เร่งศึกษา ค่าผ่านทางเข้าเมืองชั้นใน นำร่อง ถ.สุขุมวิท-อโศก กระตุ้นใช้รถสาธารณะ

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผย ว่า สนข. อยู่ระหว่างจัดทำการศึกษาเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการขับรถยนต์ส่วนตัวเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดในเมืองรวมทั้งจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น เบื้องต้น สนข.จะศึกษาขอบเขตของการทำการศึกษาก่อน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หลังจากนั้นจะดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ของโครงการต่ออีก 1 ปี คาดว่าจะได้ข้อสรุปผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ในช่วงกลางปี 2563

เบื้องต้น สนข.จะศึกษาโดยเปรียบเทียบกับ แนวทางการดำเนินงานของประเทศที่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในปัจจุบัน เช่น สวีเดน, สิงคโปร์ และมหานครนิวยอร์กในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่งประกาศเก็บค่าธรรมเนียมไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยแต่ละแห่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน จึงต้องนำจุดดีและปัญหาที่เกิดขึ้นกับแต่ละแห่ง มาวางแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศไทย ทั้งประเด็นเรื่องการต่อต้าน มาตรการจูงใจ อัตราค่าธรรมเนียม เป็นต้น

นายสราวุธ กล่าวว่า สนข. ยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ในการศึกษาครั้งนี้ด้วย เพราะ GIZ สนใจเรื่องปัญหามลพิษ และที่ปรึกษาของ GIZ ก็เคยช่วยวางแนวทางการเก็บค่าธรรมเนียมในมหานครนิวยอร์กด้วย

“เบื้องต้นอาจจะใช้พื้นที่บริเวณอโศกและสุขุมวิท เป็นพื้นที่นำร่องในการศึกษา เพราะเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาจราจรติดขัดและมีรถไฟฟ้าให้บริการ ซึ่งการเก็บค่าธรรมเนียมการขับรถยนต์จะทำให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่ได้ยากขึ้น จึงต้องเลือกบริเวณที่มีระบบขนส่งสาธารณะทางเลือกอื่นที่พร้อมด้วย”

สำหรับรูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอาจจะใช้วิธีติดกล้องวงจรปิดและบันทึกป้ายทะเบียนของรถยนต์ที่เข้า-ออก จากนั้นจะส่งบิลเรียกเก็บค่าธรรมเนียมไปให้เจ้าของรถยนต์ช่วงปลายเดือน โดยจะยกเว้นไม่เก็บค่าธรรมเนียมจากรถขนส่งสาธารณะ เช่น รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) และรถแท็กซี่ ด้านอัตราเก็บค่าธรรมเนียมยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

อย่างไรก็ตาม สนข. จะมีมาตรการดูแลประชาชนในพื้นที่ที่ถูกเก็บค่าธรรมเนียมควบคู่กันไปด้วย เช่น ผู้ที่อยู่อาศัยหรือทำงานในบริเวณดังกล่าว เพราะต้องเดินทางเข้าออกพื้นที่เป็นประจำ แนวทางคือ นำเงินไปอุดหนุนค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย รวมถึงจัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และพัฒนาพื้นที่ที่ถูกเก็บค่าธรรมเนียมอย่างเป็นรูปธรรม

นายสราวุธ กล่าวว่า สำหรับค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้ จะถูกนำไปจัดตั้งเป็นกองทุนใหม่ ที่มีภาครัฐเป็นผู้ดูแล โดยเงินกองทุนจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนส่วนที่ 1 วงเงินที่นำไปดูแลประชาชนในพื้นที่ที่ถูกเก็บค่าธรรมเนียม ส่วนที่ 2 วงเงินที่นำไปดูแลสังคมในภาพรวม เช่น การลงทุนสิ่งอำนวยความสะดวก, สร้างที่จอดรถยนต์เพิ่ม, ซื้อรถเมล์ไฟฟ้าที่มีมลพิษต่ำ ถ้าหากวงเงินมากพอก็อาจนำไปลงทุนรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวคิดทั้งหมดยังเป็นเพียงการศึกษา ถ้าหากรัฐบาลเห็นว่าผลการศึกษาที่แล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2563 เป็นแนวคิดที่ดี สนข. จะเสนอผลการศึกษาให้กระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจาราอนุมัติ และออกเป็นมาตตรการบังคับใช้ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน