หมอจุฬาฯ ชูงานวิจัยร่วมต่างชาติ ความหวังรักษา พิษสุนัขบ้า ในคน

พิษสุนัขบ้า – วันที่ 18 ธ.ค. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำเร็จในการวิจัยระดับทดลองเกี่ยวกับการรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข ว่า จริงๆ มีการวิจัยและดำเนินการมาประมาณ 5 ปี และพบว่ามีความเป็นไปได้ในการรักษาในสัตว์ ซึ่งจะนำไปสู่ความหวังในการรักษาผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าในอนาคต

โดยเริ่มจาก 3 วิธีการ คือ 1.การนำไวรัสมาตกแต่งพันธุกรรม และฉีดเข้าไปในน้ำของไขสันหลังสุนัข ซึ่งพบว่ามี 3 ใน 4 ที่รอดตายเกิน 1 ปี เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าจะอยู่ในสัตว์ประมาณ 1 ปี 2.ใช้ยาชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ในคนที่เป็นไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง ซึ่งพบว่ายาตัวนี้ไปออกฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสกลุ่ม RNA โดยเอามาให้หนูที่ถูกฉีดเชื้อพิษสุนัขบ้า ปรากฏว่าร้อยละ 10 หนูรอดชีวิต ส่วนหนูที่ตายก็ตายช้าจากเดิม 6 ชั่วโมง เพิ่มเป็น 48 ชั่วโมง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

“และ3 สารประกอบที่เป็นกรดอะมิโน เป็นนวัตกรรมของสิงคโปร์ ใช้กลไกลเข้าไปทำลายเปลือกไวรัส RNA วิธีนี้จะไปทำลายเปลือกหุ้มไวรัส ซึ่งมีผลต่อไวรัสที่มีอยู่ในเซลล์ของสัตว์ โดยศึกษาโดยใช้ยาตัวนี้เข้าไปทางช่องท้องของหนูติดเชื้อพิษสุนัขบ้า พบว่ารอดร้อยละ 40 ซึ่งทั้งหมดก็เป็นความร่วมมือจากต่างประเทศ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีหน่วยงานรัฐใดเข้ามาที่จะประสานหรือร่วมมือกันใดๆ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

เมื่อถามว่าการร่วมมือกับต่างประเทศจะทำให้อนาคตผลงานเป็นของต่างชาติหรือไม่ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ยังไม่ทราบถึงขั้นไหน แต่จริงๆ หากพัฒนาได้ตัวยาจะไม่แพงมาก ตอนนี้ก็จะพยายามหารือกับหน่วยงานรัฐของไทย แต่ก็ยังไม่ชัดเจนมากนัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน