เวิลด์แบงก์ชี้ปี 2030 บัณฑิตตกงานพุ่ง 72 เปอร์เซ็นต์ ไทยต้องเร่งปฏิรูปการศึกษา อนาคตความรู้ อาจไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะ เทคโนโลยีมาเร็ว และมาแรง ด้าน รมช.ศธ. เผย ไม่อยากให้ไทยล้าหลังกว่า ลาว-เขมร

บัณฑิตตกงาน – วันที่ 11 ก.ย. ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดงานมหกรรม “ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปประเทศ” โดยมี นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “แนวทางการปฏิรูปการศึกษาสู่การพัฒนาประเทศ” ตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาประเทศ เราต้องตอบโจทย์ประเทศให้ได้

ตกงาน

นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

ขณะนี้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ต้องเราต้องสร้างนวัตกรรมเองให้ได้ เพื่อยกระดับประเทศให้พ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ขณะเดียวกันต้องตอบโจทย์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก การศึกษาทุกระดับต้องปรับเปลี่ยนใหม่ ครู อาจารย์ ต้องปรับกระบวนการทางความคิด จะสอนด้วยหลักสูตรแบบเดิม การเรียนการสอนแบบเดิมจะไม่ตอบโจทย์ข้างหน้า โดยจากข้อมูลของธนาคารโลก แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2030 เด็กไทยที่เรียนจบจะตกงาน 72 เปอร์เซ็นต์

การทำงานถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือหุ่นยนต์เอไอ ในส่วนของประเทศไทยถูกแทนที่ด้วยเอไอประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ยุโรป 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ตนคิดว่าน่าจะเร็วกว่านั้น ต่อไปความรู้ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด ความรู้ล้าสมัยได้ สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างทักษะสมรรถนะในตัวของเด็กให้สามารถเปลี่ยนตัวเอง สร้างความเปลี่ยนแปลง ให้องค์กร ครูอาจารย์และผู้บริหารการศึกษาต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้ เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มาเร็วและรุนแรงมาก ตนไม่อยากให้ประเทศเราเป็นประเทศที่ล้าหลัง แพ้ลาว เขมร

ตกงาน

นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

ลูกศิษย์เราที่ผลิตออกไปจะตกงาน อาชีพบางอย่างจะถูกแทนด้วยเครื่องมือ หุ่นยนต์ เช่น สถานประกอบการ ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น จึงต้องเตรียมความพร้อมว่า ลูกศิษย์ของเราถ้าจบแล้วจะออกไปทำอาชีพอะไรได้ ตอนนี้บริษัทหลายแห่งตอนนี้ รับสมัครงานโดยไม่สนใบปริญญา โลกเปลี่ยนไปมาก ถ้าระบบการเรียนการสอนยังเหมือนเดิมไม่ตอบโจทย์ เด็กก็จะไม่เข้ามาเรียน อย่างในสหรัฐอเมริกา มีมหาวิทยาลัยทั้งหมด 4,400 แห่ง ปิดตัวไปแล้ว 500-600 แห่ง และ อีก 10 ปีข้างหน้า จะปิดลงอีก 50 เปอร์เซ็นต์

เด็กหันมาเรียนออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน วันนี้เด็กปี 1 ทุกมหาวิทยาลัยลดลง 70 เปอร์เซ็นต์ เด็กที่เข้าเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานลดลงทุกโรงเรียน”นพ.อุดมกล่าว

นพ.อุดม กล่าวต่อว่า กระบวนการเรียนรู้ต้องเปลี่ยน การเรียนในห้องเรียนต้องลดลง การเรียนที่สำคัญที่สุดคือ การเรียนจากการทำงาน เรียนจากประสบการณ์จริง ครูต้องเปลี่ยนหน้าที่เป็นโค้ชกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้

ครูต้องไม่สอน ดึงศักยภาพเด็กออกมาให้ได้ ทุกคนมีศักยภาพไม่เหมือนกัน เราต้องไม่ตัดเสื้อโหลให้ทุกคนใส่เหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว เด็กชอบอะไร เด็กถนัดอะไร เราต้องดึงทักษะ สมรรถนะของเขาออกมาพัฒนาให้ได้ เป็นหัวใจสำคัญในการเรียนรู้ยุคใหม่ หลักสูตรในระดับอุดมศึกษาบางหลักสูตร จะต้องปรับให้มีความทันสมัย การเรียนแบบคณะต้องหายไป มีการบูรณาการการเรียน ร่วมกันมากขึ้น มหาวิทยาลัยที่จะอยู่ได้ ต้องตอบโจทย์เด็ก มีคุณภาพ ตอบโจทย์ประเทศและโลกที่กำลังเปลี่ยน เราไม่อยากให้มหาวิทยาลัยปิดตัว แต่ปัจจัยต่าง ๆ กำลังคุกคามอย่างหนัก ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ปรับตัว ก็อยู่ไม่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน