เปิดสถิติ! คนกทม.เซ็งปัญหา ฟุตปาธ ‘พัง-เละ-มอไซค์’ ลั่นแก้จบใน24ชั่วโมง

เปิดสถิติ! คนร้องเรียนปัญหา ฟุตปาธ เมื่อวันที่ 20ก.ย. ที่ ศาลาว่าการกทม. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า ปัญหาทางเท้า หรือ ฟุตปาธ ชำรุด เป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามากทม. อย่างต่อเนื่อง โดยจากสถิติการร้องเรียนปัญหาทางเท้าพบว่าในปี 2560 มีการร้องเรียนปัญหาทางเท้าผ่านช่องทางสายด่วนกทม. 1555 กว่า 1,191ครั้ง ส่วนในปี 2561 ตั้งแต่เดือนม.ค.-ส.ค. มีการร้องเรียนถึงปัญหาทางเท้าแล้วกว่า 750 ครั้ง

ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนเพื่อขอให้มีการซ่อมแซมและปรับปรุงบาทวิถีและขอให้มีการก่อสร้างบาทวิถีในจุดที่มีการสัญจรจำนวนมาก ซึ่งในแต่ละปีกทม.ต้องมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการซ่อมแซมทางเท้าจำนวนหลายล้านบาท โดยการซ่อมแซม บำรุงทางเท้าในแต่ละจุด จะต้องมีความมั่นคงแข็งแรง มีอายุการใช้งานต่อเนื่องได้ไม่ต่ำกว่า 2 ปี

อ่าน เทไปเลย! ปรับปรุง ฟุตปาธ ให้ราบเรียบ ลงปูนไม่แคร์ต้นไม้

แต่ด้วยการใช้ทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการใช้ทางเท้าในรูปแบบต่างๆที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมีทั้งรถจักรยานยนต์ที่ฝ่าฝืน ขึ้นมาขับขี่บนทางเท้า อีกทั้งยังมีการขุดเจาะของหน่วยสาธารณูปโภคอื่นๆ แล้วทำการซ่อมแซมติดตั้งทางเท้าไม่เรียบร้อย ไม่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ทำให้ทางเท้าในหลายจุดเกิดการชำรุดต้องปรับปรุงอยู่บ่อยครั้ง

นายจักกพันธุ์ กล่าวต่อว่า แนวทางการพัฒนาทางเท้าของกทม.นั้น จากข้อกำหนดพื้นที่ ตามเกณฑ์มาตรฐานของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร กำหนดให้พื้นที่ทางเท้า จะต้องมีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร แต่หากเป็นทางเท้าในย่านการค้า ธุรกิจ อุตสาหกรรม ที่มีคนเดินสัญจรจำนวนมากตลอดเวลา ควรมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 2.5 เมตร

อ่าน เหลือจะทน คนเดินเท้าโผล่พ่นด่าแรง ขี่มอเตอร์ไซต์บนฟุตปาธ!

แต่หากเป็นทางเท้าย่านที่พักอาศัยหรือในถนนสายรอง อาจมีความกว้างในขนาด 1.2 -2.0 เมตร และทางเท้าทุกแห่งต้องไม่มีสิ่งกีดขวางบนทางเท้าและมีอุปกรณ์จำเป็นเพื่อความสะดวก ปลอดภัย อาทิ ไฟฟ้าส่องสว่าง ต้นไม้ ป้ายบอกทางต่างๆ และสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

โดยตนได้สั่งการให้มีการสำรวจทางเท้าที่ชำรุดผุพังในพื้นที่ 50 เขต หากทางเท้าบริเวณใด มีการชำรุดในลักษณะสามารถซ่อมแซมได้ทันที

เมื่อเจ้าหน้าที่สำรวจทราบข้อมูล หรือมีประชาชนแจ้งข้อมูลทางเท้าผ่านช่องทางใดๆนั้น กทม.จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าเร่งทำการปรับปรุงทางเท้าในไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่หากทางเท้านั้นๆชำรุดเสียหายมาก ไม่สามารถปรับปรุงซ่อมแซมได้ทันที กทม.จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน แต่ต้องเร่งทำงานให้เร็วที่สุด

ภาพจาก เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน