“มังกรหยก” เบิกร่องนิยาย “กิมย้ง” รุกตลาดอังกฤษ – เทียบผู้เขียนลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์

“มังกรหยก” – เว็บไซต์ข่าว เดอะการ์เดียนของอังกฤษ รายงานว่า นวนิยายดังกระหึ่มในโลกตะวันออก ขายได้มากกว่า 300 ล้านเล่มอย่าง “มังกรหยก” จากผู้เขียนเลื่องชื่อ กิมย้ง ที่สื่ออังกฤษเปรียบเทียบว่าเป็น “โทลคีนแห่งจีน” หรือ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ยอดนักเขียนอังกฤษเจ้าของผลงาน The Lord of the Rings กำลังเข้าตีตลาดอังกฤษ และผู้อ่านนวนิยายในโลกตะวันตก เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Legends of the Condor Heroes ประเดิมตอนแรก A Hero Born

ก่อนหน้านี้ชาวตะวันตกแทบไม่รู้จักกิมย้ง และเรื่องราวของมังกรหยก ในตอน A Hero Born (กำเนิดวีรบุรุษ) ก๊วยเจ๋ง ทั้งที่นวนิยายนี้มีผู้ทำเป็นซีรีส์โด่งดังมาแล้วหลายเวอร์ชั่น ทั้งในฮ่องกง ไต้หวันและจีนเรื่องราวของก๊วยเจ๋ง ตัวละครเอก พ่อถูกฆ่าตายตั้งแต่เขายังไม่เกิดและได้รับการเลี้ยงดูจากเผ่ามองโกล เป็นเรื่องที่มีเค้าโครงคล้ายกับ โฟรโด้ เบกกินส์ แห่ง ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์

แฟ้มภาพ กิมย้ง เมื่อปี 2547 ที่เสฉวน ปัจจุบันอายุ 93 ปีแล้ว

น.ส.แอนนา โฮล์มวู้ด นักแปลวัย 32 ปี จากเอดินบะระ สกอตแลนด์ ผู้นำนวนิยายจากโลกตะวันออกเรื่องนี้มาแปลและตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์แม็กเลฮอส เพรส กล่าวว่า งานของกิมย้งเป็นที่รู้จักและมีชาวจีนจำนวนมากที่อ่านงานกิมย้งตั้งแต่วัยรุ่น และที่สำคัญงานชิ้นเอกนี้ยังตราตรึงอยู่ในจิตใจของผู้อ่านชาวจีน

ซีรีส์มังกรหยกหลายเวอร์ชั่น / CGTN

นายปีเตอร์ บักแมน ตัวแทนด้านลิขสิทธิ์ กล่าวว่า เคยค้นหา 10 อันดับนักเขียนขายดี และพบกิมย้งติดอยู่ในท็อปเทน พร้อมยอมรับว่าตนไม่เคยอ่านงานของนักเขียนผู้นี้ สาเหตุที่ซื้อลิขสิทธิ์งานของกิมย้งมาด้วยว่า หลังจากตนคุยกับน.ส.โฮม์วู้ดก็พบเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ของนิยายเรื่องนี้เอาไปแปลเป็นภาษาอังกฤษได้

ตัวละครก๊วยเจ๋ง – อึ้งย้ง ที่ประทับใจผู้ชม / CGTN

หลังจากที่นายบักแมนซื้อลิขสิทธิ์นิยายเรื่องมังกรหยกมาก็ให้น.ส.โฮล์มวู้ดแปล หลังจากนั้นส่งให้เพื่อนเก่าของนายบักแมนอย่างนายคริสโตเฟอร์ แม็คเลฮอส เจ้าของสำนักพิมพ์และผู้เชี่ยวชาญในนวนิยายแปล อ่านดู ภายหลังตนจึงจระหนักว่า งานของกิมย้งเปรียบได้กับงานชิมนอง นักเขียนชาวฝรั่งเศส หรือนักเขียนชั้นเอกจากรัสเซียอย่าง ตอลสตอย

งานของกิมย้ง ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ แต่ก่อนหน้านี้เคยมีนิยายเรื่อง อุ้ยเสี่ยวป้อ จอมยุทธเจ้าสำราญ (The Deer and the Cauldron) แปลโดยนายจอห์น มินฟอร์ด เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ไม่ได้รับความสนใจมากเท่ากับในโลกตะวันออก

การแปลนวนิยายจีนสู่โลกตะวันตกนับเป็นงานยากเพราะเรื่องราวนวนิยายของจีนส่วนมากมักจะสอดแทรกปรัชญาจีน รวมไปถึงศาสนาเข้าไปในเนื้อเรื่องด้วย

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

: มังกรหยก 2017 อึ้งย้งสดใสแต่ไม่วายโดนเทียบเวอร์ชั่นคลาสสิค

: ประวัติกิมย้ง จากคอลัมน์รู้ไปโม้ด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน