วิกฤตแล้ว! สมาคมประมงเตือน ปลาทูไทย กำลังสูญพันธุ์ใน 5 ปี ดักจับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก่อนวางไข่-ตัดวงจรชีวิต

วันที่ 21 มิ.ย. นายมงคล เจริญสุขคณา ประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ ปลาทูไทย ในปัจจุบันอยู่ในขั้นวิกฤต แม้ทุกปีกรมประมง ประกาศปิดอ่าวไทยตอนบน (อ่าวรูปตัว ก.ไก่) ตั้งแต่ จ.ชลบุรี ถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ห้ามจับปลาในฤดูวางไข่ สองช่วงคือระหว่าง 15 มิ.ย.-15 ส.ค. และ 30 ส.ค.-30 ก.ย. เพื่อให้สัตว์ทะเลวางไข่ และได้เจริญพันธุ์เต็มวัย

โดยเฉพาะปลาทู ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ที่ผ่านมาเรือประมงพาณิชย์ ถูกควบคุมไว้อย่างเข้มงวด แต่ปรากฏว่าพบการใช้อวนจม ลักลอบจับปลาทูพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งจะทำให้ปลาทูหมดจากอ่าวไทยใน 5 ปี จึงเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

นายมงคล กล่าวว่า แม้อวนจม ไม่ได้เป็นเครื่องมือผิดกฎหมาย แต่ชาวประมงจะใช้เกินกว่าที่ได้รับอนุญาต เป็น 10-100เท่า เช่น ประมงพื้นบ้านได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ลำละไม่เกิน 2,000-2,500 เมตร แต่ชาวประมงบางรายได้ลักลอบ นำเครื่องมืออวนจม ออกไปวางยางถึง 10,000 – 20,000 เมตร

ส่วนของประมงพาณิชย์ ก็จะได้รับอนุญาตใช้อวนจมได้ไม่เกิน 10,000-25,000เมตร แต่ชาวประมงบางรายลักลอบเอาอวนจมออกไป ลำละ 30,000-50,000 เมตร จนทำให้ มีการดักจับพ่อแม่พันธุ์ ปลาทูไปก่อน ที่จะได้วางไข่ไปก่อนจนเกือบหมด เลยทำให้เป็นการตัดวงจรชีวิต ปลาทูทำให้ไม่มีโอกาส ได้ขยายพันธุ์

นายมงคล กล่าวว่า ปลาทูเป็นปลาผิวน้ำ ในช่วงที่มีไข่และจะเข้าวางไข่จะว่ายอยู่หน้าดิน เพื่อเข้าไปวางไข่ตามแนวชายฝั่ง แต่ในอดีตชาวประมงจะใช้อวนลอย ในการจับปลาทู ซึ่งไม่มีปัญหาเพราะปลาทูได้วางไข่ไปแล้ว แต่ระยะหลัง 10 ปี ที่ผ่านมาชาวประมงได้มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องมือจากเครื่องมืออวนลอยปรับเปลี่ยนไปเป็นเครื่องมืออวนจม

จึงทำให้ เป็นเครื่องมือทำลายล้างตัวจริงที่ตัดวงจรชีวิตปลาทูและปลาอื่นๆทั้งหมด จนทำให้ ทรัพยากรสัตว์น้ำไม่สามารถพลิกฟื้นกลับมาสมบูรณ์อย่างจริงจัง

การแก้ไขปัญหาไอยูยู ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ว่าการที่ภาครัฐสั่งให้เอาเรือประมงพาณิชย์ออกจากระบบไปถึง 2,000-3,000 ลำ แต่กลับไม่ทำให้ทรัพยากรฟื้นกลับมาจริง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรทบทวนแนวทางที่ได้แก้ไขผิดพลาด แล้วกลับมาแก้ไขให้ตรงจุดจะเป็นประโยชน์ต่อทรัพยากรอย่างแท้จริง

ที่มา มติชนออนไลน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน