พระราชพิธีสถาปนา ท่ามกลางสังฆสมาคม ที่วัดพระแก้ว-12 ก.พ.

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแล้ว แต่งตั้ง”สมเด็จพระมหามุนีวงศ์” วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ขึ้นเป็น”สมเด็จพระสังฆราช” องค์ที่ 20แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีหมายกำหนดการเสด็จฯ ในพระราชพิธีสถาปนาในวันอาทิตย์ที่ 12 ก.พ.นี้ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เผยเส้นทางธรรม ทรงเป็นสัทธิวิหาริกของสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 18 วัดราชบพิธฯ อีกทั้งเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพระธรรมทูตประจำที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียเมื่อปี 2516 ด้วย ด้านวิษณุ เครืองาม ระบุมีวัตรปฏิบัติงดงาม เป็นพระวิปัสสนาจารย์สายพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เผยพระราชนามที่จะใช้คือสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(อัมพร อมฺพโรมหาเถร)

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 7 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ว่า หลังจากดำเนินการตามขั้นตอนพิจารณารายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 โดยพิจารณาเสนอรายชื่อไป 5 องค์ ซึ่งหลังจากนำขึ้นทูลเกล้าฯไปแล้วนั้น ขณะนี้ได้รับแจ้งว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯประกอบพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชในวันที่ 12 ก.พ. เวลา 17.00 น. ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

“ขออย่าขัดแย้ง ไม่ใช่ว่าองค์อื่นดีหรือไม่ดี ผมเคยบอกไปว่าต้องดูเรื่องงานและเรื่องต่างๆ และเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ที่พระองค์ทรงพิจารณาเอง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชว่า ตามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2556 เป็นเหตุให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง บัดนี้ มีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง จักได้สนองและดำเนินการเพื่อให้พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่เป็นไปโดยเรียบร้อยตามพระราชประเพณีต่อไป จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ท้องสนามหลวง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวภายหลังเยี่ยมชมนิทรรศการ เย็นศิระเพราะพระบริบาลว่า วันนี้ตนได้ชี้แจงเรื่องการสถาปนาแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 กับสื่อมวลชนไปแล้ว ซึ่งต่อไปนี้ถือว่าบ้านเมืองจะได้สงบสุข

สำหรับกำหนดการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จะมีขึ้นในวันที่ 12 ก.พ. ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เวลา 16.50 น. จะนิมนต์สมเด็จพระราชาคณะ กรรมการมหาเถรสมาคม และพระสังฆาธิการทั่วราชอาณาจักร เข้าร่วมพิธี

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่า สำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น หากเป็นพระบรมวงศ์ จะได้รับการโปรดเกล้าฯ ถวายพระราชทานราชทินนามว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า หรือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ส่วนสมเด็จพระสังฆราช ที่มาจากสามัญชน จะได้รับการโปรดเกล้าฯ ถวายพระราชทาน ราชทินนาม ว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช มีเพียงสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้นที่มาจากสามัญชน แต่ได้รับโปรดเกล้าฯ ถวายพระราชทานราชทินนามว่า สมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งเป็นราชทินนามที่พระราชทานเป็นการเฉพาะ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่บริเวณกุฏิสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น มีคณะสงฆ์วัดราชบพิธฯ และเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร เข้ามาปรับปรุงซ่อมแซม-ทาสีกุฏิ พร้อมทั้งมีการนำต้นไม้มาประดับตกแต่งด้านหน้ากุฏิให้สวยงาม จากการสอบถามพระภายในวัดราชบพิธฯ ทราบว่า ในช่วงที่ปรับปรุงกุฏิ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ไม่ได้พำนักในสถานที่แห่งนี้ เนื่องจากจะมีฝุ่นละอองและกลิ่นสีทินเนอร์ เกรงว่าจะทำให้ท่านหายใจไม่สะดวก ได้รับอันตรายจากฝุ่นควัน ท่านจึงย้ายไปพำนักที่กุฏิอื่นเป็นการชั่วคราว

เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ว่า ขณะนี้หนังสือทางการยังมาไม่ถึง แต่ได้รับทราบเรื่องแล้ว ส่วนขั้นตอนต่อไปคือการมีพระราชพิธีสถาปนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นวันอาทิตย์ที่ 12 ก.พ.นี้ เวลา 17.00 น.ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามแบบของการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชทุกครั้งที่ผ่านมา ในพิธีเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานหรือถวายพระสุพรรณบัฏหรือชื่อที่จารึกลงในแผ่นทอง พัดยศ เครื่องสมณบริขาร หรือเครื่องยศสมเด็จพระสังฆราช และหัวใจสำคัญคืออาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เป็นอันเสร็จพิธี ขณะนี้สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จนกว่าจะมีพระราชพิธีสถาปนา

นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับพระนามของสมเด็จพระสังฆราช นับตั้งแต่ต้นกรุงรัตน โกสินทร์ 18 รูป มีชื่อเหมือนกันหมด เมื่อได้รับการสถาปนาคือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ แปลว่า พระผู้เสด็จไปดีแล้ว แล้ววงเล็บชื่อเดิม เช่น สมเด็จพระสังฆราชวัดสระเกศ องค์ที่ 15 เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโยมหาเถระ) ส่วนสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 มีพระนามเดิมคือสมเด็จพระญาณสังวร เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนเป็นสมเด็จพระสังฆราช จึงให้ใช้พระนามเดิมคือสมเด็จพระญาณสังวร เป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก และสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ที่จะสถาปนาไม่ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้มีพระนามใหม่อย่างอื่น จึงใช้พระนามตามแบบเดิมคือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโรมหาเถร)

ผู้สื่อข่าวถามถึงวัตรปฏิบัติของสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 นายวิษณุกล่าวว่า วัตรปฏิบัติของสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 นั้น คงไม่ต้องกล่าวอะไรมาก ท่านมีอายุ 89 ปี พรรษา 69 และเป็นศิษย์ที่เลื่อมใสศรัทธามากของ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร ที่ผ่านมาเรามีสมเด็จพระราชาคณะทั้งหมด 8 รูป เป็นฝ่ายธรรมยุต 4 รูป ฝ่ายมหานิกาย 4 รูป เมื่อเรียงลำดับโดยอาวุโสของสมณศักดิ์ คือการเป็นสมเด็จก่อนหลัง ลำดับที่หนึ่งคือเจ้าประคุณสมเด็จวัดปากน้ำ รูปที่สองเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศ์ รูปที่สาม เจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธฯ ที่รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีอาวุโสลำดับที่สาม แต่โดยเหตุที่รูปที่สองอาพาธมานานและเจริญชนมายุสูง 99 ปี ขณะที่สมเด็จพระสังฆราชที่ได้รับการโปรดสถาปนานั้น เป็นสมเด็จพระราชาคณะเป็นเวลานาน มีวัตรปฏิบัติเป็นที่เคารพนับถือเลื่อมใสสมถะ ส่วนรายละเอียดจริงๆ ศิษยานุศิษย์คงช่วยกันพูดต่อ ตนไปตอบไม่ถูก

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ มีนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2470 ที่ ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี บิดา-มารดา ชื่อ นายนับและนางตาล ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย ช่วงวัยเยาว์ เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

ต่อมา เข้าพิธีบรรพชา เมื่อปี พ.ศ.2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี มีพระธรรมเสนานี (เงิน นันโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นย้ายไปอยู่ที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม พ.ศ.2483 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ.2484 สอบได้นักธรรมชั้นโท

พ.ศ.2486 สอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค พ.ศ.2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค กระทั่งปี พ.ศ.2490 ย้ายมาอยู่ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) และให้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2491 ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธฯ มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมปาโมกข์ เป็นพระอุปัชฌาย์, สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ พ.ศ.2491 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ.2493 สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษา รุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ.2500 ต่อมา พ.ศ.2509 เข้าอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี พ.ศ.2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ พ.ศ.2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

ย้อนหลังกลับไปในช่วงปี พ.ศ.2516 ท่านเป็นหัวหน้าพระธรรมทูต นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยมีพระขันติมาโล ชาวอังกฤษ เป็นสหธรรมิก พร้อมไวยาวัจกร ตามคำนิมนต์ของมิสเตอร์ไนท์ ประธานพุทธสมาคมแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ได้วางรากฐานพระพุทธศาสนา ตลอดถึงเป็นเนติให้สหธรรมิกที่มาภายหลังได้เผยแผ่ อย่างเป็นรูปแบบ ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท มีความมั่นคง มีวัดและพระสงฆ์อยู่ประจำรัฐแห่งนี้ ก่อนขยายไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมือง อาทิ กรุงแคนเบอร์รา นครเมลเบิร์น และเมืองดาร์วิน เป็นต้น

งานด้านสาธารณูปการ เป็นประธานอำนวยการฝ่ายบรรพชิต พระมหาธาตุเจดีย์และเขตพุทธาวาสเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และฉลองมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วัดธัมมธโร กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย และเป็นประธานสร้างวัดแหล่งทองแดงพรหมสราราม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม เป็นต้น

ส่วนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านเป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ 2 ผู้นำพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ไปเผยแผ่ในประเทศออสเตรเลีย และเป็นรองประธานกรรมการที่ปรึกษาสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2514 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปริยัติกวี พ.ศ.2524 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารสุธี พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธาภรณ์ พ.ศ.2538 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเมธาภรณ์ พ.ศ.2543 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ ในราชทินนามที่ พระสาสนโสภณ วันที่ 5 ธันวาคม 2552 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์ วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี”

ปัจจุบันสิริอายุ 89 ปี พรรษา 68 เกิดปีเดียวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพียงแต่แก่เดือนกว่า 5 เดือน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน