อดีตรมว.ยุติธรรม เผย 5 ช่องทางนำ แพรวา9ศพ เข้าคุก! ถ้ายังไม่จ่ายค่าเสียหาย แนะทีมทนายผู้เสียหายเช็กทรัพย์สินคู่สมรสของคู่กรณีด้วย

แพรวา9ศพ / วันที่ 19 ก.ค. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเกี่ยวกับคดีของ น.ส.แพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือ น.ส.รวินภิรมย์ อรุณวงศ์ หรือ แพรวา กรณีขับรถยนต์ชนรถตู้เป็นให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งผ่านมาแล้ว 9 ปี และศาลมีคำพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายแล้ว โดยระบุว่า ” คดี “9 ศพ” ผมได้รับทราบข่าวกรณีที่สื่อมวลชนเรียกกันสั้น ๆ ว่าคดี “แพรวา 9 ศพ” ด้วยความประหลาดใจและหดหู่ใจที่จนป่านนี้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายยังไม่เคยได้รับการดูแลหรือการเยียวยาใด ๆ เลย

นายพีระพันธุ์ ระบุต่อว่า แถมยังต้องดิ้นรนแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายต้องแบกภาระ ในขณะที่ผู้กระทำความผิดได้รับโทษเพียงการ “รอลงอาญา” จึงอยากแสดงความคิดเห็นไว้เผื่อจะเป็นประโยบชน์บ้าง

ประการแรก จำได้ว่าสมัยที่ผมเป็นผู้พิพากษานั้น เรามีแนวทางการตัดสินคดี ที่มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานลักษณะเดียวกันให้เป็นไปในทางเดียวกัน เรียกว่า “ยี่ต๊อก” และถ้าเป็นคดีอาญาจากการขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสเป็นอย่างน้อยแล้ว หากผู้กระทำผิดไม่บรรเทาโทษชำระค่าเสียหายให้ผู้เสียหาย หรือนำเงินค่าเสียหายมาวางศาลในจำนวนที่เหมาะสมแล้ว เราจะไม่รอลงอาญาเสมอ

มีกรณีหนึ่งสมัยที่ผมเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดธัญบุรี ปทุมธานี นั้น จำเลยขับรถยนต์ขนาดใหญ่โดยประมาทชนมอเตอร์ไซค์ทำให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บาดเจ็บสาหัสถึงพิการ จำเลยนำเงินค่าเสียหายมาวางศาลให้ผู้เสียหายในจำนวนที่เหมาะสม ผมเห็นว่าไม่ควรรอลงอาญา แต่เมื่อหารือกับหัวหน้าศาลแล้วเห็นว่าตาม “ยี่ต๊อก” ควรต้องรอลงอาญา เพราะเป็นเพียงความผิดที่กระทำโดยประมาท ผู้กระทำผิดไม่ได้เป็นอาญชากรโดยกมลสันดาน จึงต้องรอลงอาญาไปตาม “ยี่ต๊อก” เพราะฉะนั้นสังคมและทนายความหรือผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องควรนำสำนวนการพิจารณาพิพากษาคดีนี้มาศึกษาว่าข้อเท็จจริงที่ใช้อ้างอิงในการ “รอลงอาญา” นั้นคืออะไร มีเหตุสมควรเพียงใด และในความเป็นจริงมีการเยียวยาผู้เสียหายบ้างแล้วหรือไม่

ประการที่สอง เรื่องความช่วยเหลือและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ฯลฯ คดีนี้ผู้เสียหายทั้งหมดเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา สามารถของความช่วยเหลือจากกรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรมได้ทันที สมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้วางหลักเกณฑ์ให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ เข้าไปช่วยเหลือดูแลประชาชนที่ได้รับความเสียหายในทางอาญาทำนองนี้ไว้แล้ว

นายพีระพันธุ์ ระบุอีกว่า ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิฯ ก็ได้ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีอาญาด้วยความเข้มแข็งและตั้งใจเสมอมา ผมยังแก้ไขหลักเกณฑ์ของ “กองทุนยุติธรรม” ให้สามารถให้ความช่วยเหลือเรื่องทนายความและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องจำเป็นได้ทั้งหมดด้วย เช่น ค่าเดินทางและค่าที่พัก เป็นต้น เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนใหม่นี้ได้สั่งการให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ เข้าไปช่วยเหลือบรรดาผู้เสียหายแล้วก็ดีใจครับ รอดูการทำงานและผลงานของกระทรวงยุติธรรมต่อไปครับ

ประการที่สาม เรื่องความรับผิดทางแพ่ง ผมเข้าใจว่าครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายคงฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้กระทำผิดไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงินค่าเสียหาย กรณีนี้หากผู้กระทำผิดเพิกเฉยก็ต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและดำเนินกระบวนการทางกฎหมายโดยเร็ว เมื่อดำเนินการทุกอย่างแล้วแม้ยังไม่ได้รับการชำระค่าเสียหายเกินกว่า 10 ปีก็ตาม แต่ผู้เสียหายก็ยังคงมีสิทธิติดตามให้ผู้กระทำผิดชำระหนี้ได้ เพราะถือว่าได้เริ่มต้นดำเนินการไว้ภายใน 10 ปีนั้นแล้ว

มีประเด็นที่ควรพิจารณากรณีหนึ่งคือ ผู้กระทำผิดได้สมรสแล้ว ดังนั้นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสย่อมเป็นสินส่วนตัวของผู้กระทำผิดด้วยครึ่งหนึ่ง ทีมทนายความของผู้เสียหายน่าจะลองพิจารณาดูด้วยว่าทรัพย์สินส่วนนี้จะอยู่ในการบังคับคดีได้ด้วยหรือไม่

ประการที่สี่ การที่ผู้กระทำผิดยังไม่ชำระค่าเสียหายนั้น เบื้องต้นยังไม่อาจถือเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ได้นะครับ เว้นแต่จะมีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าผู้กระทำความผิดยักย้ายถ่ายเทหรือซ่อนเร้นทรัพย์สิน หรือโอนทรัพย์สินของตนไปให้ผู้อื่น หรือแกล้งเป็นหนี้ที่ไม่เป็นความจริง เพื่อมิให้ผู้เสียหายได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ดังนั้น จึงต้องอาศัยทนายความและผู้ชำนาญการในการสืบทรัพย์และติดตามทรัพย์เข้ามาตรวจสอบ และหากพบว่ามีบุคคลอื่นเข้ามาช่วยเหลือผู้กระทำผิดด้วย เช่น บิดามารดา เพื่อน หรือคู่สมรส บุคคลเหล่านั้นก็จะมีความผิดและจะต้องถูกดำเนินคดีเป็นกรณีๆ ไปด้วย เช่น หากช่วยยักย้ายถ่ายเท หรือช่วยซ่อนเร้น หรือช่วยถือครอง หรือช่วยรับโอนทรัพย์สินของผู้กระทำผิด หรือช่วยแกล้งเป็นเจ้าหนี้ของผู้กระทำผิดโดยไม่เป็นความจริง ก็จะมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ด้วยในฐานะเป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุน หรือเป็นตัวการร่วม แล้วแต่ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน

ประการที่ห้า ผมเห็นว่าในการจะรอลงอาญาผู้กระทำความผิดต่อไปนี้ ควรต้องกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ด้วยว่าหากผู้กระทำความผิดบิดพลิ้วไม่ชำระค่าเสียหายให้ผู้เสียหายตามที่ตกลงไว้หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล ก็ให้ศาลยกเลิกการรอลงอาญาแล้วนำตัวผู้กระทำความผิดมาจำคุกตามคำพิพากษาทันที แทนที่จะให้ผู้เสียหายต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายฟ้องร้องผู้กระทำความผิดเป็นคดีใหม่ขึ้นมาอีกไม่รู้จักจบจักสิ้น ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สามารถกำหนดได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ครับ

_____________________________

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน