เปิดปูมเบื้องลึก กลุ่มป่าแก่งกระจาน ชวดเป็นมรดกโลก ปัญหาชาวบ้านไม่แก้ แต่ยังดื้อไปเสนอ

หลังมีข้อสรุปแน่ชัดแล้วว่า “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ไม่ได้รับคัดเลือกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ชี้แจงว่า เหตุที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก เนื่องจากการส่งข้อมูลที่ล่าช้า

ทั้งเรื่อง การปักปันเขตแดน ระหว่างไทยกับเมียนมา และเรื่องสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเราดำเนินการแก้ปัญหาแล้ว ข้อมูลทั้งหมดต้องถึงที่ประชุมภายในวันที่ 1 กุมภาพันธุ์ 2562 แต่การแก้ปัญหาของเรา ไม่ว่าจะเป็นการแก้กฎหมาย คนและชุมชนอยู่กับป่านั้น กฏหมายเพิ่งประกาศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

แต่ครั้งหน้าไทยมีแนวโน้มเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งมรดกโลกได้อีก และหลังจากนี้ รัฐบาลไทยควรเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน หรือพื้นที่อื่นๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยมีความตั้งใจที่จะดูแลทรัพยากร เพื่ออนุรักษ์เอาไว้เป็นมรดกของโลกต่อไป

จากข้อมูลของผู้แทนฝ่ายรัฐบาลไทย ดูเหมือนว่าปัญหาที่ทำให้การขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจาน ไม่ได้มาจากความล่าช้าในเรื่องการส่งข้อมูลให้กับคณะกรรมการมรดกโลก

แต่ทว่าข้อมูลอีกด้านกับพบว่า ปัญหาหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขคือ สิทธิความเป็นคนของกะเหรี่ยงในพื้นที่ ที่นอกจากไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว ทุกวันนี้ชาวบ้านยังต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก หลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานเผาขับไล่ลงมาจากใจแผ่นดิน

นิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย กล่าวว่า ชาวกะเหรี่ยงอยู่ที่นี่มาเนิ่นนานแล้ว บรรพบุรุษของตนเกิดในพื้นที่นี้ ตนเกิดที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เพิ่งถูกให้อพยพลงมาเมื่อไม่นานนี้








Advertisement

ผู้ใหญ่บ้านกลางกลอย ยืนยันว่า ชาวกะเหรี่ยงไม่คัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่ก่อนขึ้นทะเบียนมรดกโลกต้องแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านเสียก่อน เพราะเป็นความเดือดร้อนตลอดมาหลังจากอพยพย้ายชาวบ้านลงมา

โดยเมื่อเดือน มีนาคมที่ผ่านมา ชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย 120 คน ได้ลงชื่อเรียกร้องเป็นหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก เนื้อความในจดหมาย ระบุว่า

ชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอยไม่เห็นด้วยกับการเสนอมรดกโลกในช่วงเวลานี้ เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินการของหน่วยงานรัฐ ไม่ยอมรับการมีตัวตนของชาวกะเหรี่ยง และยังไม่ได้แก้ไขปัญหาที่อพยพย้ายชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดินบางกลอยบน ออกจากชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ตลอดจนที่ผ่านมาชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ยังไม่มีการรับรู้และความเข้าใจแนวทางการเตรียมการเสนอเป็นมรดกโลก และการมีส่วนร่วมที่เพียงพอ

ชาวกะเหรี่ยง มีข้อเสนอให้รัฐยอมรับในวิถีชีวิตและวิถีวัฒนธรรมชุมชนกะเหรี่ยงอย่างแท้จริง มิใช่การยอมรับเพียงการร้องรำทำเพลง หรือเพียงศิลปะการละเล่น

อีกทั้งไม่ยอมรับการดำเนินการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติในการกำหนดพื้นที่หลักควบคุม (แปลง CN) ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541

แต่ให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้กรมอุทยานแห่งชาติปฏิบัติและดำเนินการต่อชาวกะเหรี่ยง

ตลอดจนขอกลับไปทำกินตามวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม คือ บ้านใจแผ่นดิน และบ้านบางกลอยบน โดยมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินที่เพียงพอตามวิถีวัฒนธรรม และระบบการผลิตแบบไร่หมุนเวียน

ข้อเรียกร้องสุดท้ายคือ ขอให้ยกเลิกการท่องเที่ยวซึ่งดำเนินการโดยบุคคลภายนอก จนกว่าชุมชนจะมีความพร้อมในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเอง

ในตอนท้ายของจดหมายชาวบ้านกะเหรี่ยงหวังว่า คณะกรรมการมรดกโลกจะรับฟังข้อมูลจากชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม ที่มีพื้นเพอยู่อาศัยมาก่อนประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกว่าหลายร้อยปี

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อนขณะที่ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ที่ให้ความรู้เรื่องกฎหมายกับชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน กล่าวในเรื่องนี้ว่า จากที่ติดตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย ที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต่อประเด็นเรื่องการขึ้นมรดกโลกนั้น ต้องยอมรับว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับการที่จะขึ้นทะเบียนให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก

แต่ถ้าจะขึ้นแล้วต้องไม่มองเฉพาะ สัตว์ป่า ต้นไม้ แม่น้ำ พันธุ์พืชต่างๆเท่านั้น แต่ต้องมองถึงวิถีของคนกับป่าด้วย

เหมือนในพื้นที่มรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร ที่เป็นมรดกโลกมา 28 ปีแล้ว ซึ่งในพื้นที่ทุ่งใหญ่มีกะเหรี่ยงกว่าพันคน อาศัยอยู่ด้วยกัน 6 หมู่บ้าน ในตำบลไล่โว่ จ.กาญจนบุรี ที่นั่นชาวบ้านยังสามารถดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม สามารถทำไร่หมุนเวียนได้ โดยพวกเขาร่วมกับเจ้าหน้าที่ดูแลป่าให้อุดมสมบูรณ์

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวต่อว่า หากมองย้อนกับไปที่แก่งกระจาน ชาวบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ช่วยกันรักษาป่าไม้ให้อุดมสมบูรณ์ จนสามารถเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับคือ ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บุกขึ้นไปเผาบ้านและยุ้งข้าว จนต้องเอาเรื่องขึ้นมาสู้กันในศาลปกครอง ซึ่งมีคำพิพากษายืนยันว่าพวกเขาเป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิม

อีกทั้งที่ผ่านมาชาวบ้านเคยทำข้อมูลเสนอ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยที่ขับเคลื่อนเรื่องการขึ้นมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจ

จนเมื่อเดือน มีนาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย 120 คน ทำหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก โดยระบุว่ายังไม่มีการแก้ปัญหาในพื้นที่ แต่เจ้าหน้าที่ไทยยังดื้อที่จะนำเสนอให้กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลก เพราะคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่ปรากฎว่าทั่วโลกเขาเห็นว่ายังมีปัญหาตรงนี้อยู่ จึงขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไม่ได้

“เจ้าหน้าที่รัฐไทยต้องทบทวนใหม่ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการขอขึ้นทะเบียน ตอนนี้มีเวลาอย่างน้อย 1 ปี รัฐบาลต้องลงมาคุยกับชาวบ้าน และปฎิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติ ในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

พร้อมกันนี้ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ปัญหาชาวบ้านในพื้นที่ พิสูจน์ว่าเขาอยู่ในพื้นที่มาก่อนหรือไม่ ถ้าเขาอยู่มาก่อนต้องให้เขาได้เลือกกลับไปอยู่บ้านเดิมบนใจแผ่นดิน และสามารถดำเนินวิถีชีวิตของเขาได้เหมือนดังเดิม สามารถทำไร่หมุนเวียน ปลูกพืชผักได้

“ก่อนที่จะเดินเรื่องมรดกโลกในผืนป่าแก่งกระจานต่อได้ รัฐต้องแก้ปัญหาที่ชาวบ้านประสบอยู่ทุกวันนี้ และเมื่อแก้ให้ทุกอย่างมีทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว ก็ต้องลงมาคุยกับชาวบ้านในเรื่องนี้ และตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมาแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน โดยให้ชาวบ้านเป็นกรรมการด้วย จากนั้นค่อยเสนอข้อมูลเข้าไปใหม่ โดยให้ชาวบ้านเป็นผู้เสนอเองเลย จะทำให้ได้รับการยอมรับมากกว่าที่ทำอยู่” นายสุรพงษ์ กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ชาวกะเหรี่ยงที่โป่งลึก-บางกลอย ไม่สามารถดำเนินชีวิตเหมือนที่เขาเคยเป็นมาในอดีตได้ หลังถูกอพยพลงมา เนื่องจากไม่มีพื้นที่ทำกิน อีกทั้งพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ก็แห้งแล้งจนไม่สามารถเพาะปลูกได้ ทั้งยังถูกห้ามทำไร่หมุนเวียน จนเกิดปัญหาขาดแคลนข้าวตามมา ทำให้ส่วนหนึ่งต้องลงไปขายแรงงาน ทำให้ชุมชนแตกแยก

นี่คือผลพวงจากการอพยพลงมาโดยขาดแผนการรองรับของราชการ ซึ่งถ้ายังแก้เรื่องนี้ไม่ได้ การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกก็ยังเป็นเรื่องยาก

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่ตัวแทนประเทศไทยระบุว่า ได้แก้ปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ในพื้นที่อย่างจริงจังมาโดยตลอด โดยเฉพาะการออกกฎหมาย 2 ฉบับ ทั้งพ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศนั้น

จริงๆแล้วเรื่องนี้ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตชาวบ้านดีขึ้น ซ้ำยังเป็นการเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้สนใจวิถีชาวบ้านอย่างแท้จริง โดยกฎหมายที่ออกมาทำให้ชาวบ้านต้องไปพิสูจน์สิทธิในการอยู่ในพื้นที่ ซึ่งโดยรวมเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิของชาวบ้านมากกว่า

ทั้งนี้เรื่องหนึ่งที่เป็นข้อกังวลคือเรื่องของการหายตัวไปของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวบ้านที่ต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิของคนกะเหรี่ยง ที่หายตัวไปในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯควบคุมตัว มาจนถึงวันนี้หายตัวไปแล้ว 5 ปี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเลยว่าเขาหายไปไหน การสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่รับเรื่องนี้ไปผ่านมา 1 ปีก็ยังไม่มีความคืบหน้า

ซึ่งมันสะท้อนว่าหากยังรักษาชีวิตของคนในพื้นที่ไม่ได้ แล้วจะดูและรักษาผืนป่าที่เป็นมรดกโลกได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ต้องเร่งหาคำตอบ เพื่อเอาความคืบหน้าของการดำเนินคดีไปตอบคำถามคณะกรรมการมรดกโลก และภาคีสมาชิกที่ยังสงสัยในประเด็นนี้

โดยก่อนหน้านี้ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ข้อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก เรียน คณะกรรมการมรดกโลก ผ่านองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ(IUCN) ประจำประเทศไทย ความว่า

จากการที่ประเทศไทยได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อพิจารณาให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาเนิ่นนานหลายร้อยปี กลับไม่ได้รับสิทธิในการบริหารจัดการผืนป่าของตนเอง ชาวกะเหรี่ยงได้รวมตัวกันเป็น

“เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี ใคร่เสนอข้อเรียกร้องในการที่จะประกาศพื้นที่ของชาวกะเหรี่ยงเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
ดังนี้

1.ต้องให้ชุมชนชาวกะเหรี่ยงคือผู้กำหนดพื้นที่ทางวัฒนธรรมการทำกินโดยระบบไร่หมุนเวียน ในวงรอบ ไร่หมุนเวียน 10 ปีด้วยตนเอง

2.ต้องกำหนดให้พื้นที่ห้วยกระซู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัย ไร่หมุนเวียนร่วมกันระหว่างรัฐกับชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่

3.ต้องให้ชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้เลือกพื้นที่อาศัยด้วยตนเอง

4.ต้องให้ชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้บริหารดูแลจัดการพื้นที่อยู่อาศัยและไร่หมุนเวียนด้วยตนเอง ในรูปแบบคณะกรรมการชุมชน

5.ต้องยอมรับวิถีวัฒนธรรมสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนของชาวกะเหรี่ยง

6.ในการเสนอพื้นที่กลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเพื่อเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ต่อคณะกรรมการมรดกโลก ต้องเป็นการเสนอร่วมกันโดยรัฐบาลไทยกับเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี

7.หากไม่สามารถยอมรับและดำเนินการตามข้อเสนอเหล่านี้ทั้งหมดได้ ชาวกะเหรี่ยงก็ไม่ยอมรับการประกาศกลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของคณะกรรมการมรดกโลกและประเทศไทย เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี

ด้วยเหตุผลและปัญหาที่ถูกเก็บซ่อนจากเจ้าหน้าที่ไทย ทำให้การขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกถูกเลื่อนออกไป

ถ้าไทยจะนำเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานให้ถูกพิจารณาเป็นมรดกโลกอีกครั้งในครั้งต่อไป สิ่งสำคัญที่ต้องทำทันทีคือ แก้ปัญหาคนกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้ตามวิถีที่ยึดถือสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน และต้องให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

หากทำสำเร็จ การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน