พาณิชย์เรียกโรงพยาบาลเอกชน 353 แห่ง แจงวิธีปฎิบัติ ‘คุมราคายา-ค่าบริการ’ เล็งผุดรพ.ธงฟ้า ปรับเป็นจัดเกรดเหมือนโรงแรม จ่อหารือคปภ.ปรับโครงสร้างเบี้ยประกันให้สอดคล้องกับต้นทุนยา

รพ.ธงฟ้า / เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังประชุมชี้แจงและทำความเข้าใจ หลังออกประกาศตามมติคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เห็นชอบให้นำยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล เข้าอยู่ในบัญชีควบคุม โดยผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.2562 ซึ่งมีโรงพยาบาลเอกชนกว่า 300 แห่ง จากที่ได้ทำหนังสือเชิญ 353 แห่ง เข้าฟังที่กระทรวงพาณิชย์ ว่า

เป็นการชี้แจงครั้งแรกหลังออกประกาศฯ ให้โรงพยาบาลเอกชนได้รับรู้ว่าต้องทำอะไร สร้างความเข้าใจและเป็นธรรมระหว่างกัน ซึ่งเน้นย้ำในประเด็นทุกโรงพยาบาลต้องแจ้งรายละเอียด ราคาซื้อ และจำหน่ายยาในกลุ่มบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต และรายการยาที่มีการจำหน่ายสูงสุด รวม 3,992 รายการมายังกรมฯภายใน 45 วันนับจากออกประกาศ หรือไม่เกินวันที่ 12 ก.ค.นี้

ส่วนราคาเวชภัณฑ์ 868 รายการ และค่าบริการอีก 5,286 รายการ ให้แจ้งภายใน 22 กรกฎาคม โดยกรมฯจะนำมาประมวลกับข้อมูลรอบด้านกับบัญชียาของกรมบัญชีกลาง เป็นต้น และตรวจสอบว่าราคายาที่แต่ละโรงพยาบาลคิดกับคนป่วยนั้นเหมาะสมและไม่ค้ากำไรเกินควร

จากนั้นจะส่งราคาจำหน่ายถึงผู้ป่วยที่เหมาะสมในยาแต่ละชนิดว่าไม่ควรจะเกินเท่าไหร่ จากนั้นจะนำข้อมูลขึ้นเว็บไซต์กรมฯ และให้ทุกโรงพยาบาลทำคิวอาร์โค้ดให้ผู้ป่วยได้รับทราบว่า การเข้ารักษาในโรงพยาบาลต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องยา ค่าบริการ เท่าไหร่ เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน โดยจะสามารถเช็คได้ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.

และในสัปดาห์นี้จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ดูแลเรื่องการปรับโครงสร้างเบี้ยประกันชีวิต และสุขภาพ การเรียกสินไหมทดแทน ให้สอดคล้องกับโครงสร้างราคายาที่เปลี่ยนไป

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ได้ย้ำให้ทุกโรงพยาบาลออกใบสั่งยาที่ระบุว่าเป็นโรคอะไร รายละเอียดของยาและราคายาที่ผู้ป่วยที่เข้ารักษาต้องจ่ายเป็นเท่าไหร่ เพื่อให้ผู้ป่วยมาทางเลือกหากต้องการซื้อยานอกโรงพยาบาล และหากเปลี่ยนแปลงราคายา ราคาเวชภัณฑ์ หรือค่าบริการสำหรับรายการที่แจ้งราคาไว้กรมฯล่วงหน้าก่อนเปลี่ยนแปลงราคา 15 วัน หากไม่มีการแจ้งถือว่าผิดกฎกหมายขายเกินราคามีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“เชื่อว่าหลังวันที่ 12 ก.ค. การเก็บค่ายาค่ารักษาเกินพอดีจะไม่มีแล้ว ส่วนเรื่องร้องเรียนยังมีประปรายอาจเพราะต้องรอดูหลังมีผลใช้จริง ซึ่งหากมีผู้ป่วยร้องเรียนจากนี้ก็จะนำเข้าคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้โดยตรง พิจารณาเป็นกรณีๆ หากพบพฤติกรรมผิดจริงก็จะส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย วันนี้กำชับว่าโรงพยาบาลไม่ควรตรวจผู้ป่วยเกินจริงจนค่าใช้จ่ายบวม อย่างกรณีแค่ปวดท้อง แต่เก็บหลายหมื่นบาท” อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว

นายวิชัย กล่าวอีกว่า ส่วนที่อาจมีบางโรงพยาบาลยังไม่ปรับราคาใกล้เคียงกับราคาที่กรมฯพิจารณา ก็จะเชิญมาสอบถามและขอความร่วมมือ แต่หากยังฝ่าฝืนก็จะเพิ่มมาตรการกำหนดเพดานกำไรขั้นสูงและราคาจำหน่ายสูงสุด เพื่อให้โรงพยาบาลเก็บราคาจนเกินจริง ซึ่งจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะใช้อยากยังคงเก็บค่ายาค่ารักษาแพงเป็นร้อยเป็นพันเปอร์เซ็นต์ ที่จะมีโทษตามกำหนดทั้งจำคุกและปรับ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทุกโรงพยาบาลจะให้ความร่วมมือกับแนวทางดูแลปัญหาลดความเดือดร้อนจากเก็บค่ายาค่ารักษาแพงเกินจริง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

นายวิชัย กล่าวสำหรับแนวคิดทำโครงการโรงพยาบาลธงฟ้านั้น ยังไม่ได้ข้อสรุปว่ารูปแบบจะเป็นอย่างไร ต้องรับฟังทุกฝ่ายก่อน เบื้องต้นอาจใช้การจัดเกรดเหมือนโรงแรม แล้วติดดาวแทน อย่างโรงพยาบาล 5 ดาว โรงพยาบาล 4 ดาว เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน