เลขาฯ อย. ยกย่อง ‘อ.เดชา’ ตัวอย่างเคสทำถูกกม. รับแจ้งครอบครองก่อนวันที่ ‘9 พ.ค.’ อาจารย์จุฬาฯ เสนอ ตั้งตัวกลางประสานความร่วมมือดึงกัญชาขึ้นมาบนดิน

เลขาฯ อย. – หลังจากเครือข่ายกัญชาทางการแพทย์ มี 3 มหาวิทยาลัย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยรังสิต ผนึกกำลังดันน้ำมันกัญชาสูตรนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เข้าสู่โครงการวิจัยและเตรียมเสนอขออนุญาตคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ที่มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นเลขานุการในช่วงเดือนพ.ค.นี้ ขณะที่อาจารย์จุฬาฯ กังวลว่า หลังจากครบกำหนดนิรโทษกรรมครอบครองกัญชาในวันที่ 19 พ.ค. 2562 จะส่งผลให้ผู้ป่วยขาดยาที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือไม่ เนื่องจากคนมาแจ้งครอบครองไม่มาก และยังมีการจับกุมอยู่นั้น

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 19 เม.ย. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดให้มีการแจ้งครอบครองตามกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ขอให้แจ้งข้อเท็จจริงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบและเป็นประโยชน์ต่อผู้แจ้งเอง ซึ่งกำหนดไว้ภายใน 90 วัน

ใครมาแจ้งจะถูกละเว้นโทษ โดยจะครบกำหนดในวันที่ 19 พ.ค. 2562 หากมาแจ้งหลังจากนี้จะไม่สามารถดำเนินการได้อีก ดังนั้นในส่วนของผู้ป่วยที่รับกัญชาอยู่ เมื่อมีใบรับรองว่าป่วย โดยไม่ต้องรับรองว่าต้องใช้กัญชารักษาโรค ขอให้มาแจ้งการครอบครองกัญชาเพื่อทางการแพทย์ได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่ตนเองอยู่อาศัย หรือที่กรุงเทพฯ ติดต่อแจ้งครอบครองได้ที่ อย. โดยขอให้มาดำเนินการก่อนวันที่ 19 พ.ค.นี้

“ประเด็นผู้ป่วย ไม่ใช่ว่ากฎหมายจะจำเพาะให้ครอบครองแค่วันที่ 19 พ.ค.เท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้ใช้รักษาได้ต่อเนื่องยาวออกไปอีก ในกรณีที่ผู้ป่วยกังวลว่า จะไม่มียา หรือภาครัฐจะผลิตให้ไม่ทัน หรือโครงการวิจัยที่ร่วมมือกันอาจผลิตออกมาไม่ได้ในเร็วๆ นี้ ก็สามารถมายื่นขอครอบครองการใช้ และระบุจำนวน เวลายาวออกไปประมาณ 3 เดือน หรือ 6 เดือนได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละราย ขณะที่ในส่วนของภาครัฐ ได้มีการประสานกันแล้วว่า จะต้องดำเนินการผลิตน้ำมันกัญชา ทั้งส่วนขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) และในส่วนของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ก็มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องในการผลิตตรงส่วนนี้” นพ.ธเรศ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะดำเนินการอย่างไรให้คนมาแจ้งขึ้นทะเบียนมากขึ้น นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้ก็ประชาสัมพันธ์ และมีองค์กรที่เชื่อมประสานกันอยู่ให้ชมรมใต้ดิน หรือกลุ่มคนต่างๆ ที่ใช้อยู่ ให้ขึ้นมาแจ้งครอบครอง ส่วนผู้ที่ผลิต ก็ต้องมาแจ้ง และขออนุญาตตามกฎหมาย ตัวอย่างของอาจารย์เดชา ถือเป็นตัวอย่างของความร่วมมือจากการใช้ใต้ดิน มาสู่บนดินด้วยความร่วมมือจากภาครัฐ จากมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก และน่าจะเป็นตัวอย่างให้เคสอื่นๆ ได้ด้วย

เมื่อถามว่ายังมีข้อกังวลเรื่องผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์จะผลิตได้ทันหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ โดยทางสำนักงานคระกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ก็อนุญาตให้ทางองค์กรรัฐ มหาวิทยาลัยที่ทำโครงการวิจัยสามารถมาขอใช้ของกลางที่มีความปลอดภัย เพื่อนำมาผลิตเป็นยาได้ด้วย

เมื่อถามว่ากรณีนพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์จุฬาฯ เสนอว่าต้องมีองค์กรกลางในการประสานให้ชมรมใต้ดินขึ้นมาและเกิดเป็นความร่วมมือ นพ.ธเรศ กล่าวว่า หากเป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมาย โดยเป็นความร่วมมือกับภาครัฐ มหาวิทยาลัยต่างๆ เหมือนกรณีอาจารย์เดชา ย่อมสามารถดำเนินการได้ และถือเป็นเรื่องที่ดีด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน