เตือน ‘ชาย เมืองกรุง’ ฝุ่นละออง ทำพิษ เสี่ยงจู๋ไม่แข็ง เป็นสารพัดโรค!

วันที่ 14 ม.ค. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพและให้ความรู้ในการป้องกันตนเองจากสภาพอากาศที่มีปริมาณ ฝุ่นละออง ขนาดเล็กเกินมาตรฐานในพื้นที่กทม.และปริมณฑลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. 2561

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในวันนี้ (14 ม.ค.) ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลง

คุณภาพอากาศโดยรวมยังอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงได้มอบให้ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพ

นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแนวทางในการดูแลและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จากมลพิษในอากาศร่วมกับกทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้มาตรการทางกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535

เฝ้าระวังผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ

รวมทั้งการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพในพื้นที่ กทม. ใน 2 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจและโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด มีการสื่อสารเตือนภัยให้ประชาชนทราบความเสี่ยงและป้องกันดูแลสุขภาพของตนเองได้

ข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยาที่ได้รับรายงานในโรงพยาบาลเครือข่ายกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 3 สิงหาคม 2561 – 7 มกราคม 2562 ไม่พบว่ามีผู้ป่วย 3 กลุ่มโรคที่เฝ้าระวังสูงขึ้นผิดปกติ หรือพบเป็นกลุ่มก้อนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้แก่ หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และไม่มีรายงานผู้ที่มีอาการรุนแรง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่ เพิ่มเพื่อน

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ในกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ป่วยด้วยโรคประจำตัว เช่นโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ โรคหัวใจ

หากออกจากบ้านให้สวมหน้ากากป้องกัน และสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อยๆ หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงวี๊ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะขอให้ไปพบแพทย์

ดม ‘ฝุ่น’ มากเสี่ยงนกเขาไม่ขัน

ด้านนพ.วิทวัส ศิริประชัย อดีตแพทย์รพ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เพจ Kapooman ระบุว่า เรื่องฝุ่นควันอนุภาคขนาดโคตรเล็ก PM 2.5 ที่กำลังลอยฟุ้งทั่วเมืองหลวงในเวลานี้ นอกจากผลต่อปอดแล้ว รู้หรือไม่ว่ามันยังมีผลต่อหลอดเลือด และหัวใจโดยตรงด้วย โดยการสัมผัสสูดดมฝุ่นควัน PM 2.5 เข้าไป จะทำให้ การเสื่อมสภาพของเส้นเลือด จนเส้นเลือดเปราะแข็งหรือตีบตันเกิดไวขึ้น

ซึ่งมีงานวิจัยชัดเจนละ ว่าคนที่สัมผัส PM 2.5 เยอะๆจะเป็นโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมอง สูงกว่าคนที่ไม่ได้สัมผัสเยอะมาก

เรื่องกระปู๋นี่ก็เหมือนกัน เพราะการที่กระปู๋จะแข็งตัวได้ มันเกี่ยวข้องกับเส้นเลือด ถ้าเส้นเลือดมีปัญหา เช่น คนที่เป็นเบาหวานเยอะๆคุมไม่อยู่แล้วเส้นเลือดเริ่มเสื่อม ก็จะมีปัญหากระปู๋ไม่แข็งตัวได้ เลยมีนักวิจัยเขาไปวิจัยกันว่า การสัมผัสกับ PM 2.5 เข้าไปมันจะมีผลต่อการแข็งตัวของกระปู๋รึไม่

เบื้องต้นพบว่า การสัมผัสมลภาวะทางอากาศ แบบ PM 2.5 มีแนวโน้มว่าจะมีความสัมพันธ์กับภาวะนกเขาไม่ขัน ตอนนี้นักวิจัยเขากำลังไปวิจัยกันเพิ่มเติมเพื่อหาความสัมพันธ์กันแบบชัดๆอยู่ แต่ยังไงก็เตือนๆกันไว้ รีบแก้ไขปัญหา PM 2.5 ให้ไวๆ ก่อนที่คนกรุงจะนกเขาไม่ขันกันหมดนะแจ๊ะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน