อาลัย ศ.ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ปรมาจารย์ไทยศึกษา ถึงแก่อนิจกรรม สิริอายุ 100 ปี

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ประเภทวิชาประวัติศาสตร์ สาขาโบราณคดี และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2531 ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบด้วยโรคชรา ที่บ้านพักภายในซอยท่านผู้หญิงพหล ย่านงามวงศ์วาน เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. สิริอายุรวม 100 ปี โดยเพิ่งผ่านวันครบรอบวันเกิด 100 ปี ไปเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ กำหนดการรดน้ำศพในวันเสาร์ที่ 11 พ.ค. 2562 ตั้งแต่เวลา 15.00 น.เป็นต้นไป ณ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กทม.

ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร เกิดเมื่อวันที่ 21 มี.ค. พ.ศ.2461 ที่จังหวัดแพร่ เป็นบุตรของนายบุญเรืองและนางกิมไล้ เรียนหนังสือที่โรงเรียนนารีรัตน์แพร่ โรงเรียนพิริยาลัยแพร่ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เชียงใหม่ และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ ตามลำดับ

ต่อมา ได้ทุน ก.พ.ไปเรียนปริญญาตรีด้านวิศวกรรมเกษตรที่ ม.ฟิลิปปินส์ จนสำเร็จการศึกษา พ.ศ.2486 ได้ปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิต พ.ศ.2496 และ พ.ศ.2500 ได้ทุน ก.พ. สำเร็จปริญญาโทและเอกทางสถิติจาก ม.คอร์แนล สหรัฐ ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาต่างๆ จากหลายมหาวิทยาลัย ทั้งอักษรศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี รวมถึงดนตรี

เข้ารับราชการเมื่อ พ.ศ.2482 ตำแหน่งนักเกษตรผู้ช่วยโท แผนกปฐพีวิทยา และอาจารย์วิทยาลัยเกษตร บางเขน กรมเกษตรและการประมง เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการ, รองอธิการบดี ม.เกษตรศาสตร์ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย และอื่นๆ อีกมากมาย เคยเป็นอาจารย์พิเศษวิชาประวัติศาสตร์ภาษาถิ่นไทย การอ่านศิลาจารึกสุโขทัย และล้านนา พันธุศาสตร์ประชากร ที่ ม.เกษตรศาสตร์, ศรีนครินทรวิโรฒ และ ม.ศิลปากร

ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย อาทิ แผ่นเสียงทองคำ ประพันธ์เนื้อเพลง, นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สำนักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2531, กิตติเมธี สาขาศิลปศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ.2531-2533, ได้รับพระราชทานพระเกี้ยวทองคำ ในฐานะผู้ส่งเสริมภาษาไทยดีเด่น พ.ศ.2532, รับโล่เกียรติยศ ผู้สร้างความก้าวหน้าทางวิชาการ พันธุศาสตร์ สมาคมพันธุศาสตร์ แห่งประเทศไทย พ.ศ.2540 และเมื่อ พ.ศ.2544 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งชื่อโรงละคร สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตรว่า โรงละคร “ประเสริฐ ณ นคร” เป็นต้น

มีผลงานสร้างรากฐานการศึกษาด้านภาษา จารึก และเอกสารโบราณจำนวนมาก อาทิ ถิ่นเดิมและตระกูลภาษาไท, การสืบค้นภาษาไทในเมืองจีน, ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก, เล่าเรื่องในไตรภูมิพระร่วง, หลักการสอบค้นเมืองสมัยสุโขทัย, ประวัติศาสตร์ล้านนาจากจารึก และความเห็นเรื่องจารึกพ่อขุนรามคำแหง เป็นต้น

 

ที่มา มติชนออนไลน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน