เปิดตำนาน ‘วัดพระยาทำ’ หลังเจดีย์โบราณ อายุหลายร้อยปี ถล่มทับคนงาน!

จากรณีเจดีย์ทรงหอระฆัง ของวัดพระยาทำ ถล่ม โดยพบว่า เหตุเกิดระหว่างคนงานเข้าไปทำงานใน โครงการงานบูรณะหอระฆัง ภายในวัดพระยาทำ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ถ.อรุณอมรินทร์ ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 2 โดยเจดีย์ หอระฆัง ซึ่งมีปูนปั้นรูปยักษ์รอบๆ เกิดพังลงมาทับคนงาน

เบื้องต้นมีผู้บาดเจ็บ นำส่ง รพ.ศิริราช จำนวน 11 ราย เป็นชาย9ราย หญิง2ราย ระดับความรุนแรง แดง 2 ราย เหลือง 7 ราย เขียว 2 ราย โดยผู้บาดเจ็บ สีแดง 1.ชาย 61ปี กระดูกเชิงกรานหัก 2.ชาย 58 ปี กระดูกขาซ้ายหัก มีแผลเปิด กะโหลกศีรษะร้าว

ทั้งนี้ โครงการงานบูรณะเจดีย์ หอระฆัง ภายในวัดพระยาทำ ได้เริ่มทำเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว โดยก่อนหน้านี้ ตัวเจดีย์ทรงหอระฆังได้เกิดการเอียง จึงแจ้ง ให้กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะ โดยคนงานได้ตั้งนั่งร้านเพื่อทำการดีดตัวเจดีย์ขึ้นมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร

โดยประวัติความเป็นของวัดพระยาทำนั้น เดิมชื่อ วัดนาค คู่กับ วัดกลาง ซึ่งตั้งอยู่คนละฝั่งคลองมอญ คือ วัดนาคอยู่ฝั่งเหนือ วัดกลางอยู่ฝั่งใต้ ต่อมาวัดนาค รวมกับวัดกลางเป็น วัดนาคกลาง ดังที่ปรากฏ และวัดทั้งสองนี้ต่างก็เป็นวัดโบราณ สันนิษฐานกันว่า วัดนาคสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่ยังไม่พบหลักฐานทางเอกสารว่าใครเป็นผู้สร้าง และสร้างในรัชกาลใด

ภาพจาก : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

มาในสมัยกรุงธนบุรี มีเรื่องเกี่ยวข้องกับวัดนาคปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า เมื่อราว พ.ศ. ๒๓๑๓ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปทรงปราบก๊กพระฝาง (เรือน) ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ในฝ่ายเหนือได้สำเร็จ และรับสั่งให้จับพระสงฆ์ฝ่ายเหนือที่ร่วมกับพระฝางทำความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั้งหลายมาลงพระราชอาญาตามโทษานุโทษ

ภาพจาก : Unseen Wat Thai

ภาพจาก : Unseen Wat Thai

ภาพจาก : Unseen Wat Thai

และโปรดให้สังฆการีลงมาอาราธนาพระราชาคณะและพระสงฆ์อันดับจากกรุงธนบุรีขึ้นไปบวชพระสงฆ์ไว้ในหัวเมืองเหนือทุกๆ เมือง และโปรดให้พระราชาคณะอยู่สั่งสอนพระธรรมวินัยในเมืองต่างๆ หนึ่งในนั้น มีพระรูปหนึ่งนาม “พระธรรมเจดีย์” ซึ่งจำพรรษายัง เมืองพิษณุโลก

พระธรรมเจดีย์ที่พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ไปจัดการคณะสงฆ์ที่เมืองพิษณุโลกนั้น เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดนาค มาก่อน ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระพิมลธรรม และโปรดให้ไปครองวัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ในปัจจุบัน) ๒ ข้อนี้แสดงว่า มีวัดนาคอยู่ก่อนสมัยกรุงธนบุรีแน่นอน

ในต้นรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เคยมีเรื่องให้รวมวัดนาคกับวัดกลางเข้าด้วยกัน คือ ให้มีพัทธสีมาเดียวกัน ดังความปรากฏในพระราชพงศาวดารตอนหนึ่งว่า พระพุฒาจารย์ (อยู่) ๓ วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) ปรึกษากับพระธรรมธีรราชมหามุนี (ชื่น) ๔ วัดหงส์รัตนารามแล้วนำความขึ้นถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า

“วัดนาคกับวัดกลาง ใกล้กันนัก จะมีพัทธสีมาต่างกันมีควร ควรจะมีพัทธสีมาเดียวกัน ร่วมกระทำอุโบสถสังฆกรรมในพัทธสีมาเดียวกัน” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชดำรัสให้พระราชาคณะประชุมกันพิจารณาวินิจฉัยเรื่องนี้ ในที่สุดที่ประชุมพระราชาคณะอันมีสมเด็จพระสังฆราช(ศรี) เป็นประธาน มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า วัดทั้งสองนี้มีคลองคั่นเป็นเขตอยู่ ควรมีพัทธสีมาต่างกันได้ ดังตัวอย่างมีเคยมีมาในครั้งกรุงเก่า ปรากฏว่ามตินี้ ทำให้พระพุฒาจารย์ (อยู่) ถูกลงพระราชอาญาโดยให้ถอดสมณศักดิ์ ฐานเจรจาอวดรู้กว่าผู้ใหญ่

ต่อมา ในสมัยในรัชการที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสนพระราชหฤทัยอย่างยิ่งในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เช่น ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดหลายสิบวัด และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนข้าราชการผู้ใหญ่ช่วยรับภาระบูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ด้วย ในการนี้ เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) สมุหนายก มีจิตศรัทธารับบูรณปฏิสังขรณ์วัดนาค แบบสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดทับลงในที่เดิม ครั้นเสร็จแล้วได้น้อมเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วัดนาคจึงได้เป็นพระอารามหลวง และมีนามใหม่ว่าวัดพระยาทำ หมายถึง วัดที่เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์สร้างขึ้นใหม่

และต่อมา ในต่อมาในรัชการที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมทั้งวัดอีกครั้งหนึ่ง จนมีสภาพถาวรมั่นคงมาถึงรัชการที่ ๕ พระอุโบสถ และเสนาสนะต่างๆ เริ่มชำรุดทรุดโทรมลง พระครูสุนทรากษรวิจิตร (แจ้ง) เจ้าอาวาสร่วมกับอุบาสกอุบาสิกาบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ต่อจากนั้นก็มีการบูรณะสิ่งปลูกสร้างที่ชำรุดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ขอบคุณ : watprayathum.pantown.com

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน