หมอนักอนุรักษ์ ช็อกอีไอเอ เหมืองแร่สระบุรี สุดห่วย ไม่มีสัตว์ที่อยู่ในนิเวศเขาหินปูนเลย !!

“หมอหม่อง” นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หมอนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เขียนแสดงความคิดเห็นเรื่องที่ ครม. มีมติอนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าทับกวาง และป่ามวกเหล็ก จ.สระบุรี เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ความว่า

เมื่อวานนี้ผมได้มีโอกาสไปพูดคุยกับทางทีมปูนซีเมนต์ไทย เพื่อรับฟังข้อมูล และให้ข้อเสนอแนะ ในประเด็นผลกระทบเหมืองปูนต่อความหลากหลายชีวภาพเขาหินปูน ในส่วนของพื้นที่ป่าสงวนที่ ครม.อนุมัติ ต่ออายุให้เข้าทำประโยชน์เพิ่ม

ทางบริษัทได้บรรยายชี้แจง แผนฟื้นฟูเหมืองปูนที่ได้ดำเนินการกับเหมืองปัจจุบันที่ทำอยู่ ฟังแล้วก็เห็นได้ถึงความตั้งใจอย่างมากของ SCG ในการฟื้นฟูสภาพเหมืองที่ใช้ประโยชน์ไปแล้ว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

แต่เมื่อผมขอดู บางส่วนของ EIA (รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ของโครงการที่ได้รับการอนุมัติโดย สผ. ในส่วนที่เป็นรายชื่อพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ที่สำรวจพบในพื้นที่ได้รับประทานบัตรเพิ่ม

บอกได้คำเดียวว่า ช็อก

เพราะ รายชื่อ สัตว์ ที่แสดงในรายการ แทบไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับ นิเวศเขาหินปูนเลย ไม่มี เลียงผา ไม่มี นกถิ่นเดียวอย่างจู๋เต้นสระบุรี และ ไม่มี สัตว์ในระบบถ้ำ เข่น ตุ๊กกาย หอยทากเฉพาะถิ่น เลย

ดูแล้วเหมือนกับสำรวจจากแถวๆ บ้านพักคนงาน โดย พวกมือสมัครเล่น

แม้ทางกฏหมาย แผนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA (เพิ่งรู้ว่า การทำเหมืองปูน ไม่ต้องทำ EHIA ทำแค่ EIA ก็พอ…บ้าไปแล้ว) ผ่านความเห็นชอบไปแล้ว

แต่จะเป็นเรื่องน่าเศร้ามากสำหรับบริษัทที่มีภาพลักษณ์เป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน จะอ้างความชอบธรรม EIA นี้ เพราะคุณภาพมันห่วยสุดๆ และเป็นเพียง minimum requirement ตามกฎหมายเท่านั้น

ที่สำคัญ หากจะมีแผนการจัดการเพื่อลดผลกระทบใดๆ Species list อย่างเดียวไม่เพียงพอ เราต้องรู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน โดยเฉพาะระบบถ้ำที่สำคัญอยู่ตรงไหน มีสัตว์หายากอะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง ในพื้นที่ประทานบัตรทั้งหมด

แต่เขาไม่รู้เลยว่าอะไร อยู่ตรงไหน แล้วขีดลากพื้นที่ตามสะดวกในห้องแอร์ วางแผนแบบนี้คงไม่สามารถลดผลกระทบได้ดังอ้าง มาตราฐานการดำเนินธุรกิจของเขา เอาแค่นั้น ก็เสียชื่อ SCG แย่

สรุปข้อเสนอแนะ 3 ประเด็น ของพวกเราคือ

1.สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มเติม และให้ครอบคลุมพื้นที่ที่สามารถเป็นตัวแทนจำนวนพื้นที่ทั้งหมดได้อย่างน่าเชื่อถือ

2.กำหนดพื้นที่ที่พบความหลากหลายทางชีวภาพที่มีนัยสำคัญ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำเหมือง

3.จัดทำแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศน์ (ecological corridor) ในจุดที่จะช่วยส่งเสริมความอยู่รอดของสัตว์และความหลากหลายทางชีวภาพ

ทั้งนี้ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย ต้องทำการสำรวจใหม่โดยใช้คนที่รู้เรื่องนิเวศเขาหินปูนจริง ที่มีอยู่หยิบมือเดียวในประเทศ เราจะช่วยเสนอรายชื่อให้เขา พร้อมกันนี้ ผมเสนอให้ทำ ทางเชื่อมต่อสัตว์ป่า (wildlife corridor ) เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตดำรงเผ่าพันธุ์สำหรับสัตว์ใหญ่ อย่างเลียงผา

อ่านต้นฉบับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน