ศาลปกครองยกคำร้อง สมาคมรพ.เอกชน ดอดฟ้องขอทุเลาคุมค่ายา

วันที่ 13 มิ.ย. ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2562 ในคดีหมายเลขดำที่ ฟร.9/2562 ระหว่าง สมาคมรพ.เอกชน ที่ 1 กับพวกรวม 42 คน ผู้ฟ้องคดี คณะกรรมการกลางว่าด้วย ราคาสินค้าและบริการ ที่ 1กับพวกรวม 4 คน ผู้ถูกฟ้องคดี

โดยผู้ฟ้องคดีทั้งฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นสมาคม และโรงพยาบาลเอกชน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2562 เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ลงวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ถึงวันที่ 2 มกราคม 2563 หรือจนกว่าจะมีการออกประกาศฉบับใหม่

โดยประกาศดังกล่าวมีการกำหนดให้สินค้าตามประกาศเป็นสินค้าควบคุม และกำหนดให้บริการตามประกาศเป็นบริการควบคุม รวมทั้งได้ประกาศกำหนดให้ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรคเป็นสินค้าควบคุม และประกาศกำหนดให้บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรคเป็นบริการควบคุม

โดยเห็นว่าเป็นสินค้าและบริการที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบสองเห็นว่าเป็นการออกกฎที่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

จึงฟ้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการดังกล่าว เฉพาะข้อ 3 (13 ) ยารักษาโรค (14) เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค และ (50) บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค พร้อมทั้งมีคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศดังกล่าว

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบสองเป็นคำขอทุเลาการบังคับตามกฎที่ออกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการทุเลาการบังคับได้ เมื่อมีองค์ประกอบครบสามประการ คือ ประการแรก กฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้น น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประการที่สอง การให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป

ในระหว่างการพิจารณาคดีจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีจนยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง และประการที่สาม การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองในระหว่างการพิจารณาคดีไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือแก่บริการสาธารณะ เหตุคดีนี้เกิดจากมีข้อร้องเรียนในเรื่องราคายาและบริการทางการแพทย์มีราคาสูงเกินสมควร

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการค้าภายในประเทศจึงกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภคเพื่อแก้ปัญหาราคายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย และได้ออกประกาศดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามมาตรา 9 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542

“ในชั้นนี้จึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ได้ออกประกาศพิพาทที่มีฐานะเป็นกฎไปโดยชอบด้วยอำนาจหน้าที่ และเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแล้ว จึงไม่อาจถือได้ว่ากฎดังกล่าวน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 หมวด 3 การกำหนดราคาสินค้าและบริการมีขั้นตอนตามมาตรา 24 ที่กำหนดให้ คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการมีอำนาจประกาศกำหนดให้สินค้าหรือบริการใดเป็นสินค้าหรือบริการควบคุมได้ และเมื่อประกาศแล้ว คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการยังคงมีหน้าที่ตามมาตรา 25 ในการกำหนดราคาซื้อหรือราคาจำหน่ายสินค้า หลักเกณฑ์ มาตรการอื่นๆ เกี่ยวกับการกำหนดราคาสินค้าและบริการ”

ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบสองฟ้องคดีนี้อยู่ในขั้นตอนรวบรวมข้อมูลราคาสินค้าและบริการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยังมิได้กำหนดมาตรการในรายละเอียดเรื่องราคาสินค้าหรือบริการดังกล่าวแต่อย่างใด จึงยังไม่มีมาตรการใดๆ มาบังคับกับผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบสองต้องปฏิบัติในการเรียกเก็บค่ายาและค่ารักษาพยาบาลจากผู้รับการรักษาพยาบาลในอัตราใด

จึงไม่อาจถือได้ว่า หากให้กฎพิพาทใช้บังคับต่อไปในระหว่างการพิจารณาคดีจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบสองจนยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง กรณีคำขอทุเลาการบังคับตามกฎนี้จึงเป็นคำขอที่ไม่ครบหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามกฎพิพาทตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบสองได้ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามกฎของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบสอง

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าประกาศ กกร. ออกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และชอบด้วยกฎหมาย ไม่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 42 รายจนยากแก่การเยียวยา และในส่วนที่ฟ้องให้ศาลเพิกถอนประกาศ กกร. ที่กำหนดให้ยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์เป็นสินค้าและบริการควบคุม ศาลจะพิจารณาภายหลังจากนี้

อย่างไรก็ตาม กรมฯ ยังคงเดินหน้าบังคับใช้ประกาศกกร.ฉบับที่ 52 พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนต้องส่งราคาซื้อ และขายยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์มาให้ภายในวันที่ 12 ก.ค.2562 ต่อไป เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน