เตือนสิงห์อมควัน สูบบุหรี่ในบ้าน ผิดอาญา-ส่งบำบัด กฎหมายใหม่บังคับใช้ 20 ส.ค.62

วันที่ 20 มิ.ย. ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวภายในงานแถลงข่าว บ้านปลอดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ลดความรุนแรงต่อสุขภาพ ว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2562 และจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศ 90 วัน จึงจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ส.ค.2562

พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะเน้นการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว ส่งเสริมครอบครัวและคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลต่างๆ โดยในส่วนของความรุนแรงในครอบครัว กำหนดไว้ชัดเจนว่า การกระทำใดๆ ที่บุคคลในครอบครัวได้กระทำต่อกัน โดยเจตนาให้เกิดหรือในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ สุขภาพ เสรีภาพ หรือชื่อเสียงของบุคคลในครอบครัว ซึ่งครอบครัวมี 3 ลักษณะ คือ ตามสายโลหิต ตามพฤตินัย/นิตินัย และบุคคลที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน

นายเลิศปัญญา กล่าวต่อว่า การสูบบุหรี่ในบ้านของบุคคลในครอบครัวจะส่งผลเสีย คือ 1.ทำให้สัมพันธภาพครอบครัวเริ่มลดลง เพราะลูก เมียไม่อยากที่จะเข้าใกล้ หรือลูกเกิดพฤติกรรมเลียนแบบด้วยการสูบบุหรี่ 2.เมื่อไม่ได้สูบบุหรี่แล้วจะเกิดอาการหงุดหงิด ก้าวร้าวด้วยท่าทางและวาจา นำสู่การก่อความรุนแรงทางกายหรือจิตใจ 3.คนในบ้านได้รับควันบุหรี่มือสองและมือสาม ซึ่งกรณีนี้หากคนในบ้านได้รับผลกระทบ เกิดปัญหาสุขภาพและยืนยันได้ว่าเกิดจากการได้รับควันบุหรี่
ซึ่งตามพ.ร.บ.ใหม่จะถือว่าผู้ที่สูบบุหรี่ในบ้านมีความผิดในฐานของการก่อความรุนแรงในครอบครัว เพราะทำให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพของคนในครอบครัว อาจต้องขึ้นศาลเพื่อพิจารณาความผิด 2 ศาล คือ ศาลอาญา กรณีที่มีการทำร้ายทางกาย ได้รับโทษตามกฎหมายอาญา และศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งศาลอาจมีคำสั่งให้คุ้มครองคนในครอบครัวและสั่งบังคับให้ผู้ที่สูบบุหรี่และทำให้เกิดปัญหาในบ้านเข้ารับการบำบัดและเลิกบุหรี่ เพื่อไม่ให้ทำพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความรุนแรงอีก
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ด้าน ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มค่อนข้างคงที่ โดย ศจย.ศึกษาพบว่า มีครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ มากถึง 4,962,045 ครัวเรือน คนที่ไม่สูบบุหรี่จึงได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยเฉลี่ยมากถึง 10,333,653 คน มีผลการวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่ หรือผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 24% และ 19% ตามลำดับ

ศ.นพ.รณชัย กล่าวอีกว่า เด็กทารกที่มีผู้ปกครองสูบบุหรี่มีโอกาสเกิดภาวะไหลตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีโอกาสเกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 47% และมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น 39% จากการสำรวจปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไทยทั่วประเทศ ในปี 2561 โดย ศจย.คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบมีครอบครัวที่ถูกสำรวจถึง 49 % มีสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่ และพบมีความสัมพันธ์กับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน