอยู่ในระดับที่พอใจ เพราะถ้าจะให้พอใจก็อยากให้มีอัตราการใช้ถุงยาง 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากว่าตอนนี้นอกจากเชื้อเอชไอวีแล้วเรายังพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เพิ่มขึ้นทุกจังหวัด ทั้งซิฟิลิส หนองใน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการดำเนินโรคหลังการติดเชื้อเอชไอวี ว่า การติดเชื้อเอชไอวีจนนำไปสู่การป่วยด้วยโรคเอดส์เฉลี่ยใช้เวลานานถึง 10 ปี ส่วนอาการระยะสั้นหลังติดเชื้อไม่ได้ทำให้เสียชีวิต แต่อาจจะมีไข้ ผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ไม่ถึงกับเสียชีวิต อย่างไรก็ตามเคสที่เสียชีวิตที่บอกว่าเกิดจากการติดเชื้อเอชไอวีหลังไปรับการสัก แถมยังเป็นการเสียชีวิตพร้อมเพื่อนอีก 3 คน ก็เป็นเรื่องที่แปลก ต้องมีการสอบสวนหาสาเหตุ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สั่งการให้ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบหาข้อเท็จจริงอยู่ โดยเฉพาะประเด็นผู้ติดเชื้อรายอื่น ส่วนเรื่องร้านสักนั้นจะเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นในการดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งในที่นี้คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะมีการออกข้อบัญญัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2558 ว่าด้วยเรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งมอบอำนาจให้ท้องถิ่นดูแล แต่ในส่วนการควบคุมโรคขณะนี้มีการดำเนินการอยู่แล้ว

นพ.วิวรรธน์ ก่อวิริยกมล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย กล่าวว่า หญิงรายดังกล่าวเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการติดเชื้อหลายอย่าง ก่อนที่จะเสียชีวิต ส่วนรายละเอียดของอาการและตัวโรคของการเสียชีวิตนั้น คงต้องไปสอบถามกับทางญาติของผู้เสียชีวิตเอง เนื่องจากเป็นสิทธิของผู้ป่วย

นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงกรณีการสักและติดเชื้อเอชไอวีว่า กรณีการติดเชื้อเอชไอวีอย่างเฉียบพลันนั้นจะเกิดขึ้นภายใน 3-4 สัปดาห์ จะแสดงอาการคล้ายไข้หวัด เป็นไข้มีผื่นแต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต ซึ่งกรณีนี้คาดว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการสักลาย อย่างไรก็ตามไม่มีคำแนะนำห้ามคนติดเชื้อเอชไอวีสักลาย เนื่องจากไม่ใช่วิธีการป้องกันโรคที่ดี เพราะคนทั่วไปและคนที่ไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อก็อาจไปสักได้ การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่ดีที่สุด อย่างหากต้องการสักก็ต้องเลือกร้านที่ทำความสะอาดดี เปลี่ยนหัวเข็ม ที่สำคัญในกลุ่มผู้ติดเชื้อเองจะต้องรับประทานยาต้านไวรัสฯ อย่างต่อเนื่อง

เมื่อเวลา 11.30 น. ที่คลองหลอด ถนนราชินี แขวงพระบรมมหาราชวัง เขคพระนคร กรุงเทพมหานคร นายประสิทธิ์ เหลืองรุ่งเกียรติ นักวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการพิเศษ ร่วมกับ พญ.อลิศรา ทัตตากร ผอ.กองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ไปตรวจสอบร้านของนายสมชาย อริยะ หรือช่างเก่ง อายุ 41 ปี ช่างสักที่อยู่บริเวณย่านคลองหลอด เพื่อตรวจสอบความสะอาดและปลอดภัย

พญ.อลิศรากล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าสภาพของเข็มที่ใช้ในการสักนั้นเป็นเข็มที่มีการซีลถูกต้อง แต่ซีลไม่สนิท ทำให้เชื้อโรคต่างๆ เข้าไปเกาะตามเข็มได้ และหากนำไปใช้สักก็จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ติดเชื้อ เอสไอวีได้ ซึ่งเข็มต่างๆ ที่ใช้นั้นช่างสักอ้างว่าใช้ครั้งเดียวและทิ้ง ส่วนของตัวยาที่ใช้นั้นจำพวกสีที่ใช้ และยาชาเป็นตัวยาที่ใช้ได้จริง แต่ใช้ไม่ถูกต้อง เพราะใช้ตอนเลือดออก อาจทำให้แผลสักติดเชื้อ โดยรวมแล้วอุปกรณ์ทั้งหมดมีกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อโรคต่างๆ ได้

นายประสิทธิ์กล่าวว่า จะตรวจสอบในเรื่องของการเปิดและประกอบกิจการไม่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องปิดกิจการไว้ก่อน เพื่อตรวจสอบและต้องนำตัวผู้ประกอบการงานสักมาชี้แจงในเรื่องของความสะอาด

ส่วนร้านสักที่ปรากฏในข่าวขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นร้านใด แต่จะตรวจสอบตามแหล่งที่มีการระบุไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อซ้ำ

นายสมชายกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนทำอาชีพเป็นช่างก่อสร้าง และโดนคนโกง โดนเอารัดเอาเปรียบ จึงออกมาทำอาชีพ รปภ. ก็โดนคนขับไล่อีก จึงอยากมีอาชีพเป็นของตนเองโดยไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร มาทำอาชีพเป็นช่างสักลายมากว่า 10 ปีแล้ว ช่วงแรกเริ่มจากการฝึกฝน สักมือ อยู่แถวบริเวณสนามหลวง และมีเจ้าถิ่นไม่ชอบตนจึงได้มีการขับไล่ออกจากพื้นที่ จึงหางานทำใหม่ ได้มีโอกาสไปเปิดร้านสักลายที่ประเทศกัมพูชา อยู่ได้ไม่นานตนก็กลับมาเปิดร้านอยู่ที่คลองหลอด

นายสมชายกล่าวอีกว่า เข็มต่างๆ ที่ใช้นั้นซื้อมาจากร้านประจำราคาประมาณ 10-30 บาท เข็มบางส่วนลูกค้าประจำก็จะซื้อมาให้บ้าง ส่วนสีที่ใช้นั้นก็ซื้อมาขวดละประมาณ 500-1,000 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจมาสักกับตนนั้นเป็นลูกค้าประจำ หรือบอกต่อกันมา แต่ละครั้งก็จะสักราคาเริ่มต้นที่ 200-2,000,000 บาท ส่วนลายที่สักนั้นคิดขึ้นมาเอง ไม่ได้ลอกเลียนแบบ ในแต่ละเดือนมีลูกค้าประมาณ 5 รายเท่านั้น ซึ่งตนก็ยังคงอยากทำอาชีพนี้ต่อ

“จะไม่พูดว่าร้านตนสะอาด ปลอดภัยหรือไม่ แต่ลูกค้าที่มาสักกับตนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสะอาด เปลี่ยนเข็ม เช็ดแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ส่วนเครื่องพ่นสีที่ตนทำก็ทำขึ้นมาเอง ใช้ราคาต้นทุนประมาณ 2,000 บาท ก็จะมีการเปลี่ยนหัวพ่นทุกครั้ง หากไม่มั่นใจในความสะอาดคงไม่สามารถเปิดร้านได้ถึง 10 ปี อย่างไรก็ตามยืนยันว่าสาว 4 คนที่มาสักไม่ได้สักที่ร้านผม แค่เพียงเห็นหน้าเท่านั้น” นายสมชายกล่าว

ที่ศาลาว่าการ กทม. น.ส.รุจิรา อารินทร์ ผู้ช่วย ผอ.เขตพระนคร กล่าวว่า ในพื้นที่เขตพระนครมีร้านสักที่ขออนุญาตดำเนินกิจการอย่างถูกต้อง 15 ร้าน แบ่งเป็นพื้นที่ แขวงตลาดยอด 12 ร้าน แขวงชนะสงคราม 2 ร้าน และแขวงบวร 1 ร้าน จากนี้เขตจะร่วมกับทหารและตำรวจลงพื้นที่ตรวจอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะบุคคลที่แอบอ้างเป็นช่างสัก

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กรณีดังกล่าวยอมรับว่าการอนุญาตหน้าที่หลักเป็นของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กทม. พร้อมทำหน้าที่ร่วมกันตรวจสอบ โดยตามอำนาจหน้าที่ กทม.สามารถจับปรับได้ ตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย พ.ศ.2535 เท่านั้น

ส่วนการเปิดร้านรับสักคิ้วหรือสักลายต่างๆ ตามตลาดนัดในพื้นที่ กทม. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยมากที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน