อังคณา นีละไพจิตร จาก‘เหยื่อ’สู่นักสู้เพื่อสิทธิ รางวัลแมกไซไซ2019

จากหญิงธรรมดาที่เป็นพยาบาลและแม่บ้านคอยดูแลสามีและลูกๆ 5 คน ต้องออกมาทวงถามความยุติธรรมหลังการหายตัวไปของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร สามี สู่เส้นทางนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

อังคณา นีละไพจิตร กำลังจะบินไปรับรางวัลอันทรงเกียรติ ที่มูลนิธิรามอนแมกไซไซ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ หลังจากมูลนิธิรางวัลรามอน แมกไซไซ ประกาศให้นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความนักสิทธิมนุษยชนผู้สูญหาย เป็น 1 ใน 5 ผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2019

สตรี

ในคำประกาศเกียรติยศ เขียนไว้ว่า เธอพิทักษ์ความยุติธรรม ซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยความเจ็บปวด

และในตอนหนึ่งของคำสดุดี ระบุว่า คณะกรรมการตระหนักถึงความกล้าหาญอย่างแน่วแน่ในการแสวงหาความยุติธรรมให้กับสามีของเธอ และเหยื่อของความรุนแรงและความขัดแย้งในภาคใต้ เธอทำงานอย่างเป็นระบบและไม่บิดเบือนเพื่อปฏิรูประบบกฎหมายที่มีข้อบกพร่องและไม่เป็นธรรม ถือเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าเธอคือคนธรรมดาที่ถ่อมตน แต่สามารถส่งผลกระทบระดับชาติต่อการยับยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน

หลังการประกาศรางวัล อังคณาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่าถือเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ขอขอบคุณเพื่อนๆ ที่ให้การสนับสนุนและยืนเคียงข้างในทุกสถานการณ์ที่ยากลำบาก

สตรี

บนเวทีนักสิทธิมนุษยชนโลก

สำหรับผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ ซึ่งเปรียบเสมือน “โนเบลแห่งเอเชีย” ประจำปีนี้อีก 4 คนประกอบด้วย นายเรย์มุนโด ปูจันเต คายับยับ นักดนตรี ชาวฟิลิปปินส์ ในฐานะผู้มีพรสวรรค์ โดยธรรมชาติผู้รังสรรค์พลังที่เป็นเอกภาพให้กับดนตรีในฟิลิปปินส์, นายคิม จอง คี นักเคลื่อนไหวผู้สกัดกั้นกระแสความรุนแรงในหมู่เยาวชนในเกาหลีใต้, นาย โก สเว วิน ผู้สื่อข่าวชาวเมียนมา และ นายราวิศ กุมาร ผู้สื่อข่าวชาวอินเดีย โดยบุคคลสำคัญของไทยที่เคยได้รับรางวัลนี้ อาทิ นิลวรรณ ปิ่นทอง นพ.กระแส ชนะวงศ์ นพ.ประเวศ วะสี ทองใบ ทองเปาด์ อานันท์ ปันยารชุน กฤษณา ไกรสินธุ์

การประกาศมอบรางวัลมีขึ้นให้หลังเพียงไม่กี่วันหลังจาก อังคณา นีละไพจิตร และ เตือนใจ ดีเทศน์ ประกาศลาออกจาก กสม.

อังคณาเปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษ “ข่าวสด” ว่า “ทราบเรื่องรางวัลแมกไซไซเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ทางมูลนิธิสอบถามมาว่าจะเสนอชื่อรับรางวัลแมกไซไซเราโอเคมั้ย เราก็ตอบรับไป แต่ยังไม่ทราบว่าจะได้ ทราบแค่ว่ามีการเสนอชื่อ พอรู้แน่ชัดแล้วว่าจะได้ รางวัลก็ตกใจ ตื่นเต้น ไม่คิดว่าจะได้”

สตรี

5 ผู้รับรางวัลแมกไซไซปี 2019

ก่อนขยายความถึงถ้อยคำที่ระบุว่าอังคณาพิทักษ์ความยุติธรรม ซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วย “ความเจ็บปวด” ว่า นั่นคือในประกาศทั้งหมด ที่ระบุไว้ แบ่งเป็น 3 ช่วงของชีวิตเรา ช่วงแรก คือช่วงที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร สามี หายตัวไป เราก็ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่เราเข้ามาต่อสู้คดี แล้วเราก็เรียกร้องแทนผู้เสียหายคนอื่นด้วย มาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางขึ้น และช่วงที่ 3 ช่วงที่เข้ามาทำงาน กสม. เขาเขียนประมาณว่า ในสถานการณ์ภายใต้รัฐบาล คสช. ที่ทำงานไม่ง่าย เราเป็นกรรมการที่พยายามจะทำทุกอย่างภายใต้ข้อจำกัด ตรงนี้ทำให้มองเห็นว่าการทำงานของเรา 15 ปีที่ผ่านมาในแต่ละบทบาทไม่ง่ายเลย ต้องเจอแรงเสียดทานเยอะ พอทำงานกรรมการสิทธิฯ เราก็ทำได้ไม่เต็มที่ ผ่านมาด้วยความเจ็บปวดจริงๆ และตอนนี้แม้จะไม่ได้ทำงานในฐานะคณะกรรมการสิทธิฯ แล้วเราก็ยังทำงานได้อยู่

“เราโพสต์ขอบคุณเพื่อนๆ และทุกคนรอบข้างเพราะในการทำงานทำคนเดียวไม่ได้ เรามีแรงสนับสนุนมากมายตั้งแต่ต้น มีทั้งคนในสังคม มีทั้งคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ช่วยเรา จนกระทั่งจากเป็นเหยื่อเราเปลี่ยนตัวเองมาเป็นคนที่ยืนบนขาตัวเองได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ การทำงานคณะกรรมการสิทธิฯ เราไม่ได้ทำคนเดียว

สตรี

ร่วมเวทีเสวนา

ถ้าหากจะให้ขอบคุณใครเป็นพิเศษอีก ก็คงต้องขอบคุณครอบครัว เพราะครอบครัวอยู่กับเรามาตลอด การยืนขึ้นได้เพราะมีครอบครัวสนับสนุน ถ้าเราออกมาทำงานโดยลูก 5 คนไม่เห็นด้วย เราจะทำงานไม่ได้เลย การอยู่ในสถานะแบบนี้ทำให้เราเป็นที่รู้จัก เราต้องเสียความเป็นส่วนตัวไป ทุกคนก็ต้องเสียสละ บางทีถูกวิจารณ์ลูกทุกคนเป็นห่วงแต่ไม่มีใครที่บอกว่าพอเถอะ เลิกทำได้แล้ว แต่ถ้าแม่ทำแล้วไม่มีความสุขเขาจะบอกให้แม่หยุดทำ” สตรีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนวัย 63 ปี คุณแม่ของลูก 5 คน เผยถึงกำลังใจสำคัญ

ก่อนกล่าวต่อว่านักสิทธิมนุษยชนทุกคนทำงานมาอย่างยากลำบาก ต้องทำงานสวนกระแสสังคมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันยาก เป็นการทำงานที่เปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนวิธีคิดคน

อยากฝากให้กำลังใจนักสิทธิมนุษยชนหลายคนที่เคยได้รับรางวัลนี้ และนักสิทธิมนุษยชนทุกคน เพราะที่ผ่านมาเราก็เป็นผู้หญิงธรรมดา สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นแรงบันดาลใจให้เราออกมา พอทำแล้วมีความสุข ที่ได้เจอคนที่เดือดร้อนไม่ต่างจากเรา ทำให้รู้สึกนอกจากแบ่งปันคืออยากช่วยเหลือ

สตรี

กำลังใจสำคัญของอังคณา

“ที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตธรรมดามากๆ เป็นพยาบาล มีชีวิตเหมือนคนทั่วไป ต้องทำงานไปด้วยดูแลลูกด้วย พอวันหนึ่งชีวิตเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง มีทางเดียวคือต้องเดินหน้า ย้อนกลับไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อทนายสมชายถูกอุ้มไป เราต้องเจอกับอะไรใหม่ๆ เยอะมาก ต้องพบกับสื่อทั้งที่เราไม่เคยมีอะไรต้องคุยกับสื่อ เราไม่ใช่คนที่สังคมรู้จัก เป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ชอบออกสังคมด้วยซ้ำ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันพลิกในข้ามคืน เราต้องมามีปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงานรัฐ ต้องตอบคำถามทุกคน ทั้งที่บางทีเราก็ตอบไม่ได้ วันนี้ก็ยังมีคนมาถามว่าทนายสมชายยังอยู่ไหม คดีเป็นอย่างไร เราพูดแล้วมันเจ็บปวด เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องที่เราเองก็ไม่รู้ ตอบไม่ได้เหมือนกัน และไม่มีใครตอบเราได้ ลูกๆ ก็โดนถาม ทุกวันนี้ก็โดนถามว่าสงสัยตายแล้วมั้ง แล้วจะทำอย่างไร จับใครไม่ได้เลยหรือ คำถามแบบนี้เราอยากสะท้อนกลับไปว่าแทนที่จะถามมาช่วยเราทำงานดีไหม ไม่ได้คิดว่าเป็นความผิดของคนที่ถามทุกคนก็อยากรู้ อยากให้กำลังใจ ถ้าใครมาถามแบบนี้แล้วไม่ตอบหรือนิ่งๆ ไป ไม่ต้องตกใจนะ เพราะบางทีแค่ไม่รู้จะตอบอะไร”

สตรี

ลงพื้นที่

จาก “เหยื่อ” สู่นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน อังคณามองว่า สิทธิมนุษยชนในไทยมีกฎหมายที่ก้าวหน้า แต่ยังไม่มีการตระหนักในเรื่องการคุ้มครองสิทธิ ก็ยากที่จะทำให้เกิดกลไกคุ้มครองได้จริง เช่นบอกว่า เรามีกฎหมายคุ้มครอง เมื่อเกิดอะไรขึ้นต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนบริสุทธิ์ แต่เอาเข้าจริงๆ พอมีใครสักคนถูกจับ ถูกตีตราไปแล้ว ผลกระทบมาอยู่กับครอบครัวด้วย

“ตอนที่สามีหายไปก็มีข่าวทนายโจรอุ้มทนายโจร เราก็สงสารลูก ตีตราไปแล้วว่าคนคนนี้เป็นคนไม่ดี เราเจ็บปวดกับคำพูดแบบนี้ บอกกับลูกว่าไม่มีใครรู้จักทนายสมชาย ดีเท่ากับคนในครอบครัว เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้สังคมรู้ว่าทนายสมชายเป็นอย่างไร ต้องบอกสังคมผ่านตัวเรา จะไม่ยอมให้เหตุการณ์ตรงนี้มาทำลายเรา ต้องคุยกับลูก ให้กำลังใจกัน เชื่อมั่นว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราไม่หลบหน้ากัน บอกลูกว่าให้เขาตั้งใจเรียน เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เรายังคงมีชีวิตอยู่ พ่ออาจจะอยู่ที่ไหนสักแห่ง ให้ลูกไปถึงจุดที่เขาตั้งใจที่อยากจะเป็น ถ้าวันไหนลูกบอกว่าแม่หยุดเถอะ พอแล้ว เราก็ต้องหยุด เพราะห่วงลูกมาก”

สตรี

อังคณากล่าวด้วยว่าเรื่องการอุ้มหาย การทรมาน ประเทศไทยไม่มีกฎหมายระบุว่าการทรมานเป็นอาชญากรรม ไม่มีกฎหมายการอุ้มหาย อยากให้มีการแก้กฎหมาย นี่คือสิ่งที่เราผลักดันมาตลอด กระทั่งปี 2559 ครม.มีมติให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาการบังคับสูญหายของสหประชาชาติ และให้มีร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและยุติการทรมานและการบังคับสูญหาย แต่สนช.ใช้เวลาพิจารณานานมาก จนสุดท้ายสนช.ยุติการทำงาน ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ค้างอยู่ แขวนอยู่ในวาระ 2 ก็คือตกไป จึงคิดว่าเร็วๆ นี้จะไปพบนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหารือและขอให้นำร่างกฎหมายนี้ ออกมาพิจารณาใหม่ อยากให้ผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมีสิทธิเข้าเป็นกรรมาธิการเพื่อให้ความเห็น

ส่วนกรณีที่มีการมองว่าคนที่ได้รับรางวัลแมกไซไซ มักเป็น “ปฏิปักษ์” กับระบบราชการ อังคณามองว่าคนที่ได้รางวัลส่วนมากกล้าออกมาท้าทายหรือขัดขืนต่อระบบประเพณีที่ปฏิบัติกันมา อย่างเช่นคุณหมอหลายคนที่ได้รับรางวัล ก็ออกมาฝืนกระแสต่างๆ เพราะมีข้อจำกัดในการทำงาน ทำงานได้ยากลำบาก ถ้าเราอยู่ไปวันๆ ทำแบบที่เราทำมาก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คนที่อยู่กับปัญหามานาน รู้ปัญหา แล้วยังจำยอมให้เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ฝืนความรู้สึก ก็คงต้องทำอะไรสักอย่าง สิ่งที่ทำๆ กันมาบางทีไม่ได้ผิดกฎหมายแต่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การอยู่ไปวันๆ สบายกับตัวเอง ไม่ถูกตรวจสอบ ไม่ถูกตั้งคำถาม แต่จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย สุดท้ายสังคมก็อยู่กับที่ อยากให้สังคม เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ก็ต้องทำ

สตรี

วันแถลงลาออกจาก กสม.พร้อมเตือนใจ ดีเทศน์

ในเรื่องการลาออกจาก กสม. อังคณาเผยว่า สาเหตุเพราะมีข้อขัดข้องในการทำงาน ทำงานลำบาก บรรยากาศไม่เอื้อให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพ ก็เลยตัดสินใจว่าออกดีกว่า ไม่ได้น้อยใจ เราทำงานเต็มที่ พอทำงานมาถึงจุดหนึ่ง ได้คุยกับคุณเตือนใจ ดีเทศน์ ว่าทำอะไร ก็ติดขัดไปหมด คิดเรื่องลาออกมาหลายเดือนแล้ว ได้ยินเพื่อนในกสม.พูดเหมือนเราเป็นสายล่อฟ้า เราก็รู้สึกว่าทำงานยาก

“ในอดีตมีผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ มนุษยชนมานาน แต่สังคมไม่เห็นความสำคัญ อย่างแม่สมปอง เวียงจันทร์ แกนนำ ปากมูล ผู้หญิงที่สู้เพื่อปากมูลมา 30 กว่าปีแล้ว ถูกฟ้องคดีมากมาย จินตนา แก้วขาว เองก็ถูกฟ้องร้องหลายสิบคดี ถูกจำคุกด้วย ที่ผ่านมาไม่ได้รับความสำคัญเท่าใด แต่ปัจจุบันมีคนมองเห็นความสำคัญมากขึ้น สังคมรู้จักในฐานะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เสียงเรามันดังขึ้น แต่การคุกคามยังไม่หมดไป การคุกคามด้านชีวิต ความปลอดภัย การอุ้มหาย การฆ่า เคยมีมา และตอนนี้ การคุกคามนักสิทธิสตรีมาในรูปการฟ้องร้องมากขึ้น แม้แต่ในนักการเมืองผู้หญิงเอง ก็ถูกนำเรื่องเพศมาเป็นเครื่องมือในการลดทอนความเป็นมนุษย์ เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ของผู้ขัดแย้ง ไม่อยากเห็นการใช้เพศเป็นเครื่องมือทำใครด้อยกว่า การที่ผู้หญิงออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องต่างๆ ผู้หญิงต้องได้รับ ความเคารพ มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เจอการถูกคุกคาม โดยใช้เพศเป็นเครื่องมือ และทำให้ผู้หญิงต้องหวาดกลัว

ผู้หญิงมีชีวิตที่ต่างจากผู้ชาย มีภาระ มีพ่อแม่ มีครอบครัว บางทีมีลูกเล็กๆ ที่ต้องให้นม แต่ก็ยังมีหน้าที่ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิ เวลาผู้ชายถูกคุกคามแล้วไม่ปลอดภัยผู้ชายหนีไปไหนก็ได้ แต่ผู้หญิงไม่ใช่ ผู้หญิงมีลูกเล็กๆ ต้องดูแล ต้องดูแลบ้าน ต้องดูแลตัวเอง ดูแลความปลอดภัยของทุกคน การทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ จึงยากลำบากมากขึ้น”

ก้าวต่อไปของอังคณา นีละไพจิตร หลังจากนี้ เธอเผยว่ามีหลายอย่างที่เคยทำ ทั้งเรื่องกฎหมาย สิทธิมนุษยชน การสร้างสันติภาพ เรื่องผู้หญิง ความมั่นคง เป็นเรื่องที่สนใจมานานแล้ว โดยเฉพาะผู้หญิงในพื้นที่ขัดแย้ง ทำอย่างไรให้ผู้หญิงมีบทบาทสร้างสันติภาพมากขึ้น ตอนที่เป็นกรรมการสิทธิฯ เรามีบทบาทที่เปิดแล้วก็จำกัด ในวันที่เราออกมาทำงานข้างนอก ออกมาสู่โลกที่กว้างขึ้น เราน่าจะแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่มากขึ้น จะเดินหน้าทำงานของเราต่อไป หวังว่าจะทำอะไรได้มากขึ้น เราไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ในประเทศไทย เราทำงานในระดับโลกด้วย เราไม่ใช่คนเก่ง เราเรียนรู้ตลอด และเชื่อว่าประสบการณ์ที่ได้รับมามีคุณค่าที่จะแบ่งปันให้คนอื่น

“อยากฝากถึงคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน คนที่กำลังเดือดร้อนหรือคนที่ถูกละเมิดสิทธิ เราก็มาจากผู้หญิงธรรมดา มาจากการเป็นผู้เสียหายด้วยซ้ำ แต่การลุกขึ้นยืนได้ด้วยขาของตัวเองมันจำเป็น อยากเห็น ผู้เสียหายทุกคนยืนขึ้นด้วยตัวของตัวเอง บอกเล่าเรื่องของตัวเอง แบ่งปันประสบการณ์ ถึงจะเป็นความทรงจำที่เจ็บปวด แต่มีคุณค่า และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

รางวัลทำให้ภาคภูมิใจก็จริง แต่กว่าจะได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ เรื่องเล่าระหว่างทางมันมีคุณค่ามาก เรื่องเล่าของทุกคนก็มีคุณค่าเช่นกัน หวังว่าวันหนึ่ง จะมีคนที่ออกมาทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง

แต่เพื่อสังคม เพื่อประเทศชาติต่อไป”

โดย ธีรดา ศิริมงคล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน