ชิน-ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย : ช่างภาพสายอนุรักษ์ ถ่ายภาพเรื่องราวของทะเล เล่าความจริงให้ซื่อสัตย์ที่สุด โดยหวังว่ามันจะมีพลังเพียงพอในการเข้าถึงผู้คนให้หันมาสนใจและเริ่มการเปลี่ยนแปลง

ความรู้สึกตะหงิดใจ เวลาจะขอถุงพลาสติกเพื่อใส่สินค้าที่เราซื้อ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนมันคงเป็นเรื่องปกติ และยอมรับได้ แต่ปัจจุบันเชื่อว่าหลายคนในสังคมเริ่มมีความตระหนัก และรู้สึกไม่ดีกับพฤติกรรมไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

โครงการรณรงค์ลดใช้พลาสติก หรือผลิตภัณฑ์ที่จะส่งผลทางลบต่อธรรมชาติเริ่มเกิดขึ้นมากมาย การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และภาพน่าหดหู่ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสายตาของเรา จนต้องหันกลับมาถามตัวเองว่า ‘ที่ผ่านมาเราทำอะไรลงไปบ้างกับโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่’

ชิน – ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย อายุ 31 ปี ผู้ผันตัวเองจากนักวิจัยสู่ช่างภาพอิสระเชิงอนุรักษ์ทางทะเล ชายหนุ่มที่ใช้พลังขับเคลื่อนทำงานที่ตัวเองรัก วิ่งหนีออกจากเมืองสู่ธรรมชาติ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ธรรมชาติที่พูดไม่ได้

บทสนทนานี้เกิดขึ้นที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านเอกมัย คุณชินเล่าว่าร้านนี้เป็นแหล่งรวมตัวของนักดำน้ำ และช่างภาพด้านสิ่งแวดล้อม ที่นัดกันมาเมื่อเข้ากรุงเทพฯ พูดคุยสังสรรค์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในช่วงที่ผ่านมา เริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวที่มาที่ไปของตัวเองกันก่อน

ปัจจุบันเป็นช่างภาพให้ National Geographic Thailand ด้านสารคดีทางทะเล ซึ่งล่าสุดได้ไปทำงานร่วมกับกลุ่มพิทักษ์ดุหยง (พะยูน) เกาะลิบง จ.ตรัง อาสาสมัครในพื้นที่ที่รวมตัวเพื่อดูแลพะยูน

มาเรียม พะยูนน้อยกำพร้าแม่เคี้ยวหญ้าทะเลที่ถูกป้อนโดนสัตวแพทย์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่เกาะลิบง FB: Shin Arunrugstichai Photography

ในภาพคือการประคองลูกพะยูนวัยประมาณ 1 ขวบ กำลังกินนม และหญ้าทะเล ซึ่งลูกพะยูนตัวนี้คุ้นเคยกับคนมาก หลังจากป้อนอาหารเสร็จก็หลับคามือพี่เลี้ยงเลย (หัวเราะแบบเอ็นดู) ระหว่างนั้นก็กรนอย่างสบายอารมณ์ แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าห่วงว่าจะไม่สามารถใช้ชีวิตในธรรมชาติตามปกติได้ อายุหย่านมคือ 2 ขวบ แต่ตัวนี้พลัดหลงกับแม่ จึงอยู่ตัวเดียว ผู้ดูแลตั้งชื่อมันว่า มาเรียม ที่มาจากภาษาอิสลาม

จุดเริ่มต้นความหลงใหลในธรรมชาติตั้งแต่วัยเด็ก

สัตว์ทะเลที่ผมชอบที่สุดคือ ฉลาม อาจจะเป็นเพราะผมทำวิจัยเรื่องนี้ และก็คิดว่าเด็กผู้ชายส่วนใหญ่ก็ชอบสัตว์นักล่า เช่น งู จระเข้ ไดโนเสาร์ สิงโต อยู่แล้ว

นักท่องเที่ยวว่ายน้ำไล่ตามฉลามวาฬวัยเด็กที่เกาะโลซิน ซึ่งกฏเกณฑ์การท่องเที่ยวดูฉลามวาฬนี้อาจต้องมีการหารือและปรับปรุงเพื่อที่จะสามารถคุ้มครองสัตว์ทะเลหายากและสัตว์สงวนชนิดใหม่ของไทยนี้ให้ดียิ่งขึ้น FB: Shin Arunrugstichai Photography

ช่วงที่ผ่านมาพบว่าจำนวนของฉลามในท้องทะเลไทยลดลงอย่างรุนแรงมาก ซึ่งความจริงเริ่มลดจำนวนลงมาตั้งแต่ยุคตั้งแต่ยุค 1970 -80แล้ว เพราะรัฐบาลอนุญาตให้ทำประมงในเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ฉลามเป็นสัตว์ที่ฟื้นตัวหรือทนทานต่อการทำประมงเกินขนาดได้น้อยมาก

ตัวอ่อนระยะแรกของปลาฉลามกบภายในเปลือกไข่ที่เรียกกันว่า “กระเป๋านางเงือก” ถูกเลี้ยงดูในสถานีเพาะพันธุ์ของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี FB: Shin Arunrugstichai Photography

ฉลามออกลูกหลายแบบ บางชนิดออกลูกเป็นไข่ บางชนิดออกลูกเป็นตัว และฉลามขนาดใหญ่จะเป็นชนิดที่อ่อนไหวกว่าชนิดอื่น เช่น ฉลามสีนํ้าเงิน (Blue Shark) ฉลามผ้าแพร (Silky Shark) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ออกลูกจำนวนน้อย คือประมาณ 10-20 ตัวต่อ 1 ปี หรือบางตัว 2 ปี ออกลูกเพียง 4 ตัว

พ่อค้าตัดแต่งกระดูกอ่อนออกจากครีบอกของปลาฉลามหัวบาตรจากท้องทะเลอันดามันในโรงงานแปรรูปแห่งหนึ่งที่จังหวัดระนอง จากการประเมินล่าสุดอัตราการตายของปลาฉลามต่อปีจากอุตสาหกรรมการประมงทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ราว ~100 ล้านตัวต่อปี แต่ช่วงตัวเลขที่เป็นไปได้นั้นอยู่ที่ 63 ล้าน ถึง 273 ล้านตัวต่อปี (Worm et al., 2013). FB: Shin Arunrugstichai Photography

หากจะขยายความต่อก็คงเป็นไปในเรื่องของ การทำประมงแบบทำลายล้าง เช่น อุตสาหกรรมหูฉลาม จากรายงานของ WildAid ระบุว่า ความต้องการบริโภคฉลามมีจำนวนลดลง

สำหรับคุณชินการเป็นช่างภาพสารคดี ควรจะมีความรู้ในสาขาที่ตัวเองทำงานด้วย แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ทำงานนี้จะมีความเชี่ยวชาญจริงๆ ซึ่งหลายครั้งก็อาจจะเป็นปัญหาในการทำงานได้ สำคัญคือต้องรู้ ‘สตอรี่’ ของเรื่องที่ถ่าย ควรหาอินไซด์ใหม่ๆ มาเล่าบ้าง ไม่ใช่แค่เรื่องสวยงามอย่างเดียว เพราะอาชีพนี้คือการหาสิ่งใหม่ๆ มาเล่า

สังคมตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ผมคิดว่าตอนนี้คนไทยตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลังๆ มามีประเด็นดราม่าออนไลน์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมบ่อยนะ พอผมเห็นก็รู้สึกแฮปปี้มาก ที่เริ่มแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางขนาดนี้ อย่างเช่นประเด็น ชานมไข่มุกพกกลับบ้าน ที่ต้องใช้ถุงพลาสติกหลายชิ้น คนก็ออกมาตำหนิว่าเป็นการสร้างขยะโดยไร้เหตุผล

“ผมรู้สึกว่า เราไม่ต้องไปเปลี่ยนคนทั่วโลก แต่ลองพยายามเปลี่ยนคนรอบตัวเรา แค่นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่ใครจะทำได้ในวงกว้างกว่านี้ก็ยิ่งดีครับ”

การปิดอ่าวมาหยา จ.กระบี่ เป็นก้าวหนึ่งในการเริ่มต้นฟื้นฟูธรรมชาติอย่างจริงจัง ที่แห่งนี้เป็นจุดที่ออกลูกของฉลาม มันเจ๋งมากๆ เลยครับ มันมีที่เป็นเกาะกำบัง เป็น Shallow Lagoon และมีปลาเล็กปลาน้อยเยอะ ฉลามจึงรอดชีวิต และเติบโตได้ดี ฉลามที่ตั้งท้องก็จะปลอดภัย อธิบายง่ายๆ คือเป็นแหล่งสมาคมแม่บ้านฉลาม และในอ่าวมาหยาจะมีปลาฉลามครีบดำ หรือ ปลาฉลามหูดำ (Blacktip Reef Shark) แต่ในจ.กระบี่มีหลากหลายชนิด

ธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย

ในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของไทย มักจะใช้ ‘รูปไม่ตรงปก’ คือ เอารูปอ่าวมาหยาสวยๆ มาขายให้นักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวก็ไม่รู้ว่าความเป็นจริง ไปถึงเขาต้องเจออะไร ส่วนตัวผมคิดว่ามันเป็นการเซฟความรู้สึกของนักท่องเที่ยวเหล่านั้นด้วยซ้ำ คือเมื่อคุณไปถึงมันไม่ได้เหมือนภาพที่คุณเห็นในโบชัวร์ท่องเที่ยวเลย คุณจะแทบไม่ได้เห็นทะเล ไม่ได้ยินเสียงคลื่น เพราะจะได้ยินเต่เสียงคน ได้กลิ่นเหงื่อ ได้พบกับคลื่นมนุษย์ที่เดินเต็มไปหมด

ภาพมุมสูงของอ่าวมาหยาและเรือสปีดโบ๊ทจำนวนมากที่พานักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมเยียนหาดเล็กๆ แห่งนี้ก่อนที่จะมีการปิดอ่าวเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ FB: Shin Arunrugstichai Photography

อ่าวมาหยาสามารถรับนักท่องที่ยวได้ 160-200 คน ต่อช่วงเวลาหนึ่ง ตัวเลขมันมีมานานแล้วครับ แต่เราไม่เคยควบคุมมันได้ การปิดอ่าวมาหยาครั้งนี้จึงสามารถทำให้ธรรมชาติฟื้นฟูอย่างเต็มที่

นักท่องเที่ยวบนอ่าวมาหยาที่อาจสามารถมีจำนวนมากถึง 5,000 คนต่อวัน ก่อนมีการปิดเกาะเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ FB: Shin Arunrugstichai Photography

อีกแหล่งหนึ่งที่กำลังปิดฟื้นฟูคือ เกาะตาชัย อุทยานแห่งชาติสิมิลัน จ.พังงา เป็นเกาะที่หาดทรายสวย และน้ำใส ถัดจากชายหาดไปก็จะเป็นป่าเล็กๆ มีปู และสัตว์แปลกๆ ให้เห็น นักท่องเที่ยวไปเยอะ จนธุรกิจทัวร์เติบโตอย่างรวดเร็ว เรือสปีดโบทวิ่งเข้าออกเป็นว่าเล่น ปัญหาที่ตามมาก็คือ เกิดตะกอนฟุ้งกระทบปะการัง และมีจำนวนนักท่องเที่ยวเกินกว่าที่จะรับได้ นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจาก Climate Change ทำให้ปะการังฟื้นตัวไม่ทัน เมื่อภาพความเสียหายปรากฏออกไปตามโลกออนไลน์คนก็เริ่มออกมาพูดถึงกันมาก

คุยกันไปสักพักช่างภาพของเราก็พูดถึงประเด็นปัญหาของการทำงานภาคสนามที่ต้องเจอกับอุปสรรคจากการทำงานร่วมกับหน่วยงานของส่วนกลาง จนสัมผัสได้ถึงความรู้สึกอึดอัดใจที่เขาต้องเผชิญมาตลอด คุณชินเล่าว่า

เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานที่เกาะตาชัยก็รู้สึกเป็นห่วงกับวิกฤตนี้ แต่พูดถึงเรื่องระดับ Policy มันไปเกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์เยอะมาก เพราะในสิมิลันเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับระบบท่องเที่ยวมากที่สุดในไทย มีบริษัททัวร์รายใหญ่ที่มีการล็อบบี้ผลประโยชน์ให้กับตัวเอง อีกทั้งบริษัทแอบแฝงจากจีนก็เข้ามาทำธุรกิจอย่างโจ่งแจ้ง

ผมรู้สึกว่าเรากำลัง Prostituting Our Resources (ค้าประเวณีกับทรัพยากรของเรา)

ฟังแล้วอาจจะดูรุนแรงและก้าวร้าว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นจริงกับการหาผลประโยชน์จากธรรมชาติซึ่งเป็นเพียงผู้ถูกกระทำ

ถือกล้องออกไปถ่ายภาพ ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะถูกตีพิมพ์หรือไม่

ทุกๆ 2-3 สัปดาห์ผมจะออกเดินทางทำงานถ่ายภาพ หากเรื่องไหนที่ผมรู้สึกว่าอยากให้คนสนใจ ผมก็จะออกไปเลยทั้งที่ยังไม่รู้ว่าผลงานจะได้ตีพิมพ์ไหม ซึ่งเกิดกรณีแบบนี้บ่อยกว่างานที่สร้างรายได้เสียอีก (หัวเราะ)

การเกิดขึ้นของสังคมออนไลน์ได้สร้างปรากฏการณ์ให้คนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น บางครั้งเกิดการถกเถียงจนเกิดความเปลี่ยนแปลง เช่น เรื่องปลากระเบนนก ในรายการมาสเตอร์เชฟ หรือดีเจภูมิให้อาหารปลาในทะเล จนคนออกมาเตือนว่าไม่ดีต่อระบบนิเวศ ซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผมรู้สึกสนุกมากที่เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำให้คนตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมได้

การถ่ายภาพที่สร้างแรงสะเทือนใจผมที่สุดน่าจะเป็นตอนที่ไปถ่ายเรือประมงที่จ.กระบี่ เราเข้าใจการทำอาชีพของพวกเขา มันเป็นอุตสาหกรรม และสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิต แต่ในการทำอุตสาหกรรมประมงของไทยมันไปเชื่อมโยงกับระดับการแปรรูปส่งออกเชิงพาณิชย์ ปัญหาต้นตอมาจากการวางแผนที่ไม่เป็นระบบตั้งแต่แรก ที่วางแผนว่าจะหารายได้จากทางนี้ โดยไม่ได้เตรียมแผนรับมือว่าจะเกิดภาวะที่จำนวนสัตว์ทะเลลดลงแบบนี้

ชาวประมงบนเรืออวนล้อมดึงอวนที่เต็มไปด้วยสัตว์น้ำหลากชนิดจากกลางทะเลอันดามันในยามเช้า FB: Shin Arunrugstichai Photography

ตอนผมอยู่ในน้ำระหว่างชาวประมงกำลังยกอวนจับปลาขึ้นนั้น ขณะโผล่พ้นผิวน้ำก็ได้ยินเสียงปลาเป็นหมื่นตัวดีดจนลั่นทะเล ผมพูดกับตัวเองว่า ‘อะไรว่ะเนี่ย!’ อาจจะพูดได้ครับว่า สัตว์เหล่านี้คือ ‘อาหาร’ แต่เราก็ควรจะเลือกวิธีที่คงไว้ซึ่งความยั่งยืนบ้าง และมันกำลังจะเกิด ‘การสูญพันธุ์’ ขึ้นขณะที่เรานั่งอยู่ตรงนี้

การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐบางแห่งก็ยังมุ่งหน้าสู่การเกี่ยวผลประโยชน์จากธรรมชาติ โดยที่ไม่สนใจถึงผลกระทบที่จะตามมา และสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่เราทุกคนเห็นกันอยู่แล้ว จนผมอยากจะสบถแรงๆ ออกมาด้วยซ้ำ เพราะเราเบื่อ และโกรธ แต่เราก็ไม่รู้จะพูดกับใคร

ในภาพนี้เป็นการกวาดปลามาไม่คำนึงถึงว่าจะไม่เป็นปลาเศรษฐกิจ ถ้าเอาไปขายก็ได้กิโลกรัมละประมาณ 10 บาท คือหลายครั้งก็เห็นลูกปลาเก๋า ลูกปลากระพง ลูกหรือลูกปลาอินทรี หากลูกปลาพวกนี้โตถึงไซต์ที่พอเหมาะ ก็คงมีราคามากกว่านี้หลายเท่า ซึ่งลูกปลาที่ไม่ต้องการก็ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ซึ่งรับซื้อในราคาถูก

หัวของพะยูนวัยเด็กกับมีดหั่นเนื้อในระหว่างการผ่าพิสูจน์ซากที่ศูนย์ชีววิทยาทางทะเลภูเก็ต ลูกพะยูนตัวนี้ได้ตายจากการถูกจับในเครื่องมือประมงผิดกฎหมายที่ถูกใช้ในแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของพวกมัน FB: Shin Arunrugstichai Photography

พะยูนตัวนี้มันติดเครื่องมือประมงตาย ถูกนำไปที่ห้องชันสูตรที่ศูนย์ชีววิทยาทางทะเลภูเก็ต ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อหาสาเหตุการตาย รูปนี้จะถูกเข้าใจผิดหากไม่มีคำบรรยาย ว่าอยู่ในโรงฆ่า ซึ่งมันไม่ใช่ คือเราถ่ายเพื่ออยากให้มันสร้างแรงสะเทือนให้คนเข้ามาสนใจ ภาพพวกนี้ผมถ่ายมาเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แทนปัญหาที่เกิดขึ้น (Symbolic)

ชิ้นส่วนของปลาฉลามหูดำบนโต๊ะเหล็กในสะพานปลา เพื่อสื่อถึงการหายไปของปลาฉลามในมหาสมุทรรอบโลก จากสถิติการประมงไทย ปลาฉลามได้หายไปถึง 90% จากการจับสัตว์น้ำในช่วงเวลาเพียงสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งเปิดเผยถึงความหนักหนาสาหัสของการประมงเกินขนาดที่กวาดล้างประชากรของพวกมันไปจากท้องทะเล FB: Shin Arunrugstichai Photography

ภาพนี้ถ่ายที่แพปลา จ.ระนอง ตอนนั้นผมทำวิจัย ต้องชำแหละและเก็บชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อไปวิเคราะห์หาอายุเพื่อทำ Population Modeling ผมจึงนำเศษชิ้นส่วนมาเรียงต่อกัน ซึ่งก็ออกมาเป็นภาพที่ใช้ได้เลย

ครีมกันแดดกระทบสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยที่สร้างสิ่งรบกวนสิ่งมีชีวิตจริงๆ ตอนนี้คือ ครีมกันแดดที่เราทากัน ผ่านการทดสอบแล้วว่า ครีมกันแดดจำนวนเล็กน้อย เป็นภัยคุกคามอัตราของการฟอกขาวจากแสงแดด แต่ปัจจุบันก็มีครีมกันแดดที่ไม่ใส่สารอันตรายออกมาเป็นทางเลือกให้คนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นักท่องเที่ยวเล่นสนุกกับเครื่องเล่นท้ายเรือที่จอดลอยลำอยู่เหนือแนวปะการังน้ำตื้นของเกาะสาก จังหวัดชลบุรี FB: Shin Arunrugstichai Photography

หากเราไม่มีเหตุผลที่ดีพอในการเข้าใกล้ปะการัง ก็ไม่ควรไปใกล้มันครับ เพราะการเข้าใกล้มันมีความเสี่ยงอยู่แล้ว หลายครั้งที่ผมไปดำน้ำ จะเห็นนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่บางคนมีความรู้สึกว่าอยากจะให้ทุกคนในโซเชียลรู้ว่า เขาไปอยู่ตรงนั้นมาแล้ว ประกาศว่าตัวเองเคยพบเคยเห็นปะการัง อยากจะเอาหน้าตัวเองไปอยู่ข้างๆ ปลาการ์ตูน ให้คนอื่นเห็นว่า มันน่ารักนะ อิจฉาฉันสิ อะไรแบบนี้ ความรู้สึกคือมันไม่ควรมาก เพราะจะทำให้ธรรมชาติเสียหาย

ทิวทัศน์แนวปะการังที่สมบูรณ์ของกองหินตาลัง หรือที่รู้จักว่า Stonehenge ในกลุ่มนักประดำน้ำ ซึ่งเป็นจุดดำน้ำที่นิยมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล FB: Shin Arunrugstichai Photography

“การถ่ายภาพกับธรรมชาติไม่ผิดนะครับ แต่ควร Respect ธรรมชาติด้วย คุณอาจจะได้ยอดไลก์จากคนอื่น 2 หมื่น แต่ไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไป”

ความสุขจากการทำงาน

เสน่ห์ของการเป็นช่างภาพสารคดีทางทะเลคือ การได้ออกไปยืนกลางธรรมชาติ ผมจะรู้สึก Miserable (ทรมาน) มากถ้าผมอยู่ในเมือง หากผมไม่ทำงานนี้ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรเหมือนกัน ผมอยากออกไปเจอเรื่องที่ไม่เคยเจอ อยากออกไปเห็นเรื่องราว เพื่อมาตอบสังคม

ตอนที่ผมทำงานมันก็มีความเครียดทุกวัน มันกลัวถ่ายรูปพลาด กลัวว่าภาพมันเกิดขึ้นไปแล้วเราจะถ่ายไม่ได้ กลัวถ่ายเสียยิงแฟลชแรงไป กลัวเหตุการณ์มันไม่เกิดแต่มันก็สนุกที่ออกไปข้างนอก ยิ่งได้ไปเห็นอะไรที่เราไม่เคยเห็น

จะบอกว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเมืองมันส่งผลกระทบต่อธรรมชาติมากแค่ไหน ส่วนนี้ก็อาจจะโยงไปหลายระดับ เช่น การใช้พลังงานของประเทศเราเป็นแบบไหน มีความยั่งยืน หรือใช้แล้วหมดไป การใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน บางครั้งเวลาที่ผมไปร้านสะดวกซื้อก็จะไม่ขอถุงพลาสติก พอซื้อของเสร็จแล้ว ก็จะคอยสังเกตว่าคนที่จ่ายเงินต่อไปจะทำเหมือนผมหรือเปล่า จากที่ลองทำก็เห็นว่า พอผมไม่ขอถุง คนข้างหลังก็จะไม่ขอเช่นกัน มันเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ทำให้ผมรู้สึกดีกับโลกใบนี้

การใช้ชีวิตแบบไม่มีความรับผิดชอบ มันสบายกว่า แต่เมื่อไหร่ละครับที่เราจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผมไม่อยากมานั่งบอกใครว่าต้องทำอะไร ถ้าคุณรู้สึกว่าต้องทำ คุณก็ทำ คือผมก็ทำหน้าที่ของผม

ผมก็อยากให้ภาพของผมมันสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมบ้าง ทุกวันนี้ผมอยากทำเรื่องที่มันมีความหมาย

กฎเกณฑ์การทำงานกับธรรมชาติ

ผมบอกตัวเองเสมอว่า งานของผมมันขึ้นอยู่กับธรรมชาติ หากธรรมชาติไม่ให้ผม มันก็ไม่ได้ แต่หลายครั้งมันก็รู้สึกโวยวายเหมือนกันหากยังไม่ได้ภาพที่ตัวเองต้องการ ผู้ช่วยผมก็ต้องทนผมบ้างเวลาที่โวยวาย (หัวเราะ) ยืนแกว่งแขนอยู่กลางสนาม แต่มันก็สนุกที่จะรอเหตุการณ์นั้น บางครั้งตื่นตี 3 ไปนั่งในน้ำรอฉลามว่ายผ่าน ผ่านไปหลายชั่วโมงสุดท้ายก็พลาดเพราะฉลามมันกระโดดข้ามไลน์ที่ควรจะว่าย วันนั้นก็คือ หมดเลยครับ (หัวเราะ) ทั้งที่เราวางแผนอย่างรัดกุมที่สุดแล้วก็ตาม แต่เราก็ทำเต็มที่แล้ว บางทีเราอาจจะได้ภาพที่เหนือความคาดหมายไว้ก็ได้ครับ

เมื่อระดับน้ำลดลงต่ำสุดในกลางค่ำคืนเดือนมืด ทุ่งปะการังเขากวางในแนวน้ำตื้นของเกาะบุโหลน เล จังหวัดสตูล ก็โผล่พ้นจากผิวน้ำออกมาใต้แสงดาวจากทางช้างเผือก FB: Shin Arunrugstichai Photography

ภาพที่ผมวางแผนถ่ายนานที่สุดคือ 1 ปี ที่เกาะบุโหลน จ.พังงา เป็นภาพปะการังกับทางช้างเผือก ผมไปเห็นภาพนี้ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ เดือนเมษายน ปี 2560 จากสารคดีเรื่อง ปากบารา เด็กหนุ่มที่อยู่ในพื้นที่บอกผมว่ามันมีแบบนี้อยู่นะสนใจไหม ผมเลยลองข้ามเรือเข้าไปเกาะนี้ พอไปก็เจอทุ่งปะการังเลย รู้สึกสุดยอดมาก จึงคิดว่าต้องได้ภาพทางช้างเผือกกับปะการัง เรื่องนี้คือทุกอย่างต้องพอดีจริง ทั้งการเรียงตัวของดวงดาว ระดับน้ำลง ที่สอดคล้องกับการขึ้นของดวงดาว และแสงพระจันทร์ต้องมืด มันมีเวลาที่จะได้ภาพนี้แค่ 10 นาที ซึ่งผมต้องไปที่เกาะนี้ประมาณ 5 ครั้ง เพื่อ 10 นาทีนี้ ข้อดีที่มีผู้ช่วยเก่ง เพราะเป็นช่างภาพทิวทัศน์ เขาก็มาเติมเต็มในสิ่งที่ผมไม่เก่ง

หนทางที่คุณชินเลือกเดิน พาตัวเองเข้าหาธรรมชาติ ยอมอยู่ใต้ธรรมชาติ เพื่อเก็บธรรมชาติอัดกรอบ ส่งให้มนุษย์เราได้รับรู้เสียงและความรู้สึกของธรรมชาติว่ากำลังเจ็บปวดมากเพียงใดจากการกระทำของเรา คุณชินหวังว่าผลงานของเขาจะสามารถสร้างความตระหนักให้เราสามารถอยู่กับธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็นได้ ไม่มีฝ่ายใดอยู่เหนือกว่า ทั้งมนุษย์ และธรรมชาติ


สุนันทา บวบมี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน