สื่อทำเนียบงดตั้งฉายา ครม.บิ๊กตู่ เพราะมาจากยึดอำนาจอีกทั้งภาวะการเมืองยังไม่ปกติด้วย โพลอ้างชาวบ้านชอบรัฐบาลคสช.มากกว่าที่มาจากเลือกตั้ง ชี้มีอำนาจพิเศษ ทำงานได้เร็ว มธ.จัดเสวนาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กสม.-นักวิชาการหวั่นใช้มาตรา 14 ฟ้องปิดปาก ไอลอว์ซัดสนช.เล่นลิเก เล็งยื่นศาลรธน.ชี้ขาดหากมีการใช้เลยเถิด พลเมืองเน็ตแนะจับตาประกาศ 5 ฉบับของกระทรวงดิจิทัลฯ ด้านคสช.เมินแฮ็กเกอร์เจาะข้อมูลงบฯ กองทัพบก ประธานกกต.ยอมมีผู้ตรวจการเลือกตั้งแทนกกต.จังหวัด ตามที่กรธ.ยืนกราน ปชป.-เพื่อไทยติงกรธ.เขียนกติกาต้องเป็นธรรม หวั่นเพิ่มอำนาจกกต. เอื้อประโยชน์พวกพ้อง แนะให้ประชาชนมีเครื่องตรวจสอบถ่วงดุล เรืองไกรส่งมติครม.เรื่องอุทกภัยปี”53 ให้อนุป.ป.ช. ชี้มัด”มาร์ค”ต้นเหตุน้ำท่วมใหญ่สื่อทำเนียบงดตั้งฉายารัฐบาลบิ๊กตู่

วันที่ 25 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลออกหนังสือชี้แจง เรื่องตั้งฉายารัฐบาล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ประจำปี 2559 ระบุว่า ตามที่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบมีธรรมเนียมปฏิบัติในการตั้งฉายาของรัฐบาล นายกฯ และรัฐมนตรีในช่วงปลายปี เพื่อสะท้อนการทำงานของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรอบปี แม้รัฐบาลปัจจุบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะบริหารราชการแผ่นดินมานานกว่า 2 ปี แต่จากการหารืออย่างรอบด้านจึงมีมติงดตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี 2559 ซึ่งนอกจากจะเป็นหลักปฏิบัติตามธรรมเนียมที่ยึดกันมา ยังมีข้อจำกัดทางข้อกฎหมายและบรรยากาศการเมืองในภาวะที่ยังถือว่าไม่ปกติ ทั้งยังเห็นว่าหากมีการตั้งฉายารัฐบาล นายกฯ และรัฐมนตรี อาจถูกนำไปขยายความขัดแย้งหรือขยายผลในทางการเมือง จนตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ทั้งนี้ หลักปฏิบัติที่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบปฏิบัติสืบต่อกันมาว่าจะไม่ตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี กรณีที่เป็นรัฐบาลรักษาการ ภายหลังนายกฯ ประกาศยุบสภา หรือกรณีเกิดการเปลี่ยนแปลงจนรัฐบาลยังทำงานไม่ครบปี กรณีรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจหรือรัฐประหาร และกรณีสถานการณ์บ้านเมืองที่อยู่ในภาวะไม่ปกติ ซึ่งการงดตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปีของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง อาทิ ในปี 2549-2550 รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มาจากรัฐประหาร ในปี 2551 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ในปี 2556 รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากประกาศยุบสภา ในปี 2557 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการรัฐประหาร เป็นต้น

กกต.ถอย-ยอมมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้มีการปรับแก้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ… โดยยืนยันให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน กกต.จังหวัดว่า เมื่อ กรธ.ยืนยันว่าต้องมีผู้ตรวจการเลือกตั้งแล้ว กกต.ก็คงยอมรับและไม่ไปทักท้วงอีกแล้ว เพราะ กรธ.มีหน้าที่ร่างกฎหมายเมื่อเห็นเป็นอย่างไร กกต.ในฐานะ ผู้ปฏิบัติก็ต้องพร้อมดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้

นายศุภชัยกล่าวว่า ส่วนที่ตนเคยระบุว่าสำนักงาน กกต.จะรวบรวมข้อมูลและเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ระหว่างผู้ตรวจการเลือกตั้งกับ กกต.จังหวัด เพื่อส่งให้ กรธ.พิจารณาอีกครั้งนั้น ก็คงไม่ทำเสนอไปแล้ว หลังจากนี้ กกต.จะเตรียมออกกฎและระเบียบต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับกฎหมายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

หวั่นเพิ่มอำนาจกกต.-เอื้อพวกพ้อง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.ว่า เห็นด้วยกับการเพิ่มอำนาจให้ กกต.เพราะจำเป็น เพื่อให้ กกต.มีอำนาจหน้าที่ป้องกันปราบปรามการทุจริตเลือกตั้งทุกระดับให้ได้ผลมากขึ้น เพื่อให้การเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรมและชอบด้วยกฎหมาย และสนับสนุนการป้องกันปราบปรามพวกทุจริตเลือกตั้งใช้เงินซื้อเสียง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม แต่ กกต.ต้องใช้อำนาจอย่างสุจริตเที่ยงธรรมเช่นเดียวกัน เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างชอบธรรมได้รับความยอมรับจากสังคมและประชาชนโดยทั่วไป

“เมื่อ กกต.มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ควรระมัดระวังคือการที่ กกต.อาจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง เพราะในอดีตเคยมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว จึงขอฝาก กรธ.ให้พิจารณาเรื่องกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลการทำหน้าที่ของกกต.ให้เข้มข้น เช่นเดียวกับที่ให้อำนาจ กกต.เข้มข้นเพิ่มมากขึ้น” นายองอาจกล่าว

พท.ติงกรธ.เขียนกติกาไม่เป็นธรรม

นายคณิน บุญสุวรรณ ประธานคณะทำงานติดตามร่างรัฐธรรมนูญและร่างกฎหมายลูก กล่าวกรณีกรธ. จะเพิ่มมาตราใหม่ในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง บังคับให้พรรคต้องทำบัญชีจ่ายเงินเดือนส.ส. พร้อมชี้แจงที่มาของเงิน หากพบว่าแจ้งเท็จ หัวหน้าพรรคมีโทษความผิดว่า กรธ.คิดหาวิธีเล่นงานนักการเมืองและพรรค จนเกิดข้อสงสัยว่าเมื่อกฎหมายใช้บังคับ มีการเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคกี่คนที่จะรอดพ้นการติดคุก และถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และจะมีกี่พรรคที่จะรอดจากถูกยุบพรรค

นายคณินกล่าวว่า การเขียนกติกาแบบนี้ในทางวิชาการเรียกว่ากติกาที่ไม่เป็นธรรม หากเจอกรรมการที่ไม่เป็นกลางอีก การเลือกตั้งและประชาธิปไตยคงจะสาบสูญจากประเทศไทยอย่างเป็นการถาวร ซึ่งกติกาที่ไม่เป็นธรรม จะส่งผลลบต่อประชาชนและประเทศ เพราะกำหนดให้องค์กรที่มาจากการแต่งตั้งโดยไม่ยึดโยงกับประชาชน มีอำนาจควบคุมและตรวจสอบองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ว่านักการเมือง หรือพรรค หรือประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรค แต่นักการเมือง พรรคและประชาชน ไม่สามารถตรวจสอบหรือควบคุมองค์กรที่มาจากการแต่งตั้ง ทั้งองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา หรือนายกฯ คนนอกได้ จึงเรียกว่ากติกาที่ไม่เป็นธรรม และยังส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของประเทศ

ปชช.ต้องมีเครื่องมือถ่วงดุลกกต.

นายคณินกล่าวว่า นอกจากนั้นยังเกิดคำถามว่าเมื่อกรธ.กำหนดกติกาสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ไว้เข้มงวด มีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต อ้างว่าเพื่อให้ได้คนดีที่ไม่โกงมาบริหารประเทศและดูแลบ้านเมือง แต่เหตุใดจึงไม่กำหนดให้ นายกฯ และส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ส่วนประเด็นที่กรธ.หารือกับกกต. เรื่องงบลับหรือเรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ยังไม่ลงตัวกันนั้น ชี้ว่าทั้งกรธ.และกกต.จำกัดตัวเองอยู่ในกรอบความคิดที่จะเล่นงานนักการเมืองและพรรคให้อยู่หมัด โดยลืมคิดว่าประชาชน และนักการเมืองจะมีเครื่องมืออะไรที่จะใช้ตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของ กกต. ทำไมกรธ.จึงไม่คิดหาวิธีที่ประชาชนจะมีเครื่องมือตรวจสอบและถ่วงดุลการทำงานของ กกต. เหมือนในประเทศประชาธิปไตยที่เจริญแล้ว อย่างน้อยเอางบลับกกต. และงบที่จะตั้ง กกต.จังหวัดหรือผู้ตรวจการเลือกตั้ง รวมทั้งงบที่จะใช้ประชาสัมพันธ์ไปให้ประชาชนได้ทำหน้าที่ชักชวนกันไปเลือกตั้ง พร้อมรวจสอบและกระตุ้น กกต.ให้ตื่นมาดูโลกบ้างว่าก้าวหน้าถึงไหน ไม่ใช่คอยจ้องจะแจกใบเหลืองใบแดงเหมือนที่ผ่านมา

“กระบวนการทางการเมืองที่ถูกกำหนดโดยกติกาที่ไม่เป็นธรรม มีกรรมการที่ไม่เป็นกลาง คอยจ้องเล่นงานนักการเมืองและพรรคที่มาจากประชาชน แต่ยกย่องให้เกียรติองค์กรและฝ่ายการเมืองที่มาจากการแต่งตั้งเหมือนเป็นเทวดานั้น นอกจากประชาธิปไตยจะไปไม่รอดแล้ว ประเทศก็ไปไม่รอดด้วย จึงอยากขอให้ กรธ. ตั้งสติและนึกทบทวนถึงสิ่งที่ทำมาตลอดนั้นว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือของใคร หวังว่าขึ้นปีใหม่ 2560 ประชาชนคงจะได้เห็นคำตอบ” นายคณินกล่าว

“เต้น”เหน็บสนช.หวังได้นั่งส.ว.

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอรายงานเรื่องการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในวงราชการ ว่า แปลกใจ เพราะสนช.ก็เข้าสู่อำนาจจากระบบอุปถัมภ์โดยคณะรัฐประหาร และสาระของรัฐธรรมนูญที่กรธ.ยกร่าง มีรูปลักษณ์ของรัฐราชการ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของระบบดังกล่าว ข้อเสนอห้ามข้าราชการไปตีกอล์ฟ ห้ามกินเลี้ยง ดูเบามากสำหรับการแก้ปัญหานี้ เพราะไม่มีการพูดถึงปัญหาหลักการอย่างแท้จริงว่าความไม่เป็นประชาธิปไตยคือแหล่งเพาะพันธุ์และขยายผลของระบบอุปถัมภ์ ถ้ารูปแบบการปกครองไม่ใช่การลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน การพูดถึงการแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ยังเป็นเรื่องไกลความจริง

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า พิจารณาจากสภาพปัจจุบัน สังคมไทยอยู่ภายใต้กลไกของระบบอุปถัมภ์ ซึ่งกมธ.ที่ศึกษาไม่ได้พูดคุยกันหรือว่าการลดอิทธิพลของระบบอุปถัมภ์คือการเพิ่มอิทธิพลให้ประชาชน วันนี้ทุกกลไกถือคติตามใจแป๊ะ แม้แต่ในที่ประชุมสนช.ก็มองข้ามเสียงเรียกร้องของประชาชนหลายแสนคนที่คัดค้านพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะอำนาจที่ตั้งตัวเองมาต้องการให้ผ่านและมีหวังกับการได้ไปต่อในฐานะส.ว.ลากตั้งหากทำงานเข้าตา สนช.เสนอการแก้ปัญหาทั้งที่ตัวเองอยู่ตรงกลางของปัญหาแบบนี้ได้อย่างไร

“ผมเห็นด้วยกับการแก้ไขระบบอุปถัมภ์ แต่เห็นว่าจะแก้ได้จริงคือต้องสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง ถ้าคนคิดแก้ปัญหากินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง แต่ทำเป็นมองไม่เห็นความจริง คงคาดหวังกับการแก้ปัญหาไม่ได้” นาย ณัฐวุฒิกล่าว

ส่งหลักฐานชี้”มาร์ค”ทำน้ำท่วม

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีน.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธาน ได้เชิญไปให้ถ้อยคำเรื่องกล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ มีส่วนในการเกิดอุทกภัยปี 2554 ก่อนที่น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเข้ามาบริหาร โดยให้ถ้อยคำไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น ตนให้ถ้อยคำว่าถ้าป.ป.ช.จะกล่าวหาว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ทำให้น้ำท่วมเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะต้นเหตุน้ำท่วมมีมาก่อนแล้วตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำหรือพร่องน้ำ คณะอนุกรรมการจึงขอให้ส่งข้อมูลที่ยืนยันว่าน้ำท่วมเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์มาจากพยานเอกสารหรือหลักฐานใด

นายเรืองไกรกล่าวว่า จึงให้ถ้อยคำไว้ว่าหลักฐานที่อ้างถึงต่างๆ เห็นได้จากมติ ครม.ในหัวข้ออุทกภัยที่มีมาตั้งแต่ต้นปี 2553 จนถึงส.ค.2554 ที่นายอภิสิทธิ์พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งคณะอนุกรรมการได้ขอให้ส่งหลักฐานเพิ่มเติมตามมาภายหลังด้วย ดังนั้น เพื่อยืนยันการให้ถ้อยคำดังกล่าวจึงจะส่งหัวข้อมติ ครม.เรื่องอุทกภัย ที่จะเป็นหลักฐานทางราชการยืนยันว่าน้ำท่วมปี 2554 มีมาก่อนที่น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเป็นนายกฯ ให้แก่คณะอนุกรรมการป.ป.ช.ได้รับทราบอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 ธ.ค.นี้ทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ

คสช.ไม่ห่วงทบ.ถูกแฮ็กข้อมูล

พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีกลุ่มพลเมืองต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์ “Single Gateway : Thailand Internet Firewall #opsinglegateway” โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุจะเปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณบางหน่วยงานในกองทัพบกว่า ขณะนี้ยังไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ทั้งนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ผ่านวาระ 3 ไปเรียบร้อยแล้ว มีเพียงการปรับถ้อยคำเล็กน้อย จากนั้นต้องรอในส่วนของการบังคับใช้

กสม.ยันพรบ.คอมพ์กระทบสิทธิ

เวลา 13.30 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรม และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมจัดงานเสวนา “ประเทศไทยหลังพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2559” มีวิทยากรประกอบด้วย นางอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต น.ส.ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน หรือไอลอว์ และน.ส.อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA)

นางอังคณากล่าวว่า เห็นด้วยที่จะต้องปรับปรุงพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 แต่หลักการสำคัญที่ต้องดำรงอยู่คือการเคารพการแสดงความเห็นอย่างเป็นอิสระ ไม่กระทบ ผู้อื่น แต่การมีถ้อยคำว่า “ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน” ก็กว้างขวางจนอาจกระทบต่อเสรีภาพของประชาชน ต้องอย่าลืมว่าข้อห่วงกังวลคือการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่

แนะจับตาประกาศดีอี 5 ฉบับ

น.ส.สฤณีกล่าวว่า มาตรา 14 ด้วยการให้ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ร่างประกาศเบื้องต้นมีแล้ว วางหลักแยกกลุ่มผู้ประกอบการ วางขั้นตอนการร้องเรียน แต่ข้อห่วงกังวลว่าการนำเอาเนื้อหาการแจ้งเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ของอเมริกา มาปรับใช้กับของไทย ซึ่งของอเมริกาไม่มีบทลงโทษสำหรับคนที่แจ้งเตือนแล้วหลอก หลายเรื่องร้องเรียนกับบริษัทคู่แข่ง ตลอดจนมีการแจ้งเตือนเพื่อจะปิดกั้นการแสดงออก ร่างประกาศกระทรวงของเราคือใครจะแจ้งก็ได้ ต่างจากของอเมริกาที่กำหนดให้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น ผู้ที่ต้องเอาข้อมูลลงคือ ผู้ให้บริการต้องทำใน 3 วัน เสี่ยงจะกระทบต่อผู้ประกอบการเองว่าจะรับความเสี่ยงได้แค่ไหน ต้นทุนการจัดการรับเรื่องร้องเรียนจะสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก

น.ส.สฤณีกล่าวอีกว่า อยากให้ช่วยติดตามร่างประกาศกระทรวงดีอีทั้ง 5 ฉบับต่อไป ตลอดจนกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะทยอยเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. คือ กฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ต้นปีหน้า

ซัดสนช.เล่นลิเก-จ่อยื่นศาลรธน.

ด้านนายยิ่งชีพกล่าวว่า ร่างปัจจุบันมาตรา 14 ได้รับการแก้ไขแล้ว มีส่วนดีขึ้นคือ ลดโทษลงมา ให้ยอมความได้ แต่มีจุดที่เล่นลิเก คือกำหนดว่ามาตรานี้ไม่ใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งเขียนแล้วไม่มีผล ไม่ได้ต่างไปจากเดิม เข้าใจผู้ร่างต้องการแสดงความตั้งใจรับฟังข้อเรียกร้อง แต่มันสะท้อนว่าไม่ได้จริงใจการใช้มาตรานี้สำหรับการฟ้องปิดปาก มาตรา 14 ยังฟ้องร่วมกับกฎหมายอาญาฐานร่วมความผิดหมิ่นประมาทได้อยู่ดี ขึ้นอยู่กับศาลจะตีความ แต่ก็อาจมีผลให้ศาลทบทวนพิจารณามากขึ้น

“ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 44 ยกเลิกสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ซึ่งการให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.เซ็นยกเลิก มันไม่ได้ช่วยสร้างสรรค์ หลังจากนี้เราต้องมาดูว่ามันจะบังคับใช้อย่างไร นาทีนี้เรามีโอกาสยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เราขอดูการบังคับใช้ก่อนแล้วจึงค่อยยื่นศาล เพราะหากชี้มาว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็จะจบเลย” นาย ยิ่งชีพกล่าว

หวั่นใช้ปิดปากนักเคลื่อนไหว

น.ส.ฐิติรัตน์กล่าวว่า หากกฎหมายตีกรอบไว้กว้างจนบังคับใช้ไม่ได้ มันจะกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายเอง เช่น ศาลบอกว่าต้องลบข้อมูลที่ถูกชี้ว่าเป็นเท็จ ถามว่าทุกคนจะลบได้หมดจริงหรือไม่ ทั้งยังขัดขวางการเจริญเติบโตทางวิจารณญาณของคนในสังคมเอง มันเป็นโอกาสดีที่เราจะสร้างบรรทัดฐานการไม่ยอมรับสิ่งเหล่านี้ โดยไม่ต้องใช้กฎหมายเลย กฎหมายหากจะเขียนละเมิดสิทธิต้องเขียนให้ชัดเจน ระบุเห็นผลให้ชัดว่าเพราะอะไร

ด้านน.ส.อรพิณกล่าวว่า ทุกครั้งที่เรามี พ.ร.บ.คอมพ์ จะเกิดช่วงหลังรัฐประหาร สื่อมวลชนที่เคยถูกปฏิรูปช่วงปี 2535-40 ไปยืนเคียงข้างกับประชาชนส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันสมาคมสื่อเริ่มจะพึงพอใจกับกฎหมายฉบับนี้ไปแล้ว ต่างจากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่รู้สึกว่ามันมีปัญหา กฎหมายจะถูกนำไปใช้ปิดปากคำวิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐ กระทบต่อการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน เช่น บทความบีบีซีไทย มีหลายคนแชร์ แต่มีไผ่ ดาวดิน ถูกจับ โดยการใช้พ.ร.บ.คอมพ์ ที่น่าสงสัยคือเขาไม่ได้เขียน แต่กลับถูกดำเนินคดี ล่าสุดถูกเพิกถอนสิทธิประกันตัว บรรยากาศแบบนี้จะนำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเอง (Self Censorship)

โพลชี้รัฐควรเร่งชี้แจงพรบ.คอมพ์

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความเห็น เรื่อง “สงครามไซเบอร์” สำรวจวันที่ 21-23 ธ.ค. จากประชาชนทั่วประเทศ 1,501 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการต่อต้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ของกลุ่มเครือข่ายพลเมืองชาวเน็ตและแนวร่วมอีกหลายกลุ่ม ด้วยการประกาศสงครามไซเบอร์และแฮ็กเจาะข้อมูลเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง พบว่าร้อยละ 36.39 ระบุเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสม เพราะจะทำให้ประเทศเสียหาย ร้อยละ 19.90 ระบุเป็นการพิสูจน์ศักยภาพหน่วยงานภาครัฐว่าจะรับมือสงครามไซเบอร์ได้แค่ไหน ร้อยละ 17.11 เป็นวิธีที่เหมาะสม เพราะรัฐไม่ยอมฟังเสียงต้านของประชาชนบางส่วน ร้อยละ 11.44 ระบุมีการเมืองอยู่เบื้องหลังกลุ่มต่อต้าน ร้อยละ 7.53 ระบุเป็นแค่เรื่องของเด็กเกรียนต้องการแสดงศักยภาพของตัวเอง ร้อยละ 1.96 ระบุอื่นๆ ได้แก่ เป็นเรื่องผลประโยชน์ ข้อกฎหมายยังคลุมเครือ แก้ปัญหาไม่ถูกวิธี รัฐไม่ควรปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และความคิดเห็นของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต

ส่วนการดำเนินการของภาครัฐ ร้อยละ 47.53 ระบุรัฐเร่งชี้แจงพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ให้ชัดเจนจะได้ช่วยลดข้อขัดแย้งลง ร้อยละ 30.62 ระบุหาวิธีป้องกันการแฮ็กเจาะข้อมูลเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ ร้อยละ 25.46 ควรสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดดำเนินคดีตามกฎหมาย ร้อยละ 15.98 ระบุยอมอ่อนข้อประนีประนอม โดยยอมทบทวนกฎหมาย ร้อยละ 3.61 ระบุไม่ต้องสนใจและเดินหน้าประกาศใช้กฎหมาย ร้อยละ 0.82 ระบุอื่นๆ ได้แก่ รัฐบาลควรเจรจาและควรรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ควรใช้กฎหมายในทิศทางที่ถูกต้อง และร้อยละ 12.89 ไม่แน่ใจ

เผยชาวบ้านชอบรัฐบาลทหาร

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,077 คน ถึงข้อดีและข้อเสีย ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการรัฐประหาร โดยคสช. เมื่อถามถึงข้อดีของรัฐบาล คสช. พบว่าร้อยละ 82.64 มีอำนาจเด็ดขาด พูดจริงทำจริง ร้อยละ 71.31 บ้านเมืองสงบ ไม่มีการชุมนุมประท้วง และร้อยละ 65.27 ทำงานคล่องตัว แก้ปัญหาได้เร็ว ส่วนข้อเสียนั้น ร้อยละ 71.87 ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้รับการยอมรับ ร้อยละ 64.25 ขาดการคานอำนาจ ตรวจสอบไม่ได้ และร้อยละ 50.23 ไม่ค่อยรับฟังความเห็น เผด็จการ

เมื่อถามถึงข้อดีของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 80.04 มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนเลือกเอง ร้อยละ 61 มีประสบการณ์ รู้ปัญหา อยู่ในพื้นที่ และร้อยละ 52.27 สามารถตรวจสอบการทำงานได้ ส่วนข้อเสีย ร้อยละ 77.72 ทุจริตคอร์รัปชั่น ซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ร้อยละ 62.12 แบ่งพรรคแบ่งพวก ทะเลาะเบาะแว้ง และร้อยละ 59.24 นโยบายเดิมๆ ทำงานแบบเดิมๆ หน้าเก่า

เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่มาจากการรัฐประหาร กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พบว่าร้อยละ 48.84 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่มาจากการรัฐประหารดีกว่า เพราะทำงานได้เร็ว คล่องตัว มีอำนาจพิเศษ ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน มีผลงานให้เห็น ร้อยละ 23.72 ระบุรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดีกว่า เพราะมาจากเสียงของประชาชน เป็นประชาธิปไตย รู้ปัญหา มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ ร้อยละ 17.83 ดีพอๆ กัน เพราะไม่ว่าจะมาจากระบบใดก็บริหารบ้านเมืองได้ ทำงานได้ดี มีนโยบายที่ทำเพื่อประชาชน และร้อยละ 9.61 แย่พอๆกัน เพราะแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนไม่ได้ ยังมีการทุจริต ไม่โปร่งใส มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์

“วัชรพล”พ้นสนช.รวยขึ้น 5.5 ล.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานป.ป.ช. ได้เปิดเผยบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. กรณีพ้นจากสมาชิกสนช. ครบ 1 ปี โดยเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์สำนักงานป.ป.ช. แต่กลับไม่แจ้งให้สื่อทราบ ซึ่งตรวจสอบพบว่า พล.ต.อ.วัชรพล พร้อมด้วยคู่สมรส มีทรัพย์สิน 483,416,692 บาท ไม่มีหนี้สิน โดยเมื่อเทียบกับช่วงพ้นจากตำแหน่ง สนช.เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2558 ที่แจ้งว่ามีทรัพย์สิน 477,362,549 บาท มีหนี้สิน 1,264,733 บาท เท่ากับพล.ต.อ.วัชรพลและคู่สมรส มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 5,554,143 บาท และหนี้สินทั้งหมดหายไป ทั้งนี้ ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นอยู่ในส่วนของโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างประมาณ 4,750,000 บาท และยังมีทรัพย์สินอื่นที่น่าสนใจ อาทิ นาฬิกา Rolex Oyster Perpetual สุภาพสตรี 1 เรือน ที่แจ้งว่าได้มาช่วงเดือน ก.พ.2559 มูลค่า 4.5 แสนบาท ขายรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค ช่วงเดือนก.ค.2559 เป็นต้น

ยื่น”ตู่”งดใช้ม.44เร่งสายสีน้ำเงิน

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แถลงการณ์เรียกร้องให้ครม. และคสช. ระงับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือสายเฉลิมรัชมงคล ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ และในส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งจะเสนอเรื่องเข้าครม. เพื่อขอความเห็นชอบในวันที่ 27 ธ.ค.นี้ เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ได้ทำสัญญา 3 โครงการ ในลักษณะผูกขาด โดย 2 โครงการที่รัฐบาลให้ใช้วิธีการเจรจาตรงไม่ได้เปิดประมูลทั่วไป คือโครงการสายสีม่วงและโครงการสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ทั้งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เห็นด้วยกับวิธีการเจรจาตรง เท่ากับรัฐบาลทำเป็นตัวอย่างที่ขัดต่อพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2559 ในเรื่องความโปร่งใส การเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาล

นายศรีสุวรรณระบุว่า สมาคมจะไปยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ครม. รมว.คมนาคม ในวันที่ 26 ธ.ค.นี้ เวลา 11.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ระงับหรือถอนเรื่องดังกล่าวออกจากการเห็นชอบของ ครม.เพื่อให้นำกลับมาดำเนินการตามครรลองที่กฎหมายกำหนด หยุดการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนเฉพาะราย ที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากการเรียกร้องไม่เป็นผลทางสมาคมจะดำเนินการร้องต่อศาลปกครองต่อไป

นายศรีสุวรรณระบุว่า กรณี คสช.ใช้มาตรา 44 เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งปัจจุบันยังมีปัญหาเชื่อมต่อและร่วมใช้ระบบรถไฟฟ้าการพิจารณาคัดเลือกเอกชน และการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเเละเพื่อให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน โดยให้เจรจาร่วมกันกับผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลให้ดำเนินการโครงการส่วนต่อขยายและให้มีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลกับผู้รับสัมปทานดังกล่าว เพื่อให้เดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกันและกำหนดระยะเวลาการดำเนินโครงการสายสีน้ำเงินให้มีระยะเวลาดำเนินการโครงการสิ้นสุดลงพร้อมกันหรือสอดคล้องกันนั้น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนหรือเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนผู้ประกอบการรายเดียว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน