กรธ.ส่งร่างกม.ลูกพรรคการเมือง-กกต.ให้สนช.วันนี้ โยนรับผิดชอบเอง ถ้าแก้เนื้อหาแล้วยืดเยื้อ สนช.มั่นใจเสร็จตามกรอบ 60 วัน “ครูหยุย”ยอมรับนักการเมืองรุมต้านกม.พรรคการเมือง ทั้งปมสมาชิก-มุ่งลงโทษรุนแรง “สมชัย”หวั่นปัญหากกต.ขาดคุณสมบัติต้องพ้นหน้าที่ทันทีส่อทำการเมืองติดล็อกทั้งประเทศ บิ๊กตำรวจฮึ่มคนแจ้งหมุดคณะราษฎรหาย ย้อนถามมรดกใคร เตือนแสดงสัญลักษณ์บริเวณพระราชวังดุสิต เสี่ยงเข้าข่ายผิดคำสั่งคสช.-กม.ชุมนุมสาธารณะ “จ่านิว”ถามกลับ”หมุดหน้าใส”ของใคร ลั่นจะนำอันจำลองไปติดแทนก่อน นักศึกษาธรรมศาสตร์จัดกิจกรรมเรียกร้องนำหมุดคืน

 

บิ๊กตร.เตือนคนหาหมุดคณะราษฎร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีนายพริษฐ์ รัตนกุลเสรีเริงฤทธิ์ อายุ 30 ปี หลานชายหลวงเสรีเริงฤทธิ์ พร้อมด้วย น.ส.ภัคจิรา กีรติวิบูลย์วงศ์ นิสิตชั้นปี 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.ส.สุทธิดา วัฒนสิงห์ นักศึกษา ชั้นปี 3 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายคุณภัทร คะชะนา นิสิตชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยรามคำแหง เดินทางเข้าลงบันทึกประจำวันกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสน. ดุสิต เพื่อเป็นหลักฐานและให้ช่วยติดตามหมุดคณะราษฎร สัญลักษณ์เหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 ที่อยู่บริเวณลานหน้าพระบรมรูปทรงม้า ที่หายไปเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่สน.ดุสิต พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) เปิดเผยว่า ผู้มาเเจ้งความหมุดดังกล่าวนั้น ถามว่าเป็นทรัพย์มรดกของตนเองหรือเป็นทรัพย์สินของบุคคลใด และเป็นผู้เสียหายหรือไม่ จึงเข้ามาเเจ้งความร้องทุกข์ หากยืนยันว่าเป็นทรัพย์มรดกตนเองจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็พร้อมดำเนินการให้ ทั้งนี้บริเวณดังกล่าวเป็นสถานที่ของตนเองหรือไม่ จึงนำหมุดดังกล่าวไปวางไว้ ความจริงแล้วพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อะไรจึงนำของส่วนตัวไปวางไว้ อย่างไรก็ตามฝากเตือนกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องนี้ ให้เลี่ยงแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในบริเวณพื้นที่ลานพระราชวังดุสิต เพราะอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และพ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะได้

“จ่านิว”ถามกลับ”ศรีวราห์”

ด้าน สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กถึง พล.ต.อ.ศรีวราห์ โดยระบุว่านายบอกว่าหมุดคณะราษฎร เป็นทรัพย์สินของใครไม่รู้ เจ้าทุกข์ที่มาร้องว่าหมุดหายต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สิน แล้วหมุดหน้าใส ที่ไปติดแทนหมุดคณะราษฎร เป็นของใคร มีเจ้าของหรือไม่

“ถ้าไม่มี ผมจะได้ไปขุดออก แล้วเอาหมุดคณะราษฎรอันจำลอง ที่ผมมีขนาดเท่าของจริง ไปติดตั้งแทนให้ก่อน จนกว่าของเดิมจะกลับคืนมา หรือจะให้ผมบริจาคแทนก็ได้ เพราะตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าหมุดจริงอยู่ไหน และถ้าใครไปแจ้งความ ผมก็จะตอบแบบ ศรีวราห์ตอบ…”

นศ.ปลุกช่วยทวงคืน

เวลา 16.30 น. ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นักศึกษา 3 รายจาก กลุ่ม PPDD ธรรมศาสตร์ร่วมกับกลุ่ม เสรีเกษตร์ จัดกิจกรรม “ประชาชนหน้าไม่ใสก็ได้ป่ะ??” เพื่อเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับ การขโมยหมุดคณะราษฎรมาคืน ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส โดยกลุ่มนักศึกษาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการล้างหน้าลบเครื่องสำอาง บริเวณลานรูปปั้น ปรีดี พนมยงค์ จากนั้นจึงเดินทางไปยังหมุดทองเหลืองคณะราษฎรจำลอง บริเวณลานประติมากรรม หน้าหอประชุม ก่อนนำน้ำมาล้างหมุดจำลอง พร้อมทั้งอ่านข้อความโดยรอบหมุดความว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ”

น.ส.ปั๊บ นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรามาท้าพิสูจน์ว่า ประชาชนหน้าใสจริงหรือไม่ ถ้าไม่หน้าใส จะใช่ประชาชนหรือไม่ ซึ่งจะเห็นว่า พอล้างหน้าแล้ว หน้าเราไม่ได้ใสทุกคน บางคนก็มีสิว แล้วประชาชนสุขสันต์จริงหรือไม่ จึงขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกคนช่วยกันร่วมลงชื่อเรียกร้องทวงคืนหมุดคณะราษฎร บนเว็บไซต์ change.org หัวข้อ “เอาผิดผู้ทำลาย และต้องคืนหมุดคณะราษฎร” ที่เสนอโดย นายชำนาญ จันทร์เรือง เพื่อให้มีความคืบหน้าในการสืบสวนกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะ ผอ.เขตดุสิต ที่ดูแลพื้นที่ ต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้มีการเปิดกล้องวงจรปิดบริเวณรอบพื้นที่เกิดเหตุด้วย ส่วนทางนักศึกษาจะมีการจัดอภิปราย เกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร ช่วงสิ้นเดือนเม.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การทำกิจกรรมดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 20 นาที ก่อนที่กลุ่มนักศึกษา จะแยกย้ายกัน โดยระหว่างการทำกิจกรรม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 5 นาย คอยถ่ายรูปและสังเกตการณ์

กรธ.โยนสนช.รับผิดชอบกม.ลูก

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. นายอมร วาณิชวิวัฒน์ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกรธ.จะยื่นร่างพ.ร.บ.ประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดในวันที่ 18 เม.ย.ว่า บทบัญญัติของร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ไม่มีการปรับหลักการหรือรายละเอียดจากที่นำเสนอในเวทีรับฟังความเห็นของพรรคการเมืองไปก่อนหน้านี้ ประเด็นสำคัญและเป็นที่ยอมรับของพรรคร่วมกัน คือกรณีกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขให้พรรคต้องปรับตัว หากไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จตามเวลาจะได้รับโทษคือการยุบพรรค รวมถึงกรณีกำหนดให้สมาชิกพรรคชำระค่าบำรุงพรรค ทั้งนี้ เนื้อหาที่กรธ. เสนอไปยัง สนช.นั้นสามารถปรับปรุงเนื้อหาที่ไม่ใช่สาระสำคัญหลักได้ ส่วนตัวเชื่อว่าประเด็นรายละเอียดนั้นจะไม่ทำให้เกิดปัญหาต่อการยอมรับหรือไม่ยอมรับร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

“ยืนยันว่ากรธ.จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ไม่ใช่รับฟังพรรคใหญ่มากกว่าพรรคเล็ก หรือทำเพื่ออุ้มพรรคใด และวางหลักการให้พรรคสามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชนได้เป็นหลักสำคัญ แต่ชั้นนี้ยอมรับว่า สนช. ยังมีความเห็นที่แตกต่าง หลากหลาย และมีบางประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหา ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของสนช. แต่การแก้ไขรายละเอียดต้องคำนึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รวมถึงการแก้ไขนั้นจะทำให้ขัดกับรัฐธรรม นูญใหม่หรือไม่ และหากสนช. แก้ไขแล้วมีปัญหา หรือทำให้เสียเวลา หรือเวลายืดเยื้อออกไป สนช.ต้องรับผิดชอบ” นายอมรกล่าว

สนช.เล็งถกวาระแรก 21 เม.ย.

พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวว่า หลังจากสนช.ได้รับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองและ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต. จากกรธ.แล้วจะนำเข้าสู่การที่ประชุมของวิปสนช. ในช่วงบ่ายวันที่ 18 เม.ย.ทันที เพื่อพิจารณากรอบเวลาการทำงานและทำให้แล้วเสร็จภายใน 60 โดยแนวทางเบื้องต้นที่วิปสนช.ได้หารือ คือ เมื่อได้รับร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้ว จะนำบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสนช.ในวันที่ 21 เม.ย.และให้สมาชิกพิจารณาในวาระแรก จากนั้นจะตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แต่ละฉบับ โดยกำหนดให้มีสัดส่วนที่เป็นตัวแทนจาก กรธ. ร่วมเป็นกมธ.ด้วย

สำหรับเวลาที่ต้องปรับแก้ไขปรับปรุงรายละเอียดนั้นได้กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน โดยระหว่างนี้ สนช. จะจัดสัมมนานอกสถานที่ช่วงกลางเดือนพ.ค.นี้เพื่อให้สมาชิก สนช. พิจารณาและนำเสนอความเห็น และเมื่อกระบวนการดังกล่าวเสร็จจะเข้าสู่วาระ2 และ 3 ต่อไป ดังนั้นระยะเวลาที่สนช. พิจารณา จะไม่เกินกรอบเวลาที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรม นูญอย่างแน่นอน

“ทวีศักดิ์”ปัดมีธงล่วงหน้า

ด้านนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน รองประธานคณะกรรมาธิการการเมือง สนช. และในฐานะรองประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยกกต. สนช. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการฟันธงว่าจะแก้ไขหรือไม่แก้ไขในสิ่งที่กรธ.เขียนมา แต่ในการพูดคุยกันนอกรอบ มีการพูดถึงเรื่องกกต.จังหวัดเดิมว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง รวมถึงการให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่กรธ.เขียนขึ้นมาใหม่ มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง ซึ่งขั้นตอนในตอนนี้ได้แต่ศึกษาและประมวลความคิดเห็นเท่านั้น หากฟันธงไปทางใดทางหนึ่ง คงจะล้ำหน้าเกินไป อาจถูกครหาว่ามีธงมาแล้วได้ เพราะเรายังไม่เห็นร่างกฎหมายลูกตัวจริงของกรธ.อย่างเป็นทางการ

ก่อนหน้านี้เห็นแต่ร่างคร่าวๆ ผ่านสื่อเท่านั้น ซึ่งไม่แน่ว่าร่างกฎหมายลูกตัวจริงที่จะเปิดเผยออกมาอาจไม่เหมือนที่ลงตามสื่อก็ได้ ดังนั้น ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดจนกว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาอย่างเป็นทางการ หลังจากรับร่างกฎหมายจาก กรธ.แล้ว

“ครูหยุย”เผยถูกรุมต้านกม.พรรค

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช.ในฐานะโฆษกคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ. พรรคการเมือง สนช. กล่าวว่า ในวันที่ 18 เม.ย. กรธ.จะส่งร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองให้สนช.อย่างเป็นทางการ เพื่อให้สนช.พิจารณาออกกฎหมายฉบับดังกล่าวให้เสร็จภายใน 60 วัน ที่ผ่านมาคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่มีพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม เป็นประธานได้พิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองมาแล้วล่วงหน้าในระดับหนึ่งโดยเชิญพรรคการเมืองมาให้ความเห็น

พบว่าพรรคการเมืองทุกพรรคเห็นตรง กันว่า ร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับนี้มองพรรคการเมืองด้วยสายตาเป็นลบ มุ่งเน้นลงโทษพรรคการเมืองอย่างรุนแรงมากกว่าการส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง รวมถึงการให้สมาชิกพรรคต้องเสียค่าสมาชิกพรรคปีละ 100 บาท ซึ่งไม่สมควรให้สมาชิกพรรคเสียเงินจำนวนนี้ ควรให้เป็นเหมือนเดิมคือไม่ต้องเสียค่าสมาชิกพรรค

ปมสมาชิก-บทลงโทษ-ยันไม่เซ็ตซีโร่

นายวัลลภกล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากวันที่ 18 เม.ย. คณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่จะเปลี่ยนไปเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง จะนำความเห็นของพรรคการเมืองมาประกอบการพิจารณายกร่างกฎหมายลูกฉบับดังกล่าวให้เสร็จภายใน 60 วัน โดยเท่าที่ดูเนื้อหาฉบับ ของกรธ.เห็นว่า 70% ตรงกับที่สนช.ศึกษามา แต่อาจต้องเน้นมากหน่อยในประเด็นที่พรรค การเมืองท้วงติงมากคือ การให้สมาชิกพรรคต้องเสียค่าสมาชิกปีละ 100 บาท และเรื่องการกำหนดบทลงโทษรุนแรง เพราะบางเรื่องพิสูจน์ได้ยากเช่น กรณีการให้นอมินีที่เป็นบุคคลภายนอกพรรคเข้ามาครอบงำหรือก้าวก่ายการบริหารพรรคที่เป็นเรื่องพิสูจน์ลำบาก

นอกจากนี้ยังเห็นว่า การให้พรรคการเมืองต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ 10,000 คน ภายใน 4 ปีนั้น พรรคขนาดใหญ่และพรรคขนาดกลางคงไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาต่อพรรคเล็กในการหาสมาชิกพรรค เช่น พรรคที่เป็นการรวมตัวกันของเกษตรกรหรือเยาวชนคงลำบาก อาจจะต้องปรับให้เหมาะสม ส่วนการเซ็ต ซีโร่พรรคการเมืองใหม่ทั้งหมด ยืนยันว่า สนช.ไม่ทำแน่นอน เพราะขัดต่อหลักการ ที่กรธ.เสนอมา และทำไม่ได้อยู่แล้ว

ปชป.ชี้ทำชาวบ้านลำบากด้วย

ส่วนนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวว่า ข้อเสนอต่างๆ เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองพรรคได้แจ้งกับกรธ.ไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งบางส่วนกรธ.ไปปรับแก้ก่อนออกมาเป็นร่างกฎหมาย บางส่วนยังไว้คงเดิม ซึ่งพรรคพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่อยากชี้ให้เห็นว่ากฎหมายที่ออกมาจะมีความยากในทางปฏิบัติ ไม่ใช่ความยากลำบากกับพรรค แต่เป็นความยากลำบากของประชาชนด้วย โดยเฉพาะประชาชนที่สนใจเป็นสมาชิกพรรคการ เมือง ต้องสูญเสียบางอย่างไป

เรื่องการจ่ายค่าสมาชิกนั้น จริงๆ แล้วคนเป็นสมาชิกพรรค ที่จ่ายค่าสมาชิกเป็นการจ่ายค่าบำรุงพรรค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วม แต่ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นเรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ของการเมืองบ้านเรา แต่เมื่อกฎหมายออกมาให้ปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติตามนั้น พรรคต้องชี้แจงให้สมาชิกทราบว่าต้องจ่ายค่าบำรุงพรรค แม้ที่ผ่านมา จะมีการจ่ายค่าบำรุงพรรคแต่ไม่ได้บังคับ อย่างไรก็ตาม กฎหมายพรรคการเมืองที่จะออกมา ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้พรรคได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แต่พรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ต้องทำงานหนักพอสมควร

หวังได้โอกาสชี้แจงเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวถามว่าในชั้นการพิจารณาของ สนช. คาดว่าจะมีการปรับแก้ในส่วนที่ยังเป็นปัญหา ทางพรรคจะนำเสนอข้อมูลหรือไม่ นายองอาจกล่าวว่า เป็นสิทธิ์และเป็นอำนาจของสนช.จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องติดตามต่อว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก่อนหน้านี้ สนช.ทำงานประสานกับกรธ.มาแล้ว ดังนั้น พรรคต้องดูว่าจะเปิดโอกาสให้เราไปนำเสนอข้อมูลหรือไม่ เราพร้อมนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์

ส่วนที่เกรงกันว่า สนช.จะยื้อการเลือกตั้งออกไปนั้น คิดว่า สนช.คงไม่ตั้งใจจะยื้อการเลือกตั้ง เพราะกฎหมายกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่าจะต้องเสร็จเมื่อไร จึงคิดว่าโรดแม็ปการเลือกตั้งยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะกรธ.มีเวลาทำกฎหมายลูก 10 ฉบับ การที่รัฐบาลยังไม่ชัดเจนในการกำหนดวันเลือกตั้ง คงบอกไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าการพิจารณากฎหมายลูกจะไปเสร็จสิ้นเมื่อไร จะปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ แต่ถ้าทุกอย่างไม่มีการปรับแก้ไขก็ต้องเป็นไปตามโรดแม็ป ถ้ามีการปรับแก้ คงมีเวลาที่บวกหรือลบ ซึ่งคงไม่มาก และหากกฎหมายลูก 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับถ้าออกได้ไว จะมีส่วนทำให้เกิดการเลือกตั้งเร็วขึ้น

“ถาวร”เตรียมหวนคืนปชป.

นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลังจากรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้แล้ว บทบาทของกลุ่ม กปปส.จะดำเนินการใน 2 เรื่องหลักคือ 1.เสนอเรื่องการปฏิรูป และ 2.การปฏิรูปการศึกษา ส่วนเรื่องการกลับเข้าสู่วงการเมืองนั้นขอย้ำว่ามีแค่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ คนเดียวเท่านั้นที่ประกาศว่าจะไม่เล่นการเมือง ตนและแกนนำคนอื่นๆ ที่เป็นนักการเมืองยังคงเป็นสมาชิกพรรคประชาธิ ปัตย์ยังจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคอยู่ และพร้อมทำกิจกรรมตามแนวทางของพรรค ส่วนงานมูลนิธิเป็นเรื่องงานการกุศล จะทำงานทั้ง 2 ด้านควบคู่กัน ก็ไม่น่าจะขัดอะไร

“หลังจากนี้เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เปิดให้ประชุมพรรคได้แล้ว ผมพร้อมเข้าไปร่วมประชุมพรรค ทำกิจกรรมของพรรคเช่นกัน เพราะนักการเมืองคือประชาชนธรรมดา ยังคงประกอบอาชีพ ไม่ได้รอเงินเดือนจากการเป็นส.ส. และยังคงทำงานการกุศล ทำงานรับใช้ประชาชน ทำกิจกรรมทางด้านการเมือง ด้านสังคม ยังพบปะชาวบ้านอยู่ ส่วนการปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมืองหลังจากที่มีการบังคับใช้นั้นผมพร้อมทำตามและจะจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคการเมืองให้มากกว่าปีละ 100 บาทด้วย ที่ผ่านมานั้นผมเป็นคนเสนอด้วยซ้ำว่าให้เก็บเงินค่าสมาชิกพรรคตามค่าแรงขั้นต่ำต่อวันซึ่งคือปีละ 300 บาท” นายถาวรกล่าว

“สมชัย”หวั่นปัญหาตกเก้าอี้

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวถึงปัญหาคุณสมบัติของกกต.ปัจจุบันหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญว่า สนช.เตรียมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ที่กรธ.เสนอมา ซึ่งมีประเด็นเรื่องการดำรงตำแหน่งของกกต. และการสรรหากกต.เพิ่มเติมให้ครบ 7 คนตามรัฐธรรมนูญกำหนด ตนเห็นว่าการที่รัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นประเด็นสาธารณะที่ไม่ได้มีผลเฉพาะกกต. แต่ยังกระทบองค์กรอิสระอื่นๆ ด้วย แต่กกต.จะอยู่ต่อหรือไม่ก็แล้วแต่สนช. ใครมีคุณสมบัติครบก็อยู่ต่อ ไม่ครบก็ไป คิดว่าทุกคนพร้อมออก พร้อมเก็บของ

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่ากังวลใจไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติ แต่เป็นเรื่องบทเฉพาะกาลของร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต.กำหนดไว้ว่า เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาวินิจฉัยว่ากกต.ปัจจุบันใครขาดคุณสมบัติ เมื่อพบให้พ้นจากตำแหน่ง เป็นการพ้นในทันที เช่น วินิจฉัยวันนี้ พ้นจากตำแหน่งในวันต่อไปเลย และคำสั่งถือเป็นที่สุด ตรงนี้จะเกิดการติดล็อกของระบบการเมืองไทยทั้งประเทศหรือไม่

ส่อทำการเมืองติดล็อก

“สมมติมีองค์กรอิสระหนึ่งมีกรรมการที่คุณสมบัติไม่ครบเกินครึ่ง คณะกรรมการสรรหาลงมติวันที่ 31 มี.ค. วันที่ 1 เม.ย.ต้องออกทันที ทำให้องค์คณะขององค์กรอิสระนั้นเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่ง การจะพิจารณาเรื่องสำคัญก็ทำไม่ได้ เมื่อไปดูขั้นตอนการสรรหาคณะกรรมการสรรหาจะใช้เวลา 30 วันสรรหากรรมการมาทดแทน หรือเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดตามที่กฎหมายกำหนด จากนั้นส่งไปสนช.พิจารณาอีก 30 วัน ถ้าเห็นชอบก็มีขั้นตอนเสนอชื่อโปรดเกล้าฯ รวมเบ็ดเสร็จใช้เวลาอย่างน้อย 75 วัน หรือ 2 เดือนครึ่ง เป็นช่วงที่องค์กรอิสระนั้นจะไม่สามารถทำงานสำคัญได้เลย แต่ถ้าหากสนช.ตีกลับรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอจะทำให้เสียเวลาไปอีกระยะหนึ่ง แต่ปัญหาเหล่านี้จะถือเป็นการติดล็อกการเมืองหรือไม่ ซึ่งสนช.จะต้องเป็นคนคิด” นายสมชัย กล่าว

นายสมชัยกล่าวว่า ในร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต.เขียนไว้แตกต่างจากกฎหมายลูกขององค์กรอิสระอื่น ที่จะให้กรรมการอยู่ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าคนใหม่จะได้รับการแต่งตั้ง แต่ของกกต.ถ้าคณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติก็ต้องพ้นทันที สมมติเหลือ กกต.แค่ 3 คนจะประชุมได้เท่าที่จำเป็น แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญต้องรอกรรมการใหม่ที่จะเข้ามาทดแทน จึงอยากให้สนช.พิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ อยากให้เรื่องดังกล่าวแก้ไขได้ในขั้นตอนการเขียนกฎหมายมากกว่าต้องมาแก้ไขด้วยการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งอื่น ที่ทำให้ดูเหมือนการเขียนกฎหมายนั้นดำเนินการแบบไม่รอบคอบ

เพื่อไทยจี้รัฐผ่อนปรนบ้าง

นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวถึงกรณีสวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจประชาชนร้อยละ 29.24 ระบุสถานการณ์การทำงานของรัฐบาลค่อนข้างน่าเป็นห่วง จากการไม่รับฟังเสียงรอบด้านโดยเฉพาะเรื่องที่ส่งผลกระทบประชาชน ยกตัวอย่างการห้ามนั่งท้ายกระบะ การคัดค้านร่างกฎหมายกำหนดวาระการทำงานของกำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่บางเรื่องไม่ควรจำกัดสิทธิจนเกินไปว่า วันนี้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว รัฐบาลก็ควรปลดล็อกทางการเมือง และลดการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ลงบ้าง อย่าคิดว่าทบทวนไปแล้วจะมีปัญหาหรือคิดว่านักการเมืองจะทำอะไรชั่วเลวไปหมด

อยากขอให้เห็นแก่ประเทศและประชาชนที่กำลังลำบากอยู่ในขณะนี้ บางเรื่องที่ผ่อนปรนได้ก็ควรพิจารณาให้รอบคอบ ฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมาไม่จบ ที่สำคัญรัฐบาลควรปฏิบัติตามโรดแม็ปบริหารงานตามที่เคยประกาศไว้ต่อนานาประเทศ

ป.ย.ป.ดันปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง ในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) เปิดเผยว่า การทำงานของป.ย.ป. มีเป้าหมายเพื่อเร่งรัดผลักดันการปฏิรูปให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมก่อนเลือกตั้ง และเตรียมความพร้อมเพื่อให้กระบวนการปฏิรูป การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างสามัคคีปรองดอง เชื่อมและ ส่งต่อรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้อย่างราบรื่นและ เกิดความต่อเนื่อง

กลไกการปฏิรูปเพิ่มเติมที่จะช่วยเสริมการทำงานในขณะนี้คือ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ภายใต้ป.ย.ป. ซึ่งมีพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ เป็นประธาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นเลขานุการ มีภารกิจ 4 เรื่อง คือ 1.การกำกับดูแลการปฏิรูปประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การปฏิรูปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2.การดูแลแนวทางและทิศทางการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

3.บูรณาการและประสานการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กับ คสช. สนช. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)และภาคส่วนต่างๆ ผ่านกลไกการบริหาร ให้เกิดความเป็นเอกภาพ และ 4.สานพลังสังคมและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

 

“ป้อม”ชงทำเอ็มโอยูตร.สากล

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 เม.ย. ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน มีวาระการประชุมที่กระทรวง และหน่วยงาน เสนอให้ครม.อนุมัติให้ความเห็นชอบ และเพื่อรับทราบ ทั้งสิ้น 39 เรื่อง แบ่งเป็นวาระเพื่อพิจารณา 14 เรื่อง เพื่อทราบ 24 เรื่อง และเพื่อทราบเป็นข้อมูล 1 เรื่อง อาทิ การจัดทำความตกลงระหว่างสำนักงานกลางแห่งชาติตำรวจสากลประเทศไทย เสนอโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม, การขออนุมัติปรับโครงสร้างทางการเงินของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, การปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการบ้านประชารัฐและโครงการบ้านธนารักษ์, ขอความเห็นชอบโครงการศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต เสนอโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และเรื่องเพื่อทราบ อาทิ รายงานการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2559 เสนอโดย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ

นอกจากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะรายงานผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมาย ในการดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ให้ครม.ได้รับทราบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน