มรณกรรม บิลลี่ ความตายที่ถูกปิดซ่อน อาญาเถื่อน ในผืนป่าแก่งกระจาน

บิลลี่อยู่ไหน? บิลลี่หายไปไหน? บิลลี่จะกลับมาไหม?

เป็นคำถามที่วนเวียนอยู่ในความคิดของ มึนอ พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาข้างกายของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ชายหนุ่มที่หายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อวันที่ 17 เม.ย.2557

ในค่ำคืนเปลี่ยวเหงา ในมืดดำอันโดดเดี่ยว มึนอ เฝ้ารออย่างสิ้นหวัง เธอเจ็บปวด และแหลกสลายกับคำถามที่ไร้คำตอบ มาตลอด 5 ปี

ร้าวรานอยู่อย่างนั้น จากวัน เลื่อนผ่านเป็นเดือน และยาวนานจนเป็นปี

กระทั่งความจริงปรากฏ เมื่อรับรู้ว่า บิลลี่ตายแล้ว แม้ไม่เกินเลยจากที่คาดคิดไว้ แต่ความจริงก็ทิ่มแทงส่วนลึกในหัวใจ ของผู้หญิงที่ต้องต่อสู้เพื่อลูก ทั้ง 5 คนเพียงลำพัง จนไม่สามารถกลั่นคำพูดใดๆออกมาได้

จุก และเจ็บปวดจนพูดไม่ออก เมื่อรู้ว่าสามีที่เขาเฝ้าตามหายตายแล้ว

………………………………………..

บิลลี่ เป็นอีกหนึ่งคนเล็กๆในพื้นที่ชายขอบของสังคม ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้ชุมชนกะเหรี่ยงแก่งกระจาน แต่ต้องสังเวยชีวิตให้กับอำนาจเถื่อน

แม้จะเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า คู่ขัดแย้งที่เขากำลังสู้อยู่นั้นเป็นใคร!

แต่การจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสาวไปถึงผู้กระทำผิด ถือเป็นงานที่ไม่ง่าย สำหรับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

ต่อจากนี้เป็นเรื่องราวของบิลลี่ และความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในผืนป่าแก่งกระจาน ที่นอกจากชีวิตของบิลลี่ ยังมี ปู่คออี้ มีมิ อายุ 107 ปี ที่สิ้นใจก่อนได้กลับแผ่นดินเกิด

รวมไปถึง อาจารย์ป๊อด ทัศน์กมล โอบอ้อม ผู้เปิดเรื่องราวเหตุการณ์เผาบ้าน และยุ้งข้าว ซึ่งถูกลอบยิงจนเสียชีวิต หลังพาชาวบ้านลงมาร้องเรียนได้เพียงสัปดาห์เดียว

บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ

บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ

เปิดปมแก่งกระจาน เมื่อรัฐไม่เข้าใจ วิถีคนอยู่กับป่า

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 หลังเหตุการณ์เฮลิคอร์ปเตอร์ตก 3 ลำซ้อนจนมีผู้เสียชีวิต ถึง 17 ราย ใจกลางป่าแก่งกระจาน

ปรากฎข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดย นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน(ในขณะนั้น) บุกขึ้นไปเผาบ้านและยุ้งฉางของชาวกะเหรี่ยง ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บางกลอยบน และ ใจแผ่นดิน เกือบร้อยหลัง ภายใต้ปฏิบัติการ “ยุทธการตะนาวศรี” เพื่อให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่

ส่งผลให้ ทรัพย์สินในบ้าน ยุ้งฉาง อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงเมล็ดพันธุ์พืช ได้รับความเสียหาย

แม้จะมีการปฏิเสธในภายหลังว่า เป็นเพียงการเผาบ้านที่เคยสั่งให้กะเหรี่ยงรื้อ และย้ายออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ไม่ได้เผาบ้านที่มีคนอยู่อาศัย และยุ้งข้าวแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวยังยืนยันว่า ชาวบ้านเป็นชนกลุ่มน้อยที่ขึ้นไปบุกรุกพื้นที่ป่า ทำให้ป่าเสื่อมโทรม ทั้งยังลักลอบปลูกกัญชา

ข้อมูลดังกล่าว ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ระบุว่า คนกะเหรี่ยงที่ถูกเผาบ้านและยุ้งข้าว นำโดย ปู่คออี้ มีมิ (เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ต.ค.61 ขณะอายุ 107 ปี) เป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิม ยืนยันได้จากแผนที่กรมแผนที่ทหาร ปี 2455 ที่ระบุถึงการมีอยู่ของหมู่บ้าน ใจแผ่นดิน

รวมไปถึงแผนที่ในปี 2512 ก็ระบุ ว่ามี หมู่บ้านใจแผ่นดิน เช่นเดียวกัน

เจ้าหน้าที่เผาบ้านชาวกะเหรี่ยง ในผืนป่าแก่งกระจาน

ขณะที่ ชาวบ้าน มีหลักฐานยืนยันว่าอยู่ในพื้นที่มาก่อน จากทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน หรือท.ร.ชข. ที่จัดโดย กรมประชาสงเคราะห์ ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขา หรือโครงการสิงห์ภูเขา (เป็นการสำรวจชาวเขาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2527) เมื่อปีพ.ศ.2531

พบชื่อของ ปู่คออี้ ถูกเขียนว่า นายโคอิ เป็นหัวหน้าครอบครัว เกิดเมื่อปีพ.ศ.2454 ที่จังหวัด “เพชรบุรี” ประเทศ “ไทย” พ่อชื่อ “มิมิ” แม่ชื่อ “พินอดี” ทุกคนเป็นชาวเขาเผ่า “กะเหรี่ยง” และนับถือ “ผี”

เท่ากับช่วยยืนยันว่า ปู่คออี้ เป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิม ที่อยู่ในพื้นที่มานานแล้ว พวกเขาไม่ใช่ผู้บุกรุกอย่างที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาแต่อย่างใด

และเมื่อพิจารณาจากปีที่ระบุถึงการมีอยู่ ของหมู่บ้านใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านถูกเผาขับไล่ที่ลงมา กับปี 2522 ที่ประกาศให้แก่งกระจาน เป็นอุทยานแห่งชาติ

ก็สรุปได้ว่า ชาวบ้านที่ถูกเผาบ้านนั้น อาศัยอยู่ในพื้นที่มาก่อนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

แล้วเหตุใดชาวบ้านที่อยู่มาก่อน ถึงถูกมอง และสร้างภาพให้เป็นผู้บุกรุก?

คำตอบหนึ่งที่สะท้อนภาพปัญหา ระหว่าง กลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล กับมโนทัศน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ คือวิทยานิพนธ์ เรื่อง “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ในมุมมองของกลุ่มชาติพันธุ์ในคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้” คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ของ เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

ในงานศึกษาดังกล่าวระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่สูง กับ รัฐไทยนั้น เริ่มตั้งแต่การนิยามจำนวนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีทั้งหมด 23 กลุ่ม แต่กลับถูกกำหนดให้มีเพียง 9 กลุ่มเท่านั้น

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ มาจากนิยามที่มีนัยยะทางการเมือง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้ภาพของชาวเขาแตกต่างจากคนพื้นราบ ในมิติต่างๆ ทั้ง ด้าน จิตวิญญาณ และ ด้านวัตถุ เช่น ความรู้ศีลธรรม ฐานะ พฤติกรรมชั่วนอกกฎหาย พื้นที่อยู่กระทบต่อระบบนิเวศน์ ความเป็นเจ้าของประเทศ

ทัศนคติดังกล่าว นำมาสู่การออกกฎหมายและนโยบายที่เลือกปฏิบัติโดยรัฐ

ความเชื่อเช่นนี้ ปรากฎให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

ชาวเขา ถูกเลือกปฏิบัติผ่านกลไกรัฐ ด้วยการกระทำอย่างเป็นระบบ ทั้งยังเน้นย้ำภาพดังกล่าวซ้ำๆ จนกลายเป็นความเชื่อวิทยาศาสตร์ ที่ถูกต้องจนไม่อาจโต้แย้งได้

โดยในช่วงหลัง พ.ศ.2500 มีงานวิชาการที่ผลิตซ้ำ ทั้ง ด้านกฎหมาย นโยบาย งานวิชาการด้านป่าไม้ งานด้านอุทกศาสตร์

เช่น การบรรจุไว้ในบทเรียนของนักเรียนนักศึกษา การเผยแพร่ออกสื่อทุกช่องทาง การกําหนดเป็นนโยบายของหน่วยงานรัฐทุกระดับ

ตอกย้ำความเชื่อที่ว่าชาวเขาทําลายป่าสู่สังคมไทย

ปู่คออี้ ร้องเรียนสภาทนายความ

ข้อมูลดังกล่าว ถูกทำให้กลายเป็นความเชื่อทางวิชาการ และกฎหมาย รวมไปถึงในสำนึกของประชาชน ว่าการแผ้วถางป่าบนภูเขา เป็นต้นเหตุที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และแม่น้ำ ที่รัฐบาลต้องมีมาตรการจัดการอย่างเข้มงวด เด็ดขาด

โดยหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงการทำลายป่า ด้วยฝีมือของคนพื้นราบ ซึ่งมีพื้นที่ความเสียหายมากกว่าคนบนดอยอย่างไม่อาจเทียบกันได้

ที่สำคัญ ระบบกฎหมาย และนโยบายป่าไม้ ที่ถูกรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ไม่เข้าใจวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในเขตป่าเขา

ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างหนักหน่วง และมีปัญหาตามมามากมายตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

หากวิเคราะห์จากงานศึกษา การเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ถือเป็นเหตุการณ์ไล่รื้อที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ระหว่างรัฐ กับ ชาวบ้าน

เป็นผลสะท้อนมาจากวิธีคิด และมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่าเขา

และยิ่งชัดเจนขึ้นจากคำสัมภาษณ์ของ นายชัยวัฒน์ หัวหน้าชุดที่บุกขึ้นไปเผาบ้าน และยุ้งฉางของคนกะเหรี่ยง ซึ่งกล่าวว่า ไม่คิดว่าจำเป็นต้องขอโทษชาวปกาเกอะญอ เพราะเป็นผู้ที่บุกรุกผืนป่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เป็นการรักษาธรรมชาติ

ความขัดแย้งบนผืนป่าแก่งกระจาน ไม่อาจจบลงด้วยการตกลงกันระหว่าง เจ้าหน้าที่อุทยานฯ และชาวบ้าน จนต้องยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ในเวลาต่อมา

และกว่าจะมีคำตัดสินออกมา ในเวลาที่ทอดยาว ระหว่างทางในการต่อสู้ของทั้งสองฝ่าย เป็นฝั่งชาวบ้านชีวิตที่ต้องสูญหาย และถูกฆาตกรรม อย่างน่าสลดใจ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

จุดจบ บิลลี่ มรณกรรมคนชายขอบ

หลังเปลวเพลิงสงบลง ความจริงจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่อุทยานฯ บุกขึ้นไปเผาบ้าน และยุ้งข้าวคนกะเหรี่ยง ก็ค่อยๆปรากฎขึ้น

ต้นเดือนกันยายน พ.ศ.2554 ปู่คออี้ พร้อมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ลงมาจากบนดอย ร้องเรียนสภาทนายความ บอกเล่าความจริงอีกด้าน ที่ต่างไปจากคำพูดของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ

ในวันนั้น ปู่คออี้ พนมมือขึ้นเหนือหัว ท่องบทสวดภาษากะเหรี่ยง ถึงเจ้าป่าเจ้าเขา เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่พูดออกมาทั้งหมดเป็นความจริง

ปู่ บอกว่า อาศัยอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ไม่ใช่คนที่ข้ามมาจากฝั่งพม่า ไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่าเหมือนที่ถูกกล่าวหา

ยืนยันว่า ถูกบุกขึ้นไปเผาบ้าน ยุ้งข้าว และทรัพย์สินของมีค่า จริง

ถัดมาเพียงสัปดาห์เดียว หลังการให้ข้อมูลครั้งแรกของปู่คออี้ ทัศน์กมล โอบอ้อม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า อ.ป๊อด ก็ถูกลอบยิงจนเสียชีวิต

โดยประเด็นสังหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ความสำคัญกับปมที่ นายทัศน์กมล เป็นผู้ประสานงาน ช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกเผาบ้าน ซึ่งร้องเรียนการกระทำที่รุนแรง ของเจ้าหน้าที่ไปยังสภาทนายความและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

การตายของ อ.ป๊อด สร้างความหวาดผวาให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก จนบางคนถึงกับถอดใจ ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับการฟ้องร้อง เพราะกลัวอันตรายจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล

ก่อนในท้ายที่สุด ชาวบ้านส่วนมากยืนยันที่จะเรียกร้องความเป็นธรรม พวกเขาเดินหน้าให้ข้อมูลกับนักกฎหมายจากสภาทนายความอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังหวาดหวั่นกับอิทธิพลมืดในพื้นที่อยู่ก็ตาม

ต่อมาเมื่อได้ข้อเท็จจริงจำนวนหนึ่งแล้ว ปู่คออี้ และชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน รวม 6 คน ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 4 พ.ค.2555

ขอสิทธิอาศัยในพื้นที่เดิมที่ตั้งรกรากมายาวนานร่วม 100 ปี

ปู่คออี้ ขึ้นศาล

ปู่คออี้ ขึ้นศาล

โดยมี บิลลี่ หลานของปู่ ซึ่งสามารถเขียนและอ่านภาษาไทยได้ดีที่สุดในหมู่บ้าน เป็นพยานปากสำคัญ และมีนัดเบิกความต่อศาลปกครองในวันที่ 18 พ.ค.2557

ทว่า ในวันที่ 17 เม.ย.2557 ก่อนขึ้นเบิกความเพียง 1 เดือน บิลลี่ ได้หายตัวไป หลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ควบคุมตัวในข้อหาครอบครองน้ำผึ้งป่าพร้อมรถจักรยานยนต์ สีเหลืองดำ ทะเบียน ขพง 998

นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ไม่มีใครได้พบ บิลลี่ อีกเลย แม้มีความพยายามเติมแต่งเรื่องของบิลลี่ ว่ามีคนเห็นบิลลี่ ไปอยู่ที่ชะอำบ้าง มีคนเห็นบิลลี่ ข้ามไปพม่าบ้าง

แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว กลับไม่พบเหมือนที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด

จากการสอบสวนเชิงลึก ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดย พ.ต.อ.ไตรวิช น้ำทองไทย อดีต รองผบก.สส.ภาค 7 หัวหน้าทีมสืบสวนคดีการหายตัวไปของ บิลลี่

ระบุชัดเจนว่า ยังไม่มีการปล่อยตัวบิลลี่ ตามที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯกล่าวอ้าง

หลังการหายไปของบิลลี่ มึนอ ที่เจ็บช้ำยิ่งกว่าใคร อุ้มลูกออกตามหาสามี อย่างบ้าคลั่ง เธอเข้ายื่นเรื่องต่อผู้มีอำนาจ ร้องเรียนหลายหน่วยงานรัฐ เพียงหวังว่าจะมีคนช่วยเหลือเธอออกตามหาสามี รวมทั้งยื่นฟ้องศาลให้มีคำสั่งปล่อยตัวบิลลี่

แต่ทุกอย่างกลับสูญเปล่า ไม่มีใครบอกเธอได้ว่า บิลลี่หายไปไหน ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

มึนอ อุ้มลูกออกตามหาบิลลี่

กระทั่งเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2562 ดีเอสไอ แถลงว่า พบชิ้นส่วนกระดูกในถังน้ำมัน 200 ลิตร ที่เขื่อนแก่งกระจาน

เป็นของ “บิลลี่” ที่เสียชีวิตโดยไม่ทราบวิธีที่ทำให้ตาย แต่นำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี ยืนยันได้จาก การตรวจดีเอ็นเอ ของชิ้นส่วนกระดูก ซึ่งตรงกับ นางโพเราะจี รักจงเจริญ แม่ของบิลลี่

สรุปข้อสงสัยของ มึนอ และครอบครัว รวมทั้งผู้คนในสังคมว่า บิลลี่หายไปไหนได้ส่วนหนึ่ง

ต่อจากนี้ ดีเอสไอ ที่กำลังทำงานอย่างหนัก ต้องคลี่ปมสำคัญให้ได้ว่า ใครเป็นคนฆ่าบิลลี่

โดยดีเอสไอรับปากว่า ขอเวลาอีก 3 เดือน ในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อความแน่นหนาของสำนวน หวังมัดคนผิดให้ไม่มีทางดิ้นหลุด เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลที่ไม่ธรรมดา!

และแม้จะรู่ว่าบิลลี่ ตายแล้ว แต่สังคมยังคงสงสัยว่า ทำไมต้องเป็น บิลลี่ ที่ถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยม

จากข้อมูลพบว่า ก่อนที่บิลลี่จะหายตัว เขากำลังจัดทำข้อมูลของชุมชนบางกลอย ทั้งแผนที่ทำมือจากความทรงจำของปู่คออี้ ประวัติแต่ละครอบครัว ตลอดจนเขียนหนังสือถวายฎีกา ถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ถูกเผาบ้าน

นอกจากนี้ยังมีภาพปรากฎในภายหลังว่า บิลลี่ แอบถ่ายที่เจ้าหน้าที่อุทยานขณะกำลังตัดไม้

การฆาตกรรม บิลลี่ จึงเท่ากับการตัดตอนคนเชื่อมโยง ระหว่างชาวบ้าน กับโลกภายนอก

นายสุรพงษ์ กองจันทึก หัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ไขข้อข้องใจในเรื่องนี้ว่า สิ่งที่บิลลี่ทำนั้นเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะเขากำลังพูดถึงเรื่องคนอยู่กับป่า ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทำให้มองว่าพวกเขาไม่ใช่คน พวกเขาเป็นคนนอกประเทศ เป็นคนทำลายป่า เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

“บิลลี่ กำลังทำข้อมูลเพื่อบอกทุกคนว่า ชาวบ้านที่ถูกเผาบ้าน นั้นเป็นชนเผ่าพื้นเมือง พวกเขาเป็นคนไทย อาศัยอยู่ในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมาเป็นเวลานานแล้ว”

หัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน บอกอีกว่า บิลลี่ พยายามรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของประชาชน สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่ถูกละเมิด ซึ่งเรื่องที่เขากำลังทำนั้น เป็นเรื่องที่รัฐไม่เข้าใจ และหากเรื่องที่บิลลี่กำลังทำนั้นสำเร็จ จะส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่อุทยานฯที่ขึ้นไปเผาบ้านของชาวบ้านอย่างแน่นอน

 

ชีวิตคนข้างหลังบิลลี่ แม่เลี้ยงเดี่ยว กับฝันยิ่งใหญ่เพื่อชาติพันธุ์

มึนอ หญิงแกร่งที่ต่อสู้เลี้ยงลูก 5 คน เพียงลำพัง แม้จิตใจภายในจะเจ็บปวด ร้าวราน เพียงใดแต่ในฐานะ แม่ เขาต้องอดทน และประคับประคองเลี้ยงลูกทั้งหมด ให้เติบโตสุดความสามารถ

แม้จะเหนื่อยแสนเหนื่อย แม้จะทุกข์แสนเข็ญ และแม้จะท้อแท้ขนาดไหนก็ตาม

หลังมื้ออาหารในเย็นวันหนึ่ง มึนอ พร้อมลูกๆ ล้อมวงนั่งดูโทรทัศน์ เป็นภาพอบอุ่น ของครอบครัวเล็กๆครอบครัวหนึ่ง

มึนอ และลูกทั้ง 5 คน

มึนอ เริ่มต้นเล่าว่า ช่วงนี้เหนื่อยใจมาก ในหลายๆอย่าง แต่ก็บอกไม่ถูก เพราะจิตใจมันเหนื่อย ยิ่งเมื่อรู้ความจริงว่าพี่บิลลี่ตายแล้ว ร่างกายยิ่งแย่ไปใหญ่

มันเหมือนว่าเรารู้ทั้งรู้ว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้พี่บิลลี่ตาย แต่เหมือนว่าคนทำความผิดกำลังโกหก และหลอกคนทั้งโลก ว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของพี่บิลลี่ ซึ่งเมื่อเห็นอย่างนี้แล้วมันทำให้ความคิดต่างๆตีบตัน สับสนไปหมด ”

แม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ต้องดูแลลูกถึง 5 คน เล่าต่อว่า เด็กๆทุกคนตอนนี้สบายดี แต่เขาก็มาถามเราว่าใครเป็นคนฆ่าพ่อเขา ทำไมถึงทำกับพ่อของเขาอย่างโหดเหี้ยมเพียงนี้ ทุกคนอยากรู้และกำลังรอคอยคำตอบอยู่ ซึ่งตนก็บอกลูกๆเสมอว่าถ้าคิดถึงพ่อเขาให้ตั้งใจเรียน และต้องเป็นเด็กดี

ตอนพี่บิลลี่ หายไป ใจหนึ่งก็ยังรอคอย ว่าเขาไปอยู่ที่ไหน เป็นตายร้ายดีอย่างไร ทำไมถึงยังไม่กลับมา แต่เมื่อรู้ความจริงจากดีเอสไอ ว่าพี่บิลลี่ตายแล้ว แม้เราจะทำใจเรื่องนี้ไว้แล้ว แต่มันก็ตกใจ ความรู้สึกมันเหมือนมีลมตีขึ้นมาแน่นออกจนพูดไม่ออก

“ความรู้สึกหลายอย่างประเดประดังเข้ามามากมาย ทำไมชีวิตต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ ทำไมคนดีๆถึงไม่มีที่ยืนในสังคม แล้วทำไมคนไม่ดีถึงเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคมได้ มันเหนื่อยใจที่ทำอะไรไม่ได้”

“มันเจ็บปวดที่เกิดมาเป็นมนุษย์ก็ทำแต่ความดี แต่สิ่งที่เกิดกับเราคือความตาย มันเป็นความคิดที่วนเวียนอยู่ตลอดว่า ทำไมเรื่องนี้ถึงมาเกิดกับครอบครัวของเรา”

เวลาที่เหนื่อย เวลาที่คิดอะไรหลายๆอย่าง เมื่ออยู่คนเดียวก็มีบ้างที่บางครั้งเวลาคิดมากๆน้ำตาก็ไหลออกมา มันดีนะ เมื่อร้องแล้วก็รู้สึกโล่งอก น้ำตาก็ช่วยลบล้างความรู้สึกได้บ้างในบางเวลา

อย่างไรก็ตาม แม้เจ็บปวดต่อการจากไปของบิลลี่ เพียงใด แต่ความหวัง และความฝันของ มึนอ กลับไม่ใช่การแก้แค้นต่อกลุ่มคนร้าย

“อยากให้อุทยานฯ มีความเข้าใจชาวบ้าน เข้าใจวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยง รวมทั้งชาติพันธุ์อื่นๆที่อาศัยอยู่ในป่า ซึ่งถ้าเข้าใจกันแล้ว ก็คงอยู่ด้วยกันได้อย่างเข้าใจ”

“ความหวังของตนคือ ให้ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับอุทยานฯได้อย่างปกติสุข ไม่มีปัญหาต่อกันเหมือนที่ผ่านมา อยู่แบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา อยู่อย่างรักและเข้าใจกัน”

“ส่วนในเรื่องคดีความก็อยากเห็นคนที่ทำกับพี่บิลลี่ โดนจับมาดำเนินคดี และหวังว่าจะสามารถสาวไปถึงคนกระทำผิดได้ในที่สุด”

นอกจากความจริงทิ่มแทงส่วนลึกในใจ ชีวิตที่ต้องประคับประคองให้อยู่รอดไปได้ในแต่ละวัน ก็ไม่ง่ายเลย สำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยวอย่างเขา

ชีวิตหลังจากไม่มีบิลลี่ นอกจากความเศร้า ความกลัว แล้วมันยังเหนื่อยมากๆ ที่ต้องเลี้ยงลูก 5 คน รวมทั้งแม่ และหลาน โดยรายได้หลักทุกวันนี้มาจากการทำไร่ ทำสวน ปลูกพืชผัก พริก มะนาว เอาไปขาย

แต่มันก็ไม่พอที่จะเอาเงินมาดูแลคนทั้งครอบครัวได้ ต้องรับจ้างทอผ้าเพื่อหารายได้พิเศษเพื่อเอามาเลี้ยงดูทั้ง 7 ชีวิต บางครั้งมีคนเชิญไปประชุม อบรม ซึ่งจะมีค่าเดินทางด้วย ก็เอาเงินจากตรงนั้นมาใช้บริหารภายในบ้าน” มึนอ เล่าชีวิตหนักหนา

และถึงแม้ต้องเลี้ยงดูลูก หลาน และแม่ ถึง 7 ชีวิต แต่ มึนอ กลับมีเงินใช้เพียงเดือนละ 5-6 พันบาท ในการบริหารค่าใช้จ่ายในครอบครัว ทำให้ลูกๆ ที่เคยกินอิ่มท้อง และได้กินของอร่อยอยู่เสมอๆเมื่อตอนพ่อเขาอยู่ ต้องกินข้าวเพียงเพื่อให้อิ่มท้องเท่านั้น

มึนอ เล่าว่า ตอนนี้ลูกทั้ง 5 คน กำลังอยู่ในวัยเรียน 3 คน เรียนอยู่ชั้นประถม อีก 2 คน อยู่มัธยมตอนต้น ยังโชคดีที่ยังไม่ต้องเสียค่าเทอม แต่ก็มีค่าอุปกรณ์การเรียนที่เราต้องหาเงินมาให้กับลูก

ส่วนค่าใช้จ่ายในครอบครัว ก็ต้องซื้อทุกอย่าง ข้าวก็ไม่ได้ปลูก ต้องซื้อเดือนละ 3 ถัง ส่วนกับข้าวก็ต้องลดลง จากเดิมที่เด็กๆจะได้กินของอร่อยบ่อยๆ เพราะพ่อเขาจะทำอาหาร และหาวัตถุดิบมาทำให้ลูกกินเป็นประจำ

พี่บิลลี่มักพาเด็กๆไปงมหอยที่เขื่อน เพื่อเอาหอยลายผัด ซึ่งทุกคนจะมีความสุขมาก พวกเขาจะกินกันอย่างอิ่มหนำสำราญ และบอกเสมอว่ารสมือพ่อเขาโคตรอร่อย

แต่หลังจากพ่อเขาหายไป ความสุขระหว่างมื้ออาหารของครอบครัวเล็กๆก็หายไป

มึนอ บอกว่า ทุกวันนี้ต้องจำกัดหลายอย่าง อาหารอร่อยๆนานๆครั้งถึงจะมีโอกาสทำให้ลูกได้กิน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเงินที่เรามีอยู่ เพราะจะใช้ให้พอแต่ละเดือนก็ยากแล้ว แต่ก็ไม่ยากไปกู้หนี้ยืมสินใคร ค่อยๆประคับประคองให้มันผ่านไปให้ได้

“บางวันถ้าไม่มีเงินจริงๆก็ต้องลดค่าขนมของลูก หรือไม่ให้ลูกไปโรงเรียนเลย ไฟฟ้าก็ใช้ให้น้อยลง น้ำประปาก็ต้องประหยัด ในฤดูฝนก็ลองน้ำฝนมาไว้กินไว้ใช้แทนน้ำประปา” มึนอ สรุปข้อจำกัดในชีวิต

………………………….

เรื่องที่เกิดขึ้นกับ บิลลี่ สะท้อนปัญหาความไม่เข้าใจกัน ระหว่างรัฐ และคนอยู่กับป่า อย่างเด่นชัด และเมื่อดูสถานการณ์ในปัจจุบัน ตั้งแต่นโยบายทวงคืนผืนป่า เรื่อยมาจนถึง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ทำให้เกิดข้อจำกัด และส่งผลกระทบ ต่อการใช้ชีวิต ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่า

ปรากฎข่าว ไล่รื้อ จับกุม คุมขัง และดำเนินคดีชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง

มรณกรรม บิลลี่ มีจุดเริ่มต้นมาจากความไม่เข้าใจกันระหว่าง เจ้าหน้าที่รัฐ กับ ชาวบ้าน

ทางออกจากปัญหา นอกจากต้องเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้พูดคุย เรียกร้อง ต่อรองแล้ว

รัฐเอง จำเป็นต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจ เรื่องวิถีชาติพันธุ์อย่างจริงจัง รวมทั้งปรับความเข้าใจใหม่ว่า คนกับป่า สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข

จำนวนมากของป่าเขาที่เขียวขจีที่เราพบเห็น ก็มาจากการเฝ้าดูแล และอยู่อย่างเคารพต่อธรรมชาติ ของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่สูง

……………………………………………

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน