กรมธรณีฯ จ่อประกาศ กลุ่มรอยเลื่อนเวียงแหง รอยเลื่อนมีพลังที่ 16 เสี่ยงแผ่นดินไหวในอีก 50 ปีหน้า ซ้ำรอย 2 พันปีที่แล้ว

กลุ่มรอยเลื่อนเวียงแหง – วันที่ 8 ส.ค. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) จัดแถลงข่าวการจัดประชุมสัมมนา เรื่อง “ธรณีพิบัติภัยในประเทศไทย ปี 2562” ระหว่างวันที่ 15-16 ส.ค. นี้ ที่โรงแรมอีสติน มักกะสัน กรุงเทพฯ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านธรณีพิบัติภัย ตลอดจนสร้างเครือข่ายจากทุกภาคส่วนเพื่อจัดการกรณีพิบัติภัยอย่างมีประสิทธิภาพ

นายมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยประสบกับปัญหาธรณีพิบัติภัยอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นแบบฉับพลันยากต่อการคาดการณ์ล่วงหน้าและทวีความรุนแรง สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในหลายพื้นที่ กรมฯธรณี ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ดำเนินภารกิจด้านการลดผลกระทบจากธรณีพิบัติภัย เช่น ดินถล่ม แผ่นดินไหว สึนามิ กัดเซาะชายฝั่ง หลุมยุบ เป็นต้น

โดยจัดทำข้อมูล วิเคราะห์ปัจจัยต่างๆประเมินพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความเสี่ยงด้านธรณีพิบัติภัยที่อาจเกิดขึ้น พร้อมร่วมเตรียมความพร้อมรับมือกับธรณีพิบัติภัยให้กับชุมชน ประชาสังคม และภาคประชาชนด้วย

นายมนตรี กล่าวว่า โดยการประชุมสัมมนาในครั้งนี้จะมีการบรรยายให้ความรู้ด้านธรณีพิบัติภัย อาทิ “วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และนิติศาสตร์ ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อการแก้ปัญหาดินถล่มอย่างยั่งยืน” “วิธีการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทยและต่างประเทศ” “การจัดการภัยแผ่นดินไหวในประเทศไทย” และการประกาศกลุ่มรอยเลื่อนเวียงแหง ซึ่งเป็นรอยเลื่อนมีพลังที่ 16 ของประเทศไทยด้วย

นายสุวิทย์ โควสุวรรณ ผอ.ส่วนธรณีพิบัติภัย สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สำหรับกลุ่มรอยเลื่อนเวียงแหง เป็นรอยเลื่อนมีพลังที่ 16 ของประเทศไทย มีความยาวประมาณ 100 กิโลเมตร ตั้งแต่อ.เวียงแหง-อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ และอยู่ในเขตประเทศเมียนมาอีกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

จากการศึกษาวิจัยพื้นที่กลุ่มรอยเลื่อนเวียงแหง พบมีการจารึกในชั้นดินว่า เมื่อรอบ 2 พันปีก่อน เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.7 และคาดการณ์ในความเป็นไปได้ว่าอีก 50 ปีข้างหน้าอาจแผ่นดินไหวได้อีก

สำหรับ รอยเลื่อนมีพลัง เว็บไซต์ วิชาการธรณีไทย โดยสุคนธ์เมธ จิตรมหันตกุล นักธรณีวิทยาโครงสร้าง อธิบายไว้ว่า รอยเลื่อน ที่พบหลักฐานว่าเคยเกิดการเลื่อนหรือขยับตัวมาแล้วในช่วง 10,000 ปี จะจัดว่าเป็น รอยเลื่อนมีพลัง (Active fault) ซึ่งมักจะพบอยู่ในพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อย หรือตามแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลก รอยเลื่อนมีพลังมีโอกาสที่จะขยับตัวได้อีกในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน