สุดเศร้า! “กิมย้ง” ปรมาจารย์นักเขียนนิยายกำลังภายในเสียชีวิตแล้ว ขณะอายุ 94 ปี

กิมย้งเสียชีวิต – วันที่ 30 ต.ค. สเตรทส์ไทมส์ รายงานว่า กิมย้ง หรือ จา เลี้ยงย้ง หรือ หลุยส์ ชา นักเขียนนิยายกำลังภายในจีนชื่อก้องโลก เสียชีวิตแล้ว ที่โรงพยาบาลในฮ่องกง ขณะอายุ 94 ปี

ดร. อู๋ ไว่ฉง ลูกเขยของกิมย้ง ยืนยันข่าวดังกล่าวว่า พ่อตาป่วยมาพักใหญ่แล้ว และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลฮ่องกง แซนาทอเรียม

กิมย้งเป็นนักเขียนใหญ่ที่สร้างชื่อไม่เฉพาะโลกตะวันออกเท่านั้น หากยังขยายความนิยมสู่โลกตะวันตก สื่อมวลชนอังกฤษเปรียบเทียบว่าเป็น “โทลคีนแห่งจีน” หรือ เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน เจ้าของผลงาน เดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์

เกิดเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2467 ที่เมืองไห่หนิง มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ในตระกูลบัณฑิต รักเรียนมาตั้งแต่เด็ก แต่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนตอนชั้นมัธยมฯปลาย เพราะวิจารณ์รัฐบาลชาตินิยมอย่างเปิดเผย ส่วนขั้นอุดมศึกษา เคยเรียนคณะวิชาภาษาต่างประเทศของมหาวิทยาลัยการเมืองกลางที่ฉงชิง แต่ออกก่อนจบ แล้วเข้าสอบคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยซูโจว เรียนวิชาเอกกฎหมายระหว่างประเทศ

The Standard

ในช่วงที่บ้านเมืองเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตุง กับฝ่ายประชาธิปไตยของเจียง ไคเช็ก กิมย้งจึงดิ้นรนออกจากจีน ย้ายไปอยู่ฮ่องกงในปี 2490 ต่อมาในปี 2492 เมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะ และเจียง ไคเช็กได้หนีไปตั้งหลักอยู่ที่ไต้หวัน กิมย้งตัดสินใจไม่ไปไหน อยู่ที่ฮ่องกงไปตลอด โดยทำงานทั้งหนังสือพิมพ์และภาพยนตร์

ในปี 2498 กิมย้งลองเขียนนิยายด้านยุทธจักร เรื่องแรกคือ “จือเกี่ยมอึงชิ่วลก” หรือจอมใจจอมยุทธ์ เขียนด้วยสำนวนที่สละสลวย เนื้อเรื่องอิงประวัติศาสตร์ คล้ายใช่แต่ไม่ใช่ จึงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ต่อมาได้แก่ “เพ็กฮ้วยเกี่ยม” “เซาะซัวปวยฮู้” มังกรหยก นิยายสุดคลาสสิคของกิมย้ง

กระทั่งเรื่องที่ 4 กิมย้งแจ้งเกิดเต็มตัวใน “เสี่ยเตียวเอ็งย้งตึ่ง” หรือ “มังกรหยก” เรื่องราวความรักและการผจญยุทธจักรของก้วยเจ๋ง-อึ้งย้ง ผลงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เฮียงกั้งเซียงป่อ ซึ่งคนอ่านติดกันงอมแงม บางครั้งที่กิมย้งเขียนต้นฉบับไม่ทัน จึงต้องมีมือสำรองช่วยเขียนให้ไปก่อน บางครั้งใช้ได้ บางครั้งเตลิดออกนอกลู่นอกทาง จนกิมย้งต้องโยงเรื่องกลับคืนมา

กิมย้งเสียชีวิต

กิมย้ง หรือที่ชาวฮ่องกงเรียก หลุยส์ ชา PHOTO: MACLEHOSE PRESS

หลังประสบความสำเร็จสูงสุดจากมังกรหยกภาค 1 กิมย้งมีเงินตั้งตัวชนิดเปิดหนังสือพิมพ์เป็นของตัวเอง ชื่อ “หมิงเป้า” จากนั้นจึงเขียนมังกรหยก ภาค 2 รุ่นเอี้ยก้วย-เซียวเหล่งนึ่ง” เป็นที่โด่งดังไม่แพ้กัน สามารถเลี้ยงหนังสือพิมพ์นานถึง 3 ปี จนกลายเป็นหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ที่สุดฉบับหนึ่งของฮ่องกง

กิมย้งได้รับยกย่องว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ชั้นยอด เป็นนักวิจารณ์การเมืองชั้นเยี่ยม นิยายที่เขียนยังแฝงเนื้อหาทางการเมือง โดยเฉพาะการวิจารณ์ระบบกษัตริย์ พรรคคอมมิวนิสต์ และลัทธิเชื้อชาติฮั่นเป็นใหญ่

“โกวเล้ง” เจ้าของฉายาอัจฉริยะปีศาจ นักเขียนในรุ่นเดียวกัน กล่าวถึงกิมย้งไว้ว่า “กิมย้งเป็นนักเขียนที่ข้าพเจ้านับถือที่สุดเสมอมา”

ภายหลังงานหนังสือพิมพ์ยุ่งมาก จนทำให้กิมย้งไม่มีเวลาเขียนหนังสืออีก และยุติการเขียนในปี 2515 รวมผลงานตั้งแต่ปี 2498-2515 รวมทั้งสิ้น 15 เรื่อง ได้รับการตีพิมพ์และขายได้มากกว่า 300 ล้านเล่ม ทั้งยังมีผู้มาขอซื้อลิขสิทธิ์ไปทำละครชุดและภาพยนตร์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งเวอร์ชั่น ฮ่องกง ไต้หวัน จีนแผ่นดินใหญ่ และสิงคโปร์

ละครโทรทัศน์ที่สร้างจากผลงานไตรภาคมังกรหยก ของ กิมย้ง

สรุปผลงาน 15 เรื่อง ได้แก่ 1.จอมใจจอมยุทธ์ 2.เพ็กฮ่วยเกี่ยม 3.จิ้งจอกภูเขาหิมะ 4.มังกรหยก ( ฉบับประยูร-จำลอง พิศนาคะ ใช้ชื่อมังกรหยก และว. ณ เมืองลุง ใช้ชื่อมังกรเจ้ายุทธจักร) 5.มังกรหยก ภาคสอง 6.จิ้งจอกอหังการ 7.นิยายขนาดสั้น แป๊ะเบ๊เซาไซฮวง หรือ เทพธิดาม้าขาว เป็นเรื่องที่กิมย้งปรับปรุงแก้ไขมากที่สุด 8.นิยายขนาดสั้น อวงเอียงตอ (ดาบสันนิวาส)

9.กระบี่ใจพิสุทธิ์ (มังกรสะท้านบู๊ลิ้ม) 10.ดาบมังกรหยก 11.แปดเทพอสูรมังกรฟ้า 12.เฮี้ยบแขะเฮ้ง (ลำนำจอมยุทธ์ หรือ มังกรทลายฟ้า) 13.กระบี่เย้ยยุทธจักร (เดชคัมภีร์เทวดา) 14.กระบี่นางพญา และ 15.อุ้ยเสี่ยวป้อ เป็นเรื่องสุดท้ายที่นักวิจารณ์ยกให้เป็นผลงานที่สมบูรณ์แบบที่สุด

www.gov.mo

กิมย้งมีบุคลิกส่วนตัวเป็นคนรักการอ่านมาก เรียกว่าเป็นหนอนหนังสือพันธุ์แท้ ด้วยการอุทิศตนทั้งด้านการเขียนหนังสือและทำหนังสือพิมพ์ ทำให้กิมย้งได้รับรางวัลเกียรติยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์มากมายจากประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส

นอกจากนี้ยังสร้างความฮือฮาด้วยการเข้าศึกษาระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในวัย 81 ปี และจบการศึกษาเป็นด๊อกเตอร์ พร้อมกับยังคอยดูแลกิจการหนังสือพิมพ์หมิงเป้า และนำผลงานที่เขียนไว้มาปรับปรุง

เพิ่มเพื่อนคลิกเพิ่มเพื่อนกับไลน์ข่าวสด!

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

“มังกรหยก” เบิกร่องนิยาย “กิมย้ง” รุกตลาดอังกฤษ – เทียบผู้เขียนลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์

https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_650289

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน