ยิ่งห้ามยิ่งฮิต-ยอดวิว พุ่งทะลุถึง9ล้านแล้ว อจ.จุฬาฯชี้ปมเปรี้ยง ผู้กำกับมิวสิคเปิดใจ จำลองภาพ6ตุลา19

ยิ่งห้ามยิ่งฮิต แห่คลิกฟังจ่อ 9 ล้านวิว โลกออนไลน์ติดแฮชแท็ก “ประเทศกูมี” ด้าน ปอท.สอบทั้งเนื้อหา-มิวสิค อ้างต้องรอบคอบ ยังไม่แจ้งข้อกล่าวหา ส่วน คสช.ก็สั่งสอบเบื้องหลังมีเจตนาแอบแฝงหรือไม่ ด้านนักร้องแร็พปลื้มคน แห่ให้กำลังใจ ขณะที่ผู้กำกับมิวสิคชี้ศิลปะ ไม่ทำร้ายประเทศ พร้อมชี้แจงหากถูกเรียกตัว ขณะที่พรรคการเมือง ทั้ง ปชป.-อนค.-พท. พร้อมใจจี้รัฐบาลเปิดใจกว้าง รับฟังความเห็นที่แตกต่าง “โสรัจจ์” ชี้ประเทศกูมีสะท้อนวัฒนธรรมไม่ยอมรับความจริง

แห่ติดแฮชแท็ก”ประเทศกูมี”

กลายเป็นบทเพลงที่ดังสุดในชั่วโมงนี้ไปเสียแล้ว สำหรับ “ประเทศกูมี” ของ RAP AGAINST DICTATORSHIP บทเพลงแร็พมีเนื้อหาสะท้อนสังคมและการเมือง พร้อม เอ็มวีที่ใช้เรื่องราวเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 มาเดินเรื่อง จนกลายเป็นที่ฮือฮาในสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง หลังจากได้เผยแพร่มาตั้งแต่ วันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมาและมีการติดแฮชแท็กเป็นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์นั้น ขณะที่พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ระบุจะให้ตำรวจ ปอท.ตรวจสอบว่าเนื้อหาเข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช.หรือไม่ รวมทั้ง บก.ปอท.ยังระบุว่าเอ็มวีเพลงดังกล่าวเข้าข่าย ขัดคำสั่ง คสช. และผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) รวมทั้งอาจดำเนินคดีกับผู้ที่แชร์เพลงนี้ด้วย

ปอท.สอบมิวสิค-เนื้อหาเพลง

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยูทูบ Rap Against Dictatorship ซึ่งได้เผยแพร่เพลง “ประเทศกูมี” โดยช่วงเวลา 21.30 น. พบว่ายอดผู้เข้าชมมิวสิควิดีโอเพลง ทะลุกว่า 9 ล้านวิวแล้ว ทั้งนี้ ชาวเน็ตได้ออกมาแสดงความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยระบุว่า การที่รัฐบาลออกมาแบบนี้เหมือนเป็นการโปรโมตเพลงทำให้มีคนรู้จักเพิ่มมากขึ้น และเข้าคลิกฟังเป็นจำนวนมาก

ต่อมา พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้กำกับการ กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในฐานะรองโฆษก บก.ปอท. กล่าวว่า ชุดสืบสวนอยู่ระหว่างการพิจารณากรณีมิวสิควิดีโอและเพลงแร็พประเทศกูมี ของวงใต้ดิน “RAP AGAINST DICTATORSHIP (แร็พ อะเกนสต์ ดิกเตเตอร์ชิป)” คาดว่าภายใน 1-2 วันนี้จะมีความชัดเจนว่าเนื้อหาเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” มีความผิดหรือไม่ แต่เบื้องต้นเนื้อหาของเพลงอาจ เข้าข่ายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอม พิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ” เพราะอาจกระทบกระเทือนกับเศรษฐกิจ อาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น หากพิจารณาแล้วเข้าข่ายความผิดดังกล่าวก็จะต้องมีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษและเชิญกลุ่มศิลปินที่อยู่ในคลิปเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาในคดีต่อไป ซึ่งคลิปวิดีโอเพลงนี้สังคมส่วนใหญ่มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

นักร้องแร็พดังปลื้มกำลังใจ

ขณะเดียวกัน กลุ่ม Rap Against Dictatorship โพสต์ความเคลื่อนไหวผ่านเพจ ระบุว่า สวัสดีครับ พวกเรายังปลอดภัยดีกันทุกคนนะครับ ขณะนี้ยังไม่มีการเข้าจับกุมใดๆ จาก จนท.รัฐ ตามที่มีการลือกัน แต่แน่นอนครับ สำหรับเรา ที่เป็นเพียงประชาชนตัวเล็กๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มันสร้างความกังวลใจ ให้พวกเราทุกคนเป็นอย่างมาก

แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเรายังมีกำลังใจที่จะสู้ต่อ นั่นคือกำลังใจจากประชาชนด้วยกัน ที่คอยส่งให้ ทั้งผ่าน Social Networks และสื่อรูปแบบอื่นๆ แม้ว่าหลายๆ คนจะ ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของเพลงเรา และมีความเชื่อทางการเมืองที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่พวกท่านก็ยังช่วยปกป้องเสรีภาพในการวิจารณ์ของพวกเราไว้ พวกเราได้อ่านทุกข้อความที่ท่านเขียน และขอขอบคุณทุกท่านจากใจจริง

เราเชื่อว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนว่า ไม่ว่าเรา-ประชาชน จะมีความแตกต่างกันแค่ไหน แต่พวกเราก็สามารถต่อสู้กับความไม่ถูกต้องร่วมกันได้ ขอขอบคุณทุกคนอีกครั้งครับ All People Unite RAD

ผู้กำกับเผยแนวคิดทำมิวสิค

ด้านนายธีระวัฒน์ รุจินธรรม หรือ พี่เปีย ผู้กำกับฯ และผู้วางแผนรูปแบบมิวสิควิดีโอเพลง “ประเทศกูมี” ให้สัมภาษณ์ว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่บอกเล่าความจริงที่เกี่ยวข้องกับสังคมการเมือง ซึ่งมีมานานแล้ว ทั้งจากฝั่งตะวันตก และประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 ก็มีการแต่งเพลงที่แสดงทัศนะทางสังคม เช่น เพลงเพื่อชีวิต และก็มาจนถึงปัจจุบัน

ตนคิดว่าการแสดงออกเชิงนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ศิลปินเพลงเองก็มีสิทธิ์ที่จะผลิตผลงานที่สะท้อนทัศนคติของเขา ที่มองเห็นสังคม เป็นหน้าที่ของศิลปิน ที่ต้องพูดเรื่องนี้อยู่แล้ว ศิลปะคือที่ที่ใช้ศิลปินในการสื่อสารให้กับคนทั่วไป เป็นผู้ส่งสาร ที่ต้องมีคนรับสาร หรือเสพงาน ทั้งภาพยนตร์ ละครทีวี หรือเพลง ถ้างานชิ้นนั้นไม่น่าสนใจ หรือคนที่รับสารไม่รู้สึกว่าตรงกับสิ่งที่เขาคิดอยู่ สุดท้ายกระแสก็จะเงียบ

ชี้ศิลปะไม่ทำร้ายประเทศ

นายธีระวัฒน์กล่าวต่อว่า เพลงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการวิพากษ์ผู้มีอำนาจในแบบที่เพลงแร็พทำ ส่วนตนเป็นคนกำกับวิดีโอ เพื่อเสริมการเล่าเรื่องที่ศิลปินขับร้อง พวกเราก็อยากจะพูดในสิ่งที่สะท้อนสังคมที่กำลังเกิดขึ้น อยากจะมีพื้นที่เสรีภาพในการพูด คนที่มีความเห็นที่แตกต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้ เราเป็นเพื่อนกันได้ เป็นพี่น้องกันได้ ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องมีทัศนะคติที่สอดคล้องกัน ศิลปินจึงเป็นเหมือนเนื้อดินให้กับงานศิลปะ

“หากสิ่งที่เราพูดในเพลงเป็นสิ่งที่ไม่จริง หรือไม่ไปกระตุ้นความรู้สึกของคนฟังหรือคนดู มันก็ไม่มีทางจะติดกระแส มันเหมือนเสียงที่เราตะโกนเข้าไปในความว่างเปล่า แต่หากมีคนรับและแสดงความไม่ชอบ หรือพูดในสิ่งที่ตรงข้ามกับเพลงนั้นนำเสนอ มันก็เป็นสิทธิเสรีภาพของเขา ผมมองว่างานศิลปะที่ดี มันจะโตในสังคมที่มีสิทธิเสรีภาพ ที่เราจะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้ ส่วนตัวคิดว่าอยู่ที่ความกล้าของศิลปิน บางครั้งอาจจะฟังไม่เข้าหูผู้มีอำนาจ พี่ยืนยันว่างานศิลปะมันไม่สามารถจะทำร้ายอะไรใครได้” ผู้กำกับมิวสิควิดีโอเพลงแร็พชื่อดังกล่าว

เปิดใจใส่เหตุการณ์ 6 ตุลา

นายธีระวัฒน์ กล่าวถึงแนวความคิดในการทำมิวสิควิดีโอเพลงนี้ว่า เหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 เป็นไอเดียของตนที่เสนอไป ตนมีอาชีพเป็นผู้กำกับหนัง และผู้กำกับภาพ เริ่มทำงานเกี่ยวกับภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 26 ปี คือ หนังเรื่อง 14 ตุลา คนล่าจันทร์ ออกฉายในปี พ.ศ.2544 กำกับฯ โดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล และอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ลงมือเขียนบทภาพยนตร์ด้วยตนเอง เราจึงถ่ายเหตุการณ์จำลองในช่วงนั้นอยู่แล้ว จนกระทั่ง 3 ปีผ่านไป จึงพัฒนามาเป็นหนังที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ต.ค. ตามภาพที่ปรากฏในมิวสิควิดีโอ

พี่เปียกล่าวต่อว่า เมื่อมาวิเคราะห์ถึงแก่น จะพบว่าปรากฏการณ์นี้ มันเป็นการแสดงทางกายภาพบางอย่าง ที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึก และเป็นด้านมืดที่ซ่อนอยู่ในสังคมไทย หากเรามองความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเต็มตา และตรงๆ คือ ไม่ใช่เพื่อจะให้มันเกิดขึ้นมาอีก แต่เป็นไปเพื่อเป็นบทเรียน และเรียนรู้ความจริง ความจริงด้านมืด และความจริงด้านโหดร้าย เป็นสิ่งที่เราควรจะเหลียวไปมองให้เต็มๆ ตา เมื่อเราเห็นว่าความจริงที่มันเกิดขึ้นเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ทุกวันนี้มันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอะไรเลย

พร้อมชี้แจงหากถูกเรียกตัว

“ผลงานชิ้นนี้มันจึงเป็นเหมือนการอุปมาอุปไมย ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เราจึงดีไซน์ให้มิวสิควิดีโอ เป็นเหมือนคนดูมาอยู่ตรงกลางเหตุการณ์ ผ่านการวางตำแหน่งกล้อง ที่ถ่ายไปรอบๆ ก่อนจะไปเฉลยตอนท้ายเพลงว่า สิ่งที่คนรอบๆ กำลังเชียร์ให้ทำอะไรบางอย่างอยู่ มันคือ การเอาเก้าอี้มาทำร้ายศพ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพเหตุการณ์นี้ มันกลายเป็นไอคอน (Icon) ทั้งเด็กชายที่ยืนยิ้ม และเก้าอี้ ที่มีศิลปินหลายคนหยิบยกไม่สร้างเป็นงานศิลปะ เพลงนี้เหมือนเป็นปากเสียงที่พูดแทนความรู้สึก

มองในแง่นี้คือ คุณต้องยอมรับว่า คนที่มองเรื่องเสือดำ หรืออื่นๆ ที่อยู่ในเพลง ความจริงเพลงนี้มันก็เหมือนข่าวแปะ ซึ่งคนที่มีสติปัญญาพอก็รู้ได้ว่า มันมีความอยุติธรรมเกิดขึ้น เราลองใช้ใจตัวเองวัดดูจะรู้ว่า คนทำผิดแต่ไม่ได้รับการลงโทษ ซึ่งความจริงที่อยู่ในเพลง มันอาจจะไม่ใช่ความจริงที่สวยหรู มันอาจจะแสลงหูผู้มีอำนาจ แต่เรายืนยันว่า พูดความจริงในมุมของเราเอง และมีสิทธิ์ที่จะพูดสิ่งที่เราคิด แต่ถ้าคุณมองประเทศนี้เป็นของคุณ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คุณก็จะรู้สึกว่า คนที่ทำเพลงนี้ออกมาคือ คนที่ทำร้ายประเทศ เพราะคุณมองอีกกลุ่มว่าไม่ใช่คนในประเทศ” นายธีระวัฒน์กล่าว

นายธีระวัฒน์กล่าวอีกว่า ตอนนี้ยังไม่มีใครติดต่อมาให้เรียกไปพบ แต่ก็รับรู้ข่าวสารตลอด และเตรียมใจไว้แล้ว หากต้องถูก เรียกตัว ก็พร้อมที่จะเข้าไป เพราะตนไม่คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้เป็นสิ่งที่ผิด หรือทำร้ายประเทศ เชื่อว่าเราสามารถพูดคุยกันด้วยเหตุผลได้

“โสรัจจ์”ชี้แร็พสะท้อนวัฒนธรรม

ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ประจำภาคปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ทวิตเตอร์ว่า เพลงแร็พเค้าก็มาของเค้าเรื่อยๆ “พอศรีวราห์กับพุทธิพงษ์เอามาพูดเท่านั้นแหละ ดังระเบิดเลย” เพลงแร็พไม่ได้ทำลายประเทศ แต่สร้างสรรค์อนาคตของประเทศต่างหาก ประยุทธ์จัดรายการบังคับให้คนดูมาเกือบห้าปี ยังเรียกยอดคนดูไม่ได้เท่านี้ รัฐบาลทหารกลัวเพลงแร็พมากมาย เพราะมันไปทำลายภาพที่เขาพยายามสร้างแล้วมายัดเยียดให้ประชาชนเชื่อ ภาพที่ว่าเขาเป็นฮีโร่ มาสร้างความสุขให้แก่ประเทศ เพลงประเทศกูมีสะท้อนวัฒนธรรมไม่ยอมรับความจริงของชนชั้นนำ ความจริงข้าพเจ้าไม่อยากฟัง โกรธ จะฟังแต่คำสอพลอ

“แร็พอุ๋ย”ทวีตโต้เดือด

ด้านความเคลื่อนไหวของบุคคลในแวดวงบันเทิงต่อเพลงแร็พที่ดังกระหึ่มอยู่ในโลกออนไลน์นี้ ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงชื่อดัง ได้โพสต์ความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า น่า?ไม่เป็นไรน่า จะเพลงแร็พเพลงหมอลำ ยุคนี้ เดี๋ยวก็มา เดี๋ยวก็ไป.. คนชอบก็ชม คนเกลียดก็ด่า แต่เพลงแค่นี้ทำลายชาติไม่ได้ ดอกจ้ะ

ส่วนนายนที เอกวิจิตร หรือ “อุ๋ย บุดดาเบลส” ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยได้แชร์ข้อความจากแฟนเพจ “ตบดิ้น” ที่ระบุถึงกรณีเจ้าหน้าที่จะเอาผิดผู้ทำเพลงดังกล่าวว่า เสรีภาพเป็นคนละเรื่อง กับการละเมิดกฎหมาย และหากจงใจปลุกระดมอาจมีการเลื่อนเลือกตั้ง

ต่อมามีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งคอมเมนต์ถาม อยากฟังทรรศนะพี่อุ๋ย ต่อน้องๆ ในวงการหน่อยคับ ตอนนี้คนแชร์เยอะมาก เด็กรุ่นใหม่ๆ มันจะไม่เข้าใจ

อุ๋ยตอบกลับว่า “ถ้าไม่ผิดกฎหมายก็เป็นสิทธิของเค้าครับ แต่ถ้าผิดก็ว่าไปตามกฎหมาย เสรีภาพมีขอบเขต ไม่ด่ารัฐบาล ไปด่าชาวบ้านชาวช่องยังโดนฟ้องหมิ่นประมาทเลย อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่ที่แกล้งโง่ไม่เห็นว่าเผด็จการในคราบประชาธิปไตยเป็นยังไง ถ้าน้องเค้าสนใจหาข้อมูลกันอีกสักหน่อย คงไม่โหนเรื่องเสือดำ เค้าก็ดำเนินคดีกันปกติ เรื่องปิดกั้นสื่อ มองแง่ดีน้องคงโตไม่ทันยุครัฐบาลประชาธิปไตย คุมสื่อหนักกว่านี้ พูดไปไม่ฟังหรอกครับ บางเรื่องต้องใช้เวลากว่าจะเข้าใจ ถึงมีคำว่าวัยวุฒิ”

ต่อมามีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Patchara คอมเมนต์ว่า “ด่ารัฐบาลปูกันทั้งประเทศตอนนั้นไม่เห็นโดนจับกัน พอมารัฐบาลนี้ มันตรงกับเนื้อ เพลงจริงๆ โดนเรียกซะงั้น”

พระเอกติ๊ก-เจษฎาภรณ์ก็ฟังด้วย

อุ๋ยตอบกลับว่า ไม่โดนจับแต่โดน M79 โดยเจ้าของคอมเมนต์บอกว่าเป็นเหตุผลคนละกรณีกัน แต่อุ๋ยแย้งว่า กรณีเดียวกันเลยครับ วิจารณ์รัฐบาล เอกยุทธ อัญชันบุตร ชิปปิ้งหมู ตอนพี่เด๋อจะสร้างเรื่องนายโอ๊คอ๊าค สันติบาลไปบุกบ้าน คุณคงไม่รู้ว่าลูกชายอดีตนายกฯ เอามีดกรีดหน้า Rapper ที่วิจารณ์เค้ามาแล้ว แต่เค้ากลัวอิทธิพลไงครับ เลยไม่กล้าเอาเรื่อง

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Patchara ระบุว่า หากเป็นรัฐบาลปกติจะชุมนุมได้ แต่รัฐบาลไม่ปกติชุมนุมไม่ได้วิจารณ์ไม่ได้ โดนจับปรับทัศนคติ ในเรื่องนี้อุ๋ยตอบว่า “ออกมาได้แต่โดนฆ่าไงครับ รัฐบาลนี้ก็เห็นทำการ์ตูนล้อเลียน ด่าหยาบคายกันเต็มเฟซบุ๊ก ไม่เห็นต่างกันเลย รัฐบาลประชาธิปไตยใช้กองกำลังมาฆ่าคนเห็นต่าง โดนจับติดคุกกันไปแล้ว ก็เห็นๆ อยู่”

ด้านติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี พระเอกชื่อดัง ถึงกับต้องทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “ตอนนี้ฟังเพลง #ประเทศกูมี อยู่ครับ” หลังทวีตของติ๊กถูกเผยแพร่ออกไปมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็น กดถูกใจ และรีทวีตออกไปเป็นจำนวนมาก

ฟิล์มให้กำลังใจกลุ่มแร็พ

ฟิล์ม รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ ศิลปิน-นักแสดงชื่อดัง ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านอิน สตาแกรมส่วนตัวว่า “เพลงประเทศกูมี ทุกคนควรฟังครับ แม้จะมีสิ่งที่ดีๆ อีกหลายมุมในประเทศไทย แต่นักแต่งเพลงในเพลงนี้ เลือกหยิบมุมที่มันติดอยู่ในใจคนไทยทุกคนออกมาพูดผ่านเพลงได้ดีมาก ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกๆ คนนะครับ เก่งมาก และพวกนายไม่ได้ผิดอะไร ไม่ต้องไปกลัว ประเทศ ไทยเป็นของพวกเราทุกคน เดี๋ยวไปหัดร้องก่อนนะ 55”

ฮีโร่สมจิตรแต่งแร็พโต้

ขณะที่นักมวยฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิก อย่างสมจิตร จงจอหอ ถึงกับอดไม่ได้ ลุกมาแต่งแร็พ แสดงออกถึงความรัก และความสวยงามของประเทศไทย ในอินสตาแกรมส่วนตัว มีเนื้อหาว่า (มาดูกูแร็ฟ) เพราะกูเป็นคนในแผ่นดินนี้ และกูก็รักในประเทศนี้ ถ้ากูจะพูดถึงกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองศิวิไลซ์มีวัดวาอารามมากมายที่ใครใครก็อยากเข้ามาประเทศกูมี และถ้ามองไปเหนือสิ่งดีดีเหลืออีกมากมาย ไปถึงเชียงใหม่ยันไปเชียงรายมีสิ่งดีเหลือหลายที่จะให้ไปกัน ไม่ว่าจะภาษารอยยิ้มพิมพ์ใจ หรือแหล่งท่องเที่ยวที่มีดอยสุเทพ ถ้าเลยไปเขตเชียงรายก็จะมีวัดถ้ำขุนน้ำนางนอนไปแล้วพักผ่อนสบายใจเพราะนี่คือประเทศกู ประเทศกูมี

ลงมาอีสานที่บ้านเกิดเมืองนอน เขาว่าอีสานแห้งแล้งมานานนับหลายหลายปีแต่ถ้าไปครั้งนี้มึงจะเห็นว่าบุรีรัมย์บ้านกูใครใครก็ต้องมา สนามฟุตบอลสนามแข่งรถระดับโลกและมันคือบ้านกู เพราะประเทศกูมี ถ้าลงไปทางใต้ก็จะได้อาหารอร่อยถ้าไปบ่อยบ่อยแล้วมึงจะติดใจ เพราะประเทศกูมีอะไรอีกมากมาย แต่ถ้ามึงยังไม่ได้ไปแสดงว่าไม่ได้อยู่ประเทศกู กลับมาภาคตะวันออกกูจะบอกให้มึงรู้มึงจะร้องอู้ฮู้คูนี่หรือประเทศไทยมีภูเขาน้ำตก ทะเล ที่มันไม่เคยรวนเร เพราะมันคือแผ่นดินไทย กูอยากจะบอกให้พวกมึงรู้ให้มึงได้ดูคนที่มีน้ำใจจะอยู่ไหนไหนก็ไม่เท่าประเทศไทยมึงเชื่อกู มึงลองคิดดูนะคิดดูให้ดีดีว่าประเทศใดในโลกใบนี้มีผลไม้กินตลอดปี เพราะประเทศกูมี ประเทศกูมี (แร็พมั่วๆ เพราะผมรักประเทศไทย) เฉียบ ป.ล.อยากให้ทุกคนรักประเทศไทยและอยากให้คนไทยรักกันครับ

ส่วนเพจโยชิ 300 ได้โพสต์คลิปเพลงแร็พ ที่นี่ไม่มี (ประเทศกูมี 8 bars Challenge) #ประเทศกูมี #8barsRAD จนมีคนเข้าไปกดไลก์และแสดงความคิดเห็นกันมากมาย

คสช.สั่งสอบแล้ว”ประเทศกูมี”

ด้านพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีการเผยแพร่คลิปวิดีโอเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” ผ่านในโซเชี่ยลมีเดีย ว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของ คสช.กำลังตรวจสอบกลุ่มศิลปินดังกล่าวว่าอยู่ค่ายไหน และมีเจตนาของการนำเสนอเพลงนี้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ใจ สร้างสรรค์ หรือมีเจตนาแอบแฝงหรือไม่ และต้องตรวจสอบแนวทางการทำเพลงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ที่จะต้องดูองค์ประกอบในภาพรวม

ส่วนเนื้อหาที่มีการโจมตีรัฐบาล กองทัพและ คสช.นั้น ยืนยันว่าทุกหน่วยงานพร้อมที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกพาดพิง หรือกระทบต่อองค์กรและบุคคลทั้งหมด เนื่องจากอาจมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ขอย้ำว่าฝ่ายกฎหมายไม่เคยมองข้ามในเรื่องนี้และในกรณีต่างๆ จึงพยายามบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในส่วนของกองทัพบกก็จะพยายามให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ในสิ่งที่ถูกพาดพิงหรือกระทบต่อองค์กรและบุคคล อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสังคมปัจจุบันรู้เท่าทันสื่อ เรื่องใดที่ไม่สร้างสรรค์ จะไม่อินไปตามกระแสที่เป็นเรื่องการปลุกปั่น บิดเบือนและทำลายความเชื่อถือ จึงขอให้ผู้นำเสนอและผู้บริโภคสื่อโซเชี่ยลมีเดียต้องมี ความระมัดระวัง และใช้วิจารณญาณให้มากยิ่งขึ้น

“มาร์ค”งงผิดกม.ตรงไหน

ที่สวนปาล์ม ศาลาภิรมย์ ศาลาแปดเหลี่ยม สวนลุมพินี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า บังเอิญว่าตนเป็นคนที่ฟังเพลงแร็พสากลอยู่แล้ว จึงเข้าใจแนวทางของเพลงแนวนี้ โดยเป็นความพยายามในการสะท้อนสังคม ตนเข้าใจความหลากหลายทางความคิด ส่วนใครจะชอบหรือไม่ชอบเป็นสิทธิของแต่ละคน

“ผมยังงงอยู่ว่าเรื่องที่บอกว่าทำผิดกฎหมายคือประเด็นอะไร คนที่ฟังเพลงแร็พสากลเขามองเรื่องอย่างนี้เป็นปกติ แต่ผมขอย้ำว่าไม่มีใครที่จะมีสิทธิ์ทำผิดกฎหมาย เพราะถ้าบอกว่าใครวิพากษ์วิจารณ์สังคมตัวเองแล้วเป็นผล กระทบต่อความมั่นคงมันคงไม่ใช่ แต่ความเหมาะสมนั้นเป็นความคิดของแต่ละคน เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เค้าร้อง หรือสิ่งที่เขาได้แร็พ แล้วไปถึงขั้นจำกัดสิทธิ์ ส่วนคนที่กล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายก็ต้องอธิบายว่ามันเป็นอย่างไร” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่าการที่ คสช.และรัฐบาลมองว่าเพลง “ประเทศกูมี” เกิดขึ้นมาเพื่อตีรวนนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทุกฝ่ายมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็น ส่วนตนกลับมองว่าไปทำให้คนไปเปิดดูเพลงนี้มากขึ้นทำให้ยอดวิวสูงขึ้น

ปชป.แซะเข้าสภาหนักกว่านี้

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนฟังเพลงนี้มาหลายรอบ การแร็พถึงสถานการณ์บ้านเมือง ไม่เห็นว่าเนื้อเพลงจะกระทบความมั่นคง หรือไปปลุกระดมคนตรงไหน ไม่เห็นจะผิดกฎหมายด้วย ผู้มีอำนาจต้องเข้าใจในระบอบประชาธิป ไตย ต้องแยกให้ออกระหว่างความมั่นคงของรัฐบาล อะไรคือความมั่นคงของประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ หัวหน้าคสช.เอง ยังแต่งเพลงได้ ท่านก็น่าจะเปลี่ยนแนวจากอัสนี-วสันต์มาเป็นเพลงแร็พ ดูบ้างไม่น่าเป็นเรื่องใหญ่โต ต้องเปิดกว้าง รับฟัง

“เวลาของรัฐบาลนี้ก็เหลือน้อยเต็มทน ยิ่งต้องเข้าใจ กำลังจะมีพรรคการเมืองมาเล่นในระบบ มาสนับสนุนท่านยิ่งต้องเรียนรู้ว่าเนื้อหาเพลง ไม่ได้ประสงค์ร้ายกับบ้านเมือง มันเป็นงานดนตรี ก็ประเทศกูมีจึงต้องได้ยินกันทั้งประเทศ คนแต่งเพลงยืนยันความเป็นเจ้าของประเทศของเขาด้วย ซึ่งไม่ควรจะผิด ใกล้วันเลือกตั้งแล้วบรรยากาศไม่ควรจะออกมาว่ามีการปิดกั้น ต้องทำใจหน่อย วันนี้แค่รับน้องใหม่เท่านั้น ถ้าได้เข้ามาในสภาของจริงจะหนักกว่านี้อีกเยอะ คนที่อยากเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องซ้อมความอดทนอดกลั้นเอาไว้หน่อย” นายอรรถวิชช์กล่าว

“ธนาธร”ชี้แค่วัฒนธรรมแร็พ

ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงเพลงแร็พประเทศกูมีที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ว่า วัฒนธรรมเพลงแร็พในภาพรวมถือเป็นวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ที่มาจากชนชั้นที่รายได้ต่ำ ไม่มีวิถีทางแสดงออก ดังนั้น การร้องเพลงแร็พซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใต้ดิน จึงเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจในสังคมของคนเหล่านี้ แน่นอนว่าอาจมีคำหยาบบ้าง แต่ถือเป็นวัฒนธรรมของคนกลุ่มนั้น คือ “วัฒนธรรมแร็พ”

เพลงประเทศกูมีสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราต้องเข้าใจคือ เวลาที่เผด็จการต้องการปกครองประชาชน ทำด้วยปืนทำด้วยคุกทำด้วยกฎหมายอย่างเดียวนั้นอยู่ไม่ได้นาน เพราะประชาชนจะลุกขึ้นมาต่อต้าน จึงทำหนังสือ ทำเพลง ทำหนัง ทำละคร และวัฒนธรรม นี่คืออำนาจแบบอ่อนหรือซอฟต์เพาเวอร์ที่ทำให้คนมองไม่เห็นว่าตัวเองกำลังถูกกดขี่อยู่ ซึ่งสิ่งที่ประเทศกูมีทำคือเปิดโปงวัฒนธรรมแบบนั้น เราไม่มีปืนสู้กับปืนแต่เรามีเพลงสู้กับเพลง เรามีเพลงที่ท้าทายการดำรงอยู่ของอำนาจที่ไม่เป็นธรรม แล้วนั่นคือสิ่งที่ประเทศกูมีทำ

หนุนทวงคืนสิทธิเสรีภาพ

“ผมต้องบอกว่าการแสดงความคิดเห็นที่ไปในทิศทางที่ไม่ตรงกับรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในขณะนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่เป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั่วไปที่จะแสดงความคิดเห็นได้ ยืนยันว่าพวกเราทุกคนควรมีสิทธิเสรีภาพ หลายปีที่ผ่านมาพวกเราทุกคนคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปกครองในระบอบ คสช.อย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าเราเคยใส่เสื้อสีอะไรมาก่อนก็ตามที สิทธิเสรีภาพของเราหายไป ฝ่ายค้านไม่มีในสภา ผ่านงบฯ 3 ล้านล้านโดยไม่มีการตรวจสอบ นี่คือสิทธิเสรีภาพที่หายไปของเรา ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องสนับสนุนการกลับคืนมาของสิทธิเสรีภาพในประเทศไทยอีกครั้ง

ที่สำนักงานใหญ่ ไทยซัมมิท ทาวเวอร์ ชั้น 5 พรรคอนาคตใหม่ นายธนาธรให้สัมภาษณ์ อีกครั้งถึงกระแสเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” ที่ตำรวจขู่ใช้พ.ร.บ.คอมพ์ดำเนินคดี ว่า สิทธิของแร็พเปอร์เพลงก็คือสิทธิของประชาชน ในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่ว่าความเห็นนั้นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือสวนทางกับผู้มีอำนาจทางการเมือง ที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่พึงมี เนื้อหาของเพลงไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายประเทศ เพราะประเทศจะแข็งแรงได้ต้องแข็งแรงด้วยการยอมรับความเห็นต่าง ที่ขัดแย้งกันไม่ได้ พร้อมเปรียบเทียบ เราไม่สามารถคาดหวังให้ทุกคนแต่งตัวเหมือนกัน ฟังเพลงหรือดูหนังเหมือนกัน เพราะวัฒนธรรมแบบนั้นไม่มีอยู่จริง และไม่รังสรรค์ให้เกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ หรือพลังในสังคม

“อนค.”เล็งรื้อพรบ.คอมพ์

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เชื่อว่าเนื้อเพลงไม่มีอะไรกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และถ้าเพลงแค่ 5 นาทีส่งผลให้ประเทศล่มสลายหรือขาดความมั่นคง แสดงว่าประเทศนั้นเปราะบางอย่างที่สุด ดังนั้น ถ้าบุคคลในรัฐบาลทหารฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกไม่พอใจ นั่นอาจหมายถึงเพลงนี้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลทหาร ส่วนการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ดำเนินการทางกฎหมายนั้น นี่คือสิ่งหนึ่งที่พรรคอนาคตใหม่ตั้งใจจะทำ คือเข้าไปแก้ไขบรรดากฎหมายที่ขัดต่อเสรีภาพการแสดงออกทางความคิดเห็นของประชาชน เพราะเจตนารมณ์เดิมของกฎหมายดังกล่าวคือจัดการคนที่แฮ็กข้อมูล คนที่ทำให้ข้อมูลล่ม แต่ทุกวันนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือจำกัดเสรีภาพของประชาชนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ดังนั้น เรื่องนี้เราจะแก้ไขแน่นอน

นายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวว่า ตนมองว่าที่มีหลายฝ่ายมองว่าเพลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประเทศชาติ แต่ความจริงแล้ววิธีที่ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศที่ดีที่สุด คือ การที่เรายังคงมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากประชาชน แล้วเข้ามาดำรงตำแหน่งมากกว่า 5 ปี ส่วนเนื้อหาของเพลงหากจะพูดว่าใครทำลายประเทศมากกว่า ระหว่างนักดนตรีที่ผลิตเพลงนี้กับนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส่วนตัวเห็นว่าไม่ใช่กลุ่มนักดนตรี ส่วนเนื้อหาที่มองว่าอาจรุนแรงขึ้นอยู่กับความเห็นของแต่ละบุคคลแต่ตนเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ขณะเดียวกัน กลับทำให้หลายคนมองเห็นปัญหาของสังคมไทย นับได้ว่าคนกลุ่มนี้เป็นเสียงสะท้อนของปัญหาเพื่อให้มีการแก้ไข ซึ่งสังคมต้องการคนแบบนี้

“3 มิตร”ขอแต่งบ้าง”ประเทศกูดี”

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร กล่าวว่า อยากให้มองเจตนาของคนทำเพลงนี้ว่ามีเจตนาพิเศษอะไรหรือไม่ หากไม่มีก็น่าจะทำความเข้าใจกันได้ อย่าทำอะไรให้บ้านเมืองขัดแย้งกันอีกเลย เพราะประเทศจะมีการเลือกตั้งแล้ว อยากให้บรรยากาศดี อย่าให้สังคมขัดแย้งอีกเลย ปรองดองกันดีกว่า ซึ่งเท่าที่ตนฟังนั้นมีถ้อยคำที่พอรับได้ที่เป็นข้อเท็จจริงตามสถานการณ์ในสังคม แต่บางถ้อยคำก็ทำให้ประเทศเสียหายเพราะมีการบิดเบือน ต้องคำนึงถึงส่วนนี้ด้วย ไม่ใช่นึกจะทำอะไรก็ทำโดย ไม่สนใจผลกระทบต่อประเทศเลย ทั้งนี้ ถ้าเป็นตนจะทำเพลง “ประเทศกูดี” มากกว่า เพราะประเทศไทยมีอะไรดีๆ เยอะแยะ เป็นสยามเมืองยิ้ม มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม มีวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ขนาดคนต่างชาติยังรักประเทศไทย เดินทางมาเที่ยวถึงปีละ 37 ล้านคน

อดีตกกต.โผล่แต่งแร็พโย่

ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติ ศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ว่า แต่งกลอนไม่รุ่ง เห็นทีต้องมุ่งมาแต่งเพลงแร็พ “ประเทศของผมไม่มี” โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ใครจะว่าอะไรช่างเขา ประเทศเรานั้นไม่มี ไม่มี ไอ้พวกที่ว่าโง่งม ประเทศของผมนั้นไม่มี ไม่มี โย่ โย่ โย่ โย่ นาฬิกาใส่ไม่กี่สิบเรือน ก็แค่ยืมเพื่อนมาใส่ได้ใส่ดี เสือดำเสือดาวที่ไหน พวกๆ ฝันไปว่าโดนวิสัญญี เลือกตั้งก็กำหนดวันแล้ว ไอ้พวกกลัวแห้วเลยปล่อยข่าวไม่มี ตั้งพรรคมาบังคับให้ลาออก ถ้า ผมลาออกแล้วใครจะเป็นรัฐมนตรี เรื่องดูด ส.ส.ต่างพรรค หากไม่รู้จักใครให้ดูดได้นี่

หาว่าประเทศแตกแยก ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะสียังมีหลายสี มือถือใช้ไม่ค่อยเป็น ยังอยากจะเล่นเซลฟี่ เซลฟี่ โย่ โย่ โย่ โย่ ร้องแร็พอย่ามายุแหย่ ถ้าร้องแย่ๆ เดี๋ยวแม่ใช้ ม.44 เพราะว่าเคยโดนมาแล้ว น้องเอ๋ยน้องแก้วเกรงใจบ้างซี โย่ โย่ โย่ โย่ ใครจะว่าอะไรช่างเขา ประเทศเรานั้นไม่มี ไม่มี ไอ้พวกที่ว่าโง่งม ประเทศของผมนั้นไม่มี ไม่มี”

“อ๋อย”เตือนจับกลุ่มแร็พพังแน่

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนฟังเพลงนี้ตอนเริ่มมีมิวสิควิดีโอออกมา คนดูตอนนั้นน่าจะประมาณ 1-2 แสนคน มีเพื่อนส่งให้มาดูโดยบอกว่าต้องฟัง พอฟังแล้วชอบทั้งเนื้อหาและลีลา เลยทวิตเตอร์ไปว่าชอบเพลงประเทศกูมี คิดว่าเป็นการให้กำลังใจ คนที่ทำ พอเช้าวันรุ่งขึ้นมีคนตามดูแล้วประมาณ 8 แสนคน ตนยังบอกเพื่อนว่าให้ถึง 10 ล้านเร็วๆ เพราะถึงแน่เนื่องจากเนื้อหาตรงใจคน

“ผมดูแล้วไม่เห็นจะผิดกฎหมายตรงไหนไม่ว่าจะกฎหมายอาญามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือคำสั่งคสช.เพราะว่าไม่มีอะไรที่เป็นเท็จ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ติชม และยังเป็นแนวความคิดในทางสร้างสรรค์ วิพากษ์วิจารณ์ติชอบ ผมคิดว่าการใช้มาตรการไปจับเขา จะทำให้เป็นการโฆษณาเพลงนี้ให้ดังมากขึ้น และยิ่งมีคนดูมากขึ้น จึงอยากจะบอกคสช.เพียงสั้นๆ ว่า อย่าไปจับประเทศกูมี ถ้าจับประเทศกูมีแล้วพวกคุณจะพังกันหมด” นายจาตุรนต์กล่าว

จตุพรชี้บทเรียนใช้อำนาจ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า ตอนแรกคนอาจจะไม่สนใจ มีผู้ฟังจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะเท่านั้น แต่เมื่อภาครัฐให้ความสนใจ ทำให้เกิดเป็นกระแส ให้คนตามไปดู จนทำให้ยอดวิวขึ้นอย่างรวดเร็ว ในกรณีนี้เป็นตัวอย่าง บทเรียนที่สำคัญของภาครัฐเมื่อมีความพยายามใช้อำนาจจึงเกิดการต่อต้าน และยิ่งหากมีการจับกุมตามที่ประกาศ เป็นข่าว จะยิ่งทำให้เพลงนี้เป็นที่สนใจ เป็นเพลงฮิตประจำปี ที่มียอดวิวมากที่สุด โดยที่รัฐนั่นเองเป็นคนโฆษณา เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาด้วยอำนาจ ก็ไม่ใช่ความสำเร็จเสมอไป นี่เป็นตัวอย่างของความล้มเหลว ท้ายที่สุดก็กลายเป็นไฟลามทุ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน