บอร์ดกทพ.ชี้-ข้อเสนอต่อสัญญาทางด่วนเหมาะสมแล้ว

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนกับบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) หลังจากสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาประเด็นนี้ ก็ได้เดินทางไปชี้แจงแล้วในหลายประเด็น ซึ่งมีการเรียกไปชี้แจงอีกครั้งในสัปดาห์หน้า จะเป็นเรื่องการก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น (double deck) จากด่านประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 17 กม. วงเงิน 31,5000 ล้านบาท

นายสุรงค์ ระบุว่า ฝ่ายกทพ. ยืนยันว่าจะทำตามมติเดิม เนื่องจากเป็นการทำตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2561 ที่ให้กทพ.ไปเจรจาหาข้อสรุป แต่ในที่สุดแล้วจะดำเนินการต่อหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลใหม่ เพราะฉะนั้น ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างหาข้อเท็จจริง โดย ส.ส. ที่อยู่ในคณะกรรมาธิการก็สอบถามถึงภาพรวมของแต่ละคดี ตั้งแต่สาเหตุที่ของแต่ละคดี การนำสืบ การพิจารณาของศาลก็ให้กทพ.ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมมารายงานต่อในการประชุมคณะกรรมาธิการครั้งต่อไป ยืนยันว่าแนวทางการเจรจาทำได้ดีที่สุดแล้วคือ รัฐต้องไม่เสียประโยชน์และอำนวยความสะดวกให้ประชาชน

“หากครม.เห็นชอบกับผลเจรจา ก็ต้องมาคุยกันต่อในรายละเอียดอีก เช่น ภาคผนวกสัญญา, การออกแบบ Detail Design ของโครงการทางด่วนชั้นที่ 2 เป็นต้น ก็ต้องรอให้หลักการเบื้องต้นต่างๆได้ข้อยุติก่อน” ประธานบอร์ด กทพ. กล่าว

สำหรับกลุ่มคนบางส่วนที่ท้วงติงว่ามีบางคดีไม่สิ้นสุดแต่เอาไปรวมนั้น นายสุรงค์ ชี้แจงว่า บริบทการเจรจาทั้งหมดจะเป็นการยุติข้อพิพาททุกคดี และจะมีการแก้เงื่อนไขกัน เช่น เรื่องสิทธิใต้ทางด่วน จะเป็นของกทพ. ทำทางขึ้นลงบริเวณสถานีกลางบางซื่อ เป็นต้น

ส่วนที่บอกว่า เมื่อทางด่วนทั้ง 3 ระบบหมดอายุสัมปทานใน1-2ปีนี้ จะทำให้ทางด่วนกลับมาเป็นของกทพ. และจะทำให้มีเงินพอที่จะมาจ่ายค่าชดเชยได้นั้น ต้องเรียนว่า แม้ได้คืนมา 700,000 ล้านบาทใน 30 ปี แต่ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ต้องจ้างพนักงานเพิ่มอย่างน้อย 1,000 คน ต้องจัดสรรเงินเดือนเพิ่มเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ปัจจุบันเฉลี่ยตกคนละ 800,000 บาท/ปี หรือการก่อสร้างทางใหม่ ซึ่งต้องไปเจรจากับเอกชนเหมือนเดิม เป็นต้น ทุกประเด็น กทพ.ได้วิเคราะห์ไว้หมดแล้ว

“ศักยภาพในการหารายได้ของกทพ.ตกปีละ 5,700 ล้านบาท นำส่งกระทรวงการคลังปีละ 3,500 ล้านบาท เหลือใช้จ่ายปีละ 2,200 ล้านบาท ซึ่งไม่พอกับการจ่ายหนี้ในแต่ละครั้งแน่นอน ส่วนเงินกองทุน TFF เอามาใช้ไม่ได้ เพราะผิดวัตถุประสงค์ ใช้เฉพาะกิจกับการสร้างทางใหม่เท่านั้น” นายสุรงค์ ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน