“บิ๊กตู่”ลั่นไม่ปรับครม.เศรษฐกิจตามเสียงเรียก ร้อง สั่งสอบแล้วหมุดคณะราษฎรถูกสับเปลี่ยน ฮึ่มกลุ่มเคลื่อนไหวขอทวงคืน วอนเลิกโต้เถียงกันไปมา “บิ๊กป้อม”บอกไม่รู้ของเดิมอยู่ไหน ชี้ไม่สำคัญเพราะไม่เกี่ยวเรื่องอดอยากปากแห้ง “ศรีวราห์”ย้ำตำรวจดำเนินคดีลักทรัพย์ไม่ได้ เหตุไม่รู้ใครเป็นเจ้าของ “อัศวิน” ยันกทม.ไม่มีเอี่ยวหมุดหาย แต่พร้อมให้ดูซีซีทีวี “ปู่พิชัย”เชื่อคนทำไม่ธรรมดา อัดปชป.เกิดจากคณะราษฎรแต่กลับนิ่งเฉย “ศรีสุวรรณ”บุกทำเนียบจี้ทวงคืนหมุด ถูกทหารหิ้วเข้าค่ายทันที “มีชัย”กันท่าสนช.แก้ปมค่าสมาชิกพรรค ลั่นถ้ามีแนวทางดีกว่าจะยกมือสาธุ สนช.ถกวาระแรก 21 เม.ย.

“บิ๊กตู่”กำชับรมต.ทำตามรธน.

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 เม.ย. ที่ทำเนียบ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งก่อนการประชุม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม นำการแสดงหุ่นไทย เช่น หุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก หุ่นมือ หนังใหญ่ หนังตะลุง หุ่นอาเซียนจากเมียนมา และกัมพูชา มาจัดแสดง เพื่อประชา สัมพันธ์เชิญชวนครม. และประชาชน ร่วมงาน มหกรรมวัฒนธรรม “ใต้ร่มพระบารมี 235 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ระหว่างวันที่ 20-25 เม.ย.นี้ บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นิทรรศน์ รัตนโกสินทร์และลานคนเมือง

รักเด็ก – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เล่นกับเด็กที่กระทรวงวัฒนธรรมพามาประชาสัมพันธ์งานมหกรรมวัฒนธรรม “ใต้ร่มพระบารมี 235 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 เม.ย.

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ว่า วันนี้เป็นการประชุมนัดแรกหลังวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นการเริ่มต้นการทำงานช่วงปีใหม่ไทย ตนมีความคาดหวังและได้ทำความเข้าใจกับครม.ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และเป็นไปตามขั้นตอนและโรดแม็ปเพื่อนำสู่การเลือกตั้ง

ยันไม่ปรับครม.เศรษฐกิจ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงพล.ร.อ.พระจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และนางมัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ปรับครม.ด้านเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในช่วงท้ายการทำงานของรัฐบาลว่า ยังไม่จำเป็น เพราะเรามองมิติเศรษฐกิจอยู่หลายด้าน ไม่ว่าระดับฐานราก ซึ่งจะให้ความสำคัญสูงสุด เพราะมีคนหลายสิบล้าน แต่การจะพัฒนาให้มีรายได้สูงขึ้นจำเป็นต้องไปทำให้ เกิดห่วงโซ่ขึ้นมาให้ได้

จะเห็นว่าเราได้ยึดโยงเศรษฐกิจขนาดใหญ่ การลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อให้ลงมาถึงข้างล่างให้ได้ ไม่เช่นนั้นทุกคนยังทำอาชีพแบบเดิมๆ ทั้งหมด เพราะไม่มีทางเลือก ไม่มีโอกาสที่เปิดกว้างในหลายพื้นที่ ซึ่งทั้งโลกมีมาตรการเศรษฐกิจขนาดใหญ่เกิดขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศมีมูลค่าสูงขึ้น รัฐบาลยังยึดนโยบายนี้

ซัดโพล-บังคับคำตอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่าสวนดุสิตโพลเผยประชาชน เป็นห่วงสถานการณ์รัฐบาล จากกรณีไม่รับฟัง ความเห็นของประชาชนเท่าที่ควร พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องดูว่าความมุ่งหมายในการทำโพลนั่นเพื่ออะไร และคำถามเป็นการบังคับคำตอบอย่างไร อยากเรียนว่ารัฐบาล รับฟังอยู่แล้วทุกเรื่อง จะเห็นว่าตนรู้ทุกเรื่องจากสื่อบ้าง จากคนส่งให้บ้าง และนำมาสู่การปฏิบัติ พร้อมแก้ไขในหลายเรื่องให้ตรงกับความต้องการ แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่า ถนนชำรุด เราแก้ปัญหาได้ทันเวลา ขณะเดียวกันข้อมูลบางส่วน ส่วนมากจากศูนย์ดำรงธรรม โซเชี่ยลมีเดีย ตนรับมาแล้วนำไปขับเคลื่อนให้ทั้งหมด แล้วจะบอกว่าตนไม่ฟังความคิดเห็นใครได้อย่างไร

“ต้องดูว่าคนที่ว่าเราไม่ฟังนั้น เป็นเรื่องอะไร โดยเฉพาะประเด็นการรักษาความสงบเรียบ ร้อย อันนี้จำเป็น หลายอย่างต้องมีมาตรการรองรับตามกฎหมาย เพราะทุกเรื่องมีกฎหมาย เพื่อรักษาความสงบให้คนส่วนใหญ่ และบ้านเมืองสงบสุขดำเนินการต่างๆ ได้ ไม่เช่นนั้นจะติดขัดไปหมด ด้วยความขัดแย้งหรือการแสดงความคิดเห็น ซึ่งบางครั้งไม่เป็นประโยชน์ ของคนไม่กี่กลุ่ม แต่ผมก็ฟัง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สั่งสอบหมุดคณะราษฎรหาย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีหมุดคณะราษฎร หรือหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ที่บริเวณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ที่ระบุถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 หายไป และถูกแทนด้วยหมุดใหม่ที่มีข้อความใหม่แทนในจุดเดิมว่า เรื่องดังกล่าวไม่อยากให้เป็นประเด็น ซึ่งตนได้รับรายงานในเรื่องดังกล่าวมาแล้ว และได้มอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ติดตามสืบสวนและสอบสวน

อย่างไรก็ตามไม่อยากให้เป็นประเด็นในเวลานี้ เราเป็นประชาธิปไตยมากว่า 80 ปี แล้ว ตนก็ยืนยันว่าตนเป็นประชาธิปไตย ดังนั้นอยู่ที่ใจของพวกเราทุกคนว่าจะเดินหน้าประเทศกันอย่างไรมากกว่า ที่เหลือเป็นเรื่องของกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่ต้องว่ากันไป ถ้าพูดกันไปมา ไม่มีวันจบ ขอให้ดำเนินการไปตามขั้นตอน

เตือนกลุ่มเคลื่อนไหวอย่าป่วน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนที่มีกลุ่มต่างๆ เคลื่อนไหวทวงคืนหมุดคณะราษฎรในวันที่ 19 เม.ย. นั้น ส่วนตัวเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น อยากขอเตือนว่าไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามในขณะนี้ไม่อยากให้บ้านเมืองไปไม่ได้ในทุกๆเรื่อง เพราะวันนี้มีหลายกลุ่มหลายฝ่ายต้องการใช้ในหลายๆ ประเด็นไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เศรษฐกิจ ความขัดแย้ง พลังงาน สุดท้ายเป็นเรื่องหมุดคณะราษฎร มาเป็นปัญหาทั้งหมด แล้วเราจะทำอะไรได้ ตนจึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการจะทำอะไรก็ตามต้องดูกฎหมายด้วย จะดูแค่รัฐธรรมนูญอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะรัฐธรรมนูญเพียงแค่เขียนกรอบกว้างๆ ไว้เท่านั้น ยังมีกฎหมายลูก มีพระราชบัญญัติอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคง ความปลอดภัย รวมทั้งมาตรา 116

ประชาชนทุกคนต้องไปศึกษาหาความรู้ ไม่ใช่อะไรจะอ้างในเรื่องสิทธิเสรีภาพทั้งหมดแล้วจะทำอะไรก็ได้ทุกอย่าง ถ้าเป็นเช่นนั้นคงต้องไปอยู่ที่ไหนสักที่ที่ไม่มีกฎหมายบังคับ ซึ่งในโลกนี้คงไม่มี เพราะทุกประเทศต้องมีการ บังคับใช้กฎหมาย อะไรที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ถึงแม้บางคนจะบริสุทธิ์ใจ แต่ถ้าทำให้คนอื่นเดือดร้อนถือว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ขอร้องเลิกโต้เถียงกัน

“วันนี้ถือว่าขอร้องแล้วกัน วันนี้เรากำลังเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย ทุกคนก็ต้องการประชาธิปไตย ต้องการเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งที่จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ขอยืนยันว่าผมพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้แผ่นดินนี้มีความสุข จึงอยากขอความร่วมมือว่าอะไรที่ไม่ใช่ประเด็นที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายจนเกินไปมากนัก อย่าเอามาให้เป็นเรื่องที่ต้องแก้มากนักเลย ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องของความรู้สึก แต่ต้องมาดูข้อเท็จจริงว่าวันนี้เรากำลังทำอะไรกันอยู่ ดังนั้นเราควรมองอนาคตดีกว่าหรือไม่ เรื่องเก่าๆ เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ก็ว่ากันไป ถ้าจะมาโต้แย้งกันไป-มา ผมขอไม่พูดดีกว่า เพราะทุกคนมีความเชื่อที่แตกต่างกัน อันนี้คือหลักการของประชาธิปไตย ไม่ได้อยู่ที่อะไรทั้งสิ้น อยู่ที่ใจคนว่าอยากเห็นประเทศชาติเดินต่อไปอย่างไร ผมก็ได้แต่ขอร้อง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ความจริงไม่อยากเพิ่มภาระให้กับความฝ่ายความมั่นคง แต่ต้องให้ฝ่ายความมั่นคงดูกฎหมายทุกข้อในช่วงนี้เป็นต้นไป ขอให้ทุกคนระมัดระวังแต่ไม่ใช่ตนขู่ เพียงแต่ไม่ต้องการให้บ้านเมืองเดือดร้อน อีกแล้ว ไม่อยากให้มีการประท้วงยาวนานจนวุ่นวายไปหมดแล้วจะทำอะไรกันได้ ทุกคนยิ่งห่วงและระบุว่าเศรษฐกิจมันแย่ ยิ่งถ้ามีการประท้วงกันอีกแล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้นได้อย่างไร เราต้องใช้เวลาที่เหลือให้เต็มที่ อะไรที่ยัง ไม่เข้าใจขอให้สอบถามมาตนยินดีที่จะตอบ สิ่งไหนทำได้ก็พร้อมทำให้ จะเห็นว่ารัฐบาลมีมาตราการต่างๆออกมาล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดี แต่หลายเรื่องยังเป็นปัญหา

“บิ๊กป้อม”ปัดไม่รู้อันเดิมอยู่ไหน

ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวว่า เรื่องหมุด คณะราษฎรให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการไป ตนตอบ อะไรไม่ได้เพราะไม่ทราบเรื่องดังกล่าว แต่เห็นว่าอย่าไปทำอะไรให้เกิดความวุ่นวายกับบ้านเมือง ตนมีหน้าที่กำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ข้างล่างจะไปทำอย่างไร สื่อยังไม่รู้ว่าหมุดอันเดิมอยู่ที่ไหนตนก็ไม่รู้

ผู้สื่อข่าวถามว่าเจ้าหน้าที่ยอมให้มีการ สับเปลี่ยนได้อย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ก็ไม่เห็น เพราะไม่ได้อยู่ตรงนั้น และไม่รู้จริงๆ ว่าเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบ ถ้าเรื่องอยู่ในส่วนของกระทรวงกลาโหมจะตอบให้ได้ เมื่อถามว่ารัฐบาลสามารถจัดการอะไรได้หรือไม่ พล.อ. ประวิตรกล่าวว่า “ไม่รู้ เพราะรัฐบาลเองก็ไม่รู้ และผมไม่ได้ติดตามเรื่องนี้ ก็ปล่อยไป เพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าไหร่ ไม่เกี่ยวกับเรื่องอดอยากปากแห้ง ไม่มีน้ำ เรื่องนี้ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ว่ากันไป และอะไรที่ทำให้เกิดความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นอย่าเพิ่งไปทำ”

ชมเปาะทีมศก.-อุบไต๋ลางาน

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ส่วนกรณีที่ พล.ร.อ. พะจุณณ์ เสนอให้รัฐบาลมีความกล้าในการปรับเปลี่ยนทีมงานเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหานั้น ต้องถามนายกฯ ไปตอบแทนไม่ได้ พล.ร.อ.พะจุณณ์ เป็นเพื่อนกับนายกฯ ต้องไปพูดกับนายกฯ ที่ผ่านมาไม่เห็นว่าการทำงานของทีมเศรษฐกิจเสียหายตรงไหน ตัวเลขต่างๆ ในภาพรวมดีขึ้น ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวการปรับครม.โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่รู้ ไม่ได้ยินนายกฯ พูดเรื่องนี้กับตน ส่วนการทำงานของฝ่ายความมั่นคง สื่อต้องดูว่าทำงานอย่างไร มีอะไรที่ไม่ดีก็ให้บอกจะได้ไปปรับปรุงว่าจะให้ทำอะไร

พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงการเดินทาง ไปต่างประเทศช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ว่า “เป็นการขอลาไป ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ต้องบอกใคร จะเป็นเรื่องลับหรือไม่ลับก็เป็นเรื่องของผม ผมไม่ได้ไปทำให้เกิดความเสียหาย ต่อบ้านเมืองและส่วนรวม ไม่ได้ไปพบใคร จะไปพบทำไม คนที่ชอบลือว่าไปพบใครก็ห่วย ไม่ต้องรับผิดชอบ อยากเขียนอะไรก็เขียน” ผู้สื่อข่าวถามว่าเดินทางไปอังกฤษใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า จำไม่ได้ ทำไมจะต้องรายงานสื่อว่าไปไหน ตนไม่ใช่บุคคลสำคัญ ไม่ใช่นายกฯ บอกได้ว่าอยู่แถวๆ นี้ ติดต่อได้ตลอด คนที่ดูแลความมั่นคงก็โทร.หาได้และตนรับโทรศัพท์ตลอด

บิ๊กตร.ชี้เอาผิดลักทรัพย์ไม่ได้

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจ แห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ด้านความมั่นคง กล่าวถึงกรณีมีความเคลื่อนไหวให้ดำเนินคดีลักทรัพย์กับผู้ที่ถอดเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร บริเวณลานพระราชวังดุสิต หรือลานพระบรมรูปทรงม้าว่า กรณีนี้จะถือเป็นคดีลักทรัพย์ ก็ต่อเมื่อมีผู้เสียหายเป็นเจ้าของทรัพย์ ไม่ว่ากรณีอ้างเป็นทายาท หรือเป็นเจ้าของก็ต้องมีหลักฐานกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น เช่นอ้างว่าเป็น เจ้าของ เป็นทายาทของใคร ถ้าได้รับตกทอดมาต้องมีหลักฐานว่าได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นมรดก หากไม่มีหลักฐานว่าเป็นทรัพย์มรดก ก็อ้างเป็นมรดกหรือเป็นเจ้าของทรัพย์ไม่ได้

กรณีหมุดนี้ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ สอบถามไปยังหน่วยงานราชการ ทั้งสำนักงานเขตดุสิตและกรมศิลปากร ได้รับการยืนยันว่าไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าของ จึงไม่ใช่ของแผ่นดิน ไม่ใช่โบราณวัตถุหรือดูแลครอบครอง เมื่อเป็นดังนั้นยังไม่ชัดว่าทรัพย์นี้เป็นของใครเลย จะดำเนินคดีลักทรัพย์ได้อย่างไร ทรัพย์เป็นของใครยังไม่รู้เลย ยังไม่มีเจ้าของมาบอกเลยว่าทรัพย์ของตนเองหายไป จะทำคดีได้อย่างไร ตอนนี้คดียังไม่เกิด ถ้าคดีเกิดแล้วจึงจะมีอำนาจ สืบสวนสอบสวนต่อ ต้องว่ากันไปตามกบิลบ้านกบิลเมือง ใครที่จะยุยงปลุกปั่นให้เป็นเรื่องการเมืองก็ว่ากันไปตามหลักฐานแล้วกัน

ผู้ว่าฯกทม.ยินดีให้ดูซีซีทีวี

ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เขตหลักสี่ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกลุ่มนักกิจกรรมเคลื่อนไหวตามหาหมุดคณะราษฎร จะเดินทางมายังศาลาว่าการกทม. ทำหนังสือขอตรวจสอบกล้องวงจรปิดในวันที่ 19 เม.ย.ว่า กทม.ยินดีให้ความร่วมมือ เพราะทุกคนมีสิทธิในการขอดูภาพจากกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) แต่ไม่ทราบเรื่องหมุดคณะราษฎรหาย หรือมีการสับเปลี่ยนแต่อย่างใด ซึ่งหมุดคณะราษฎร ไม่ใช่สิ่งของสาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบ ของ กทม. และไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของทรัพย์ เป็นหน้าที่ของตำรวจ ที่เจ้าของทรัพย์ต้องไปแจ้งความว่าทรัพย์หาย ไม่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน เขตดุสิต

ด้านนายบรรลือ สุกใส ผู้อำนวยการเขตดุสิต กล่าวว่า ทางเขตยังคงชี้แจงเหมือนเดิมว่าไม่ได้เป็นผู้เปลี่ยน พื้นที่ดังกล่าวมีหลายหน่วยงานที่ร่วมรับผิดชอบ ซึ่งกทม.มีหน้าที่ดูในเรื่องของหาบเร่แผงลอยเท่านั้น ส่วนหากจะมีการขอดูกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในพื้นที่นั้นต้องสอบถามไปยังสำนักการจราจรและขนส่ง ซึ่งทางกทม.ยินดีเปิดเผย

นายสุธน อาณากุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวว่า หากจะมีผู้มาขอดูวงจรปิดบริเวณดังกล่าวทางกทม.ก็ยินดี

ชาวบ้านแห่ดู-ผิดหวังห้ามถ่ายรูป

เมื่อเวลา 17.50 น. ที่บริเวณลานพระราชวังดุสิต พระรูปทรงม้า มีประชาชนแวะเวียนเข้าไปดูหมุดตัวใหม่ที่ถูกนำมาเปลี่ยนตัวเก่าออกไป โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 จำนวน 10 นายเฝ้าสังเกตการณ์

อย่างไรก็ตามหากใครถ่ายรูปหมุดดังกล่าวจะถูกสั่งให้ลบทิ้งทันที โดยอ้างว่ามีคำสั่งห้ามถ่ายรูปตัวหมุดหรือรูปคู่เห็นหมุดดังกล่าว หาก ฝ่าฝืนจะถูกควบคุมตัวทันที ทำให้ผู้ที่มาดูต่างผิดหวังกลับไป

“พิชัย”ซัดคนสับหมุดมีแผน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชัย รัตตกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และหัวหน้า พรรคประชาธิปัตย์ ออกแถลงการณ์กรณี มีผู้มาเปลี่ยนหมุดณะราษฎร ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ หายไปจากที่เดิม ว่า หมุดนั้นสำคัญไฉน? มีรายละเอียดดังนี้

เมื่อคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2475 นั้น ผมเพิ่งมีอายุ 6-7 ขวบ ไม่รู้ประสีประสาอะไร แต่เมื่อ อายุมากขึ้น มีโอกาสได้พบ และให้ความเคารพ แก่ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2475 หลายท่าน เช่นอาจารย์ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พลเอกหลวงเสรี เริงฤทธิ์, พันตรี ควง อภัยวงศ์, และคุณชุณห์ ปิณฑานนท์ เป็นต้น

ผมไม่ทราบมาก่อนเลยว่า คณะราษฎร ได้ทำหมุดเกี่ยวกับเหตุการณ์ การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น และนำไปฝังไว้ที่ลานพระ บรมรูปทรงม้า มาทราบอีกที และเป็นครั้งแรกก็เมื่อมีข่าวว่ามีคนมาขุดเอาหมุดนี้ออก และนำหมุดใหม่มาใส่แทนที่ แสดงว่าใครก็ตาม ที่ทำการนี้จะต้องมีแผนการไว้ล่วงหน้า

ไม่คำนึงถึงการปรองดอง

นายพิชัย ระบุว่า หมุดนี้ไม่ใช่หมุดหัวจ่ายน้ำประปา หมุดเดิมที่คณะราษฎร ได้นำมาฝังไว้ 85 ปี มาแล้ว อาจจะไม่มีค่างวดอะไรนัก แต่ค่างวดของหมุดนี้ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และทางจิตใจ อย่างยิ่ง ซึ่งไม่สามารถนำมาคำนวณ เป็นตัวเงินได้ ผู้ที่กระทำการเอาหมุดเดิมออก ไม่ได้คิดสักนิดว่า การกระทำของเขา กระทบกระเทือนจิตใจ และความรู้สึกที่ไม่ดีต่อผู้กระทำอย่างมาก และเป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงความปรองดอง, ความรักใคร่สามัคคีของชนในชาติเลย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็แสนจะดี โดยแจ้งให้ผู้ไปแจ้งความว่า “ใครเป็นเจ้าของหมุด ต้องให้เจ้าของมาแจ้งความเอง”

ผมก็อายุมากแล้ว อยากเห็นบ้านเมืองเรียบ ร้อย ประชาชนมีความรักใคร่ปรองดองกัน แต่เหตุการณ์เรื่อง “หมุด” นี้ ไม่นำไปสู่สิ่งที่ผมอยากเห็นเลย อย่ามาพูดว่า ให้มารักกันด้วยปาก อย่ามาพูดให้ปรองดอง กันด้วยปาก ตราบใดที่ขาดความจริงใจ ตราบนั้นบ้านเมืองของเรา ก็ย่ำอยู่กับที่!

กระทุ้งปชป.แสดงความเห็น

นายพิชัยให้สัมภาษณ์ว่า ตนอ่านข่าวมาหลายวันแล้ว จึงคิดว่าคนที่มาเปลี่ยนไม่ใช่คนธรรมดา ต้องมีการวางแผนและเตรียมพร้อมมาก่อน ไม่เช่นนั้นจะเอาของอื่นมาใส่แทนได้อย่างไร รู้กระทั่งกว้างยาวเท่าไหร่ ถ้าคนไม่สังเกตก็ไม่รู้ แล้วแบบนี้บ้านเมืองจะอยู่ได้อย่างไร และการที่ตำรวจถามหาเจ้าของนั้น ก็พูดไม่ถูก เพราะของอย่างนี้จะไปหาเจ้าของที่ไหน คณะราษฎรก็ตายไปหมดแล้ว และหมุดที่เขาทำขึ้นมาก็ทำเป็นที่ระลึกไว้ แล้วฝังไว้ในแผ่นดิน

ส่วนที่มีการเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ ออกมารับผิดชอบบ้าง เพราะเป็นพรรคที่เกิดจากคณะราษฎร นายพิชัย กล่าวว่า คงรับผิดชอบ ไม่ได้ เพราะไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ แต่เขาควรออกมาให้ความคิดเห็นบ้าง เพราะนายควง อภัย วงศ์ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นคณะ ราษฎร และเป็นผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นคนของพรรคประชาธิปัตย์ควรออกมาแสดงความคิดเห็นบ้าง ขนาดตนไม่ได้เป็นสมาชิก พรรคแล้วยังออกมาแสดงความเห็นได้เลย

“หมุดถือเป็นประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งของไทย คนที่ขโมยไปจะต้องเอาของเก่ากลับคืนมา เพราะเป็นสัญลักษณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้ขณะนี้การปกครองของเราจะไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยนัก แต่หวังว่าเราจะได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง และการทำอย่างนี้ไม่ทำให้บ้านเมืองปรองดอง ยิ่งสร้างความเจ็บใจให้คนและกลุ่มต่างๆ อีกด้วย คิดแล้วเศร้าจริงๆ ผมอยากกลับไปเป็นหนุ่มอีกครั้ง อายุ 30 กว่าๆ กระโดดลงมาเล่นแน่” นายพิชัยกล่าว

ปชก.ค้านข้อความหมุดใหม่

เมื่อเวลา 10.40 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กลุ่มคณะอธิปไตยปวงชนชาวไทยเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ (ปชก.) นำโดยนายณพลเดช มณีลังกา และเครือข่าย เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ผ่านผอ.ศูนย์บริการประชาชนฯ

นายณพลเดชกล่าวว่า การนำหมุดอันใหม่มาแทนหมุดคณะราษฎรที่ระบุถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 โดยมีข้อความถึงสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เช่นคำว่าประเทศสยาม พระรัตนตรัย ไปติดตั้งบนพื้นถนน มีผู้คนสัญจรผ่านไปมาตลอดเวลา ซึ่งเป็นการกระทำไม่สมควร ลบหลู่สถาบันหลักของชาติ ที่มีวัฒนธรรมไม่นำของสูงมาไว้ในที่ต่ำ จึงขอให้ นายกฯ ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวภายใน 7 วัน

ทหารคุมตัว”ศรีสุวรรณ”เข้าค่าย

ต่อมา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการเลขา ธิการสมาคมองค์การมูลนิธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไทย ได้มาที่ศูนย์บริการประชาชนฯ ยื่นข้อเรียกร้องถึงนายกฯ ให้สืบสวนหาตัวการและผู้ที่ปรับเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร หรือหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยนำหมุดอันใหม่ข้อความใหม่มาติดตั้งแทน และทวงคืนหมุดเดิมอันเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ของชาติต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กลับมาไว้ที่เดิม

ปรากฏว่าระหว่างที่นายศรีสุวรรณรอยื่นเรื่องอยู่บริเวณด้านหลังของศูนย์ฯ เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาเชิญนายศรีสุวรรณขึ้นรถตู้ออกไปไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) เพื่อพูดคุยปรับความเข้าใจถึงจุดประสงค์ในการเคลื่อน ไหวเรื่องดังกล่าว คาดว่ายังไม่ปล่อยตัวในวันนี้ เนื่องจากจะใช้เวลาสอบสวนสักระยะ หากสอบสวนพบว่าการเคลื่อนไหวเข้าข่ายผิดกฎหมาย อาจแจ้งความดำเนินคดีต่อไป

รุมจี้ปล่อยตัวทันที

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทาง การเมือง กล่าวว่า การสอบถามหรือขอรับทราบข้อมูลจากรัฐในเรื่องสาธารณะนั้น ถือเป็น สิทธิที่ประชาชนทำได้อยู่แล้ว เพราะไม่ใช่เรื่อง ความมั่นคงของประเทศ อยากให้เจ้าหน้าที่ออกมาชี้แจงถึงเหตุผลในการควบคุมตัว เพราะ บริเวณศูนย์บริการประชาชนฯ เป็นพื้นที่ที่ประชาชนสามารถเข้าไปติดต่อได้ ไม่ใช่สถานที่ ต้องห้าม

ขณะเดียวกันสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เผยแพร่แถลงการณ์เรื่อง “เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายศรีสุวรรณ จรรยาโดยทันที และ หยุดการใช้อำนาจโดยอำเภอใจ” โดยระบุว่า 1.ให้ปล่อยตัวนายศรีสุวรรณ โดยทันที รวมทั้ง ยุติการใช้อำนาจในการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจในลักษณะเช่นนี้อีกในอนาคตด้วย 2.การใช้อำนาจในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคล ต้องดำเนินการตามกระบวน การปกติที่ถูกกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นสำคัญ เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน

ส่วนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ปล่อยตัวศรีสุวรรณ จากการควบคุมตัวไม่ชอบในทันทีเช่นกัน

ห่วงฝ่ายต้านปชต.ไม่หยุด

นายชำนาญ จันทร์เรือง นักกฎหมายมหาชน ผู้ริเริ่มล่าลายชื่อ “เอาผิดผู้ทำลายและต้องคืนหมุดคณะราษฎร” บนเว็บไซต์ change.org กล่าวว่า ไม่ได้ตั้งเป้าว่าเมื่อได้ถึงจำนวนหนึ่งแล้วจะเอาไปยื่นร้องกับใคร แต่ต้องการทำให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากเรียกร้องทวงคืนหมุดคณะราษฎร เบื้องต้นคนที่มาร่วมลงชื่อสนับสนุนพบว่ามีความหลากหลายจากกลุ่มคนทุกสี ที่แปลกคือ นักการเมืองกลับไม่ค่อยมีมาลงชื่อ หรือให้ความคิดเห็น ทั้งที่นักการเมืองคือผลผลิตของการอภิวัตน์สยาม พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎร

การชี้แจงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ว่ากำลังให้ฝ่ายความมั่นคงตรวจสอบอยู่ เป็นสิ่งที่รับได้ หากมีการเคลื่อนย้ายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ก็ควรเปิดเผยความจริง หมุดคณะราษฎรที่หายไป มีข้อดีคือทำให้คนจำนวนมากหันมาสนใจ คำค้นเรื่องนี้ติดอันดับต้นๆ บนเว็บไซต์สืบค้นข้อมูล เกิดพื้นที่ถกเถียง สร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้กว้างขวาง แต่ข้อห่วงกังวลคือ มันสะท้อนชัดเจนว่าฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย ไม่มีท่าทีประนีประนอมอยู่เลย สุ่มเสี่ยงไป สู่ความรุนแรงในสังคมได้ อีกทั้งยังทำให้กระบวนการปรองดองของรัฐบาลในตอนนี้ยุ่งยากยิ่งขึ้น ลำพังไม่มีเรื่องนี้ก็ลำบากแล้ว หมุดคณะราษฎรดันมาหายอีก

“มีชัย”กันท่าสนช.แก้ปมค่าสมาชิก

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ลงนามในหนังสือเพื่อส่งร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พร้อมแนบเอกสารประกอบ ได้แก่ รายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ เพื่อส่งให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วและได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ กรธ. ไปมอบให้กับสนช. ผ่านฝ่ายธุรการของสนช.แล้ว

นายมีชัยให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากนี้ตนจะไปชี้แจงถึงสาระและเนื้อหาสำคัญของร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับหากสนช.มีข้อสงสัย ทั้งนี้ กฎหมายลูกดังกล่าวมีประเด็นเป็นข้อเห็นแย้ง เช่น ร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ถูกโต้แย้งเรื่องการชำระค่าบำรุงพรรค อาจทำให้เกิดภาระ กับสมาชิกพรรคจนเกินไป ตามเจตนารมณ์ ที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือต้องให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในกิจการของพรรค ดังนั้น แนวทาง ที่กำหนดให้สมาชิกพรรคต้องชำระค่าบำรุงพรรค เพื่อแสดงถึงสิทธิต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการของพรรคที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของนายทุนเท่านั้น หากสนช. จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงประเด็นนี้ ต้องมี คำตอบด้วยว่าจะปรับอย่างไรเพื่อให้มีส่วนร่วม ของสมาชิกในพรรคเกิดขึ้นได้จริง หากสนช. มีแนวทางที่ดีกว่าตนจะยกมือขึ้นสาธุให้

แย้งกกต.-การเมืองไม่ติดล็อก

นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. ที่กรธ.กำหนดกลไกให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง ทำหน้าที่แทน กกต.จังหวัด เพราะเชื่อว่าจะเป็นกลไกที่ทำให้การทำงานของกกต. ตรวจสอบการเลือกตั้งในระดับพื้นที่ทำได้ดีกว่าที่ผ่านมาและจะไม่มีปัญหา ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าควรคงกกต.จังหวัดไว้แบบเดิม เป็นมุมมองที่สนช.ต้องพิจารณาและขึ้นอยู่กับดุลพินิจ

ขณะที่ประเด็นที่ กกต.ชุดปัจจุบันตั้งข้อสังเกต การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของกกต.ที่ขาดคุณสมบัติทันทีหลังคณะกรรมการสรรหา มีคำวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งว่าจะทำให้ระบบการเมืองติดล็อกนั้น ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ประเด็นเรื่องจำนวน กกต. ที่ต้องอยู่เพื่อปฏิบัติ หน้าที่สำคัญ กำหนดให้ทำหน้าที่ได้เพียง บางเรื่องเท่านั้น คงไม่เกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้ง เพราะการกำหนดวันเลือกตั้งได้นั้น ต้องให้การเตรียมพร้อมของกกต. และพรรค การเมืองเสร็จก่อน ดังนั้นเรื่องนี้จะไม่ทำให้การกำหนดวันเลือกตั้งสะดุด

สนช.ถกวาระแรก 21 เม.ย.

ด้านนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิปสนช.แถลงผลการประชุมว่า ในวันที่ 20 เม.ย. ที่ประชุมสนช.ได้บรรจุวาระการพิจารณากฎหมาย ให้สอดคล้องต่อสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามที่ ครม. เป็นผู้เสนอ ในวาระแรก คือ ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ….. และ ร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ…. เมื่อที่ประชุม สนช.เห็นชอบรับหลักการแล้ว จะตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาศึกษากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณา ร่างพ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 พ.ศ….. เพื่อนำเงินที่เหลือจากการเบิกจ่ายในไตรมาส 2 ของส่วนราชการ มาเป็นงบกลาง สำหรับการเบิกจ่ายฉุกเฉิน วงเงินประมาณ 11,000 ล้านบาท และหากมีเวลาอาจพิจารณาแก้ไขข้อบังคับสนช.ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย

ส่วนการประชุมสนช.ในวันที่ 21 เม.ย. มีวาระการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย กกต. พ.ศ….. และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ….. ในวาระแรก เมื่อที่ประชุมลงมติรับหลักการ จะตั้งกมธ.พิจารณาศึกษาทั้ง 2 ฉบับ ชุดละ 31 คน มีสัดส่วนจากสนช. 25 คน ครม. 6 คน ซึ่งจะรวมตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกรธ. คณะกรรมการกฤษฎีกา กกต. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)ไว้ในสัดส่วนของครม. ซึ่งในกฎหมายพรรคการเมือง สัดส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องจะไม่มีตัวแทนจากพรรคการเมือง แต่จะเป็นตัวแทนจากสปท.ที่เข้ามาตามโควตาของฝ่ายการเมืองมาร่วมแทน โดยกรอบเวลาการพิจารณากฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญ มีทั้งสิ้น 60 วัน ครบกำหนดวันที่ 16 มิ.ย. โดยสนช.วางกรอบจะพิจารณาเนื้อหา 45 วัน และแปรญัตติ 7 วัน ก่อนเข้าสู่การลงมติเห็นชอบวาระสาม เพื่อบังคับใช้ต่อไป

“เรืองไกร”จ่ออุทธรณ์คดีหุ้นชิน

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย และทีมทนายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีกรมสรรพากร เรียกเก็บภาษี 1.6 หมื่นล้านบาทจากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับกลุ่มเทมาเส็กเมื่อวันที่ 23 ม.ค.2549 เปิดเผยว่า ในการอุทธรณ์คดีกับคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีจะยื่นเรื่องภายในสัปดาห์หน้าเพราะตามระเบียบแล้วต้องดำเนินการภายใน 30 วันนับจากวันที่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเดินทางไปปิดประกาศที่หน้าบ้านตามสำเนาทะเบียนบ้านของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

สำหรับขั้นตอนการต่อสู้ จะชี้แจงให้คณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีเห็นว่า 1.กระบวนการที่ผู้มีอำนาจเดินหน้า โดยเรียกว่าอภินิหารทางกฎหมายนั้นไม่ชอบอย่างไร โดยเฉพาะจะชี้ให้เห็นว่า มีหนังสือซึ่งเป็นมติจากกรมสรรพากร โดยกระทรวงการคลังที่ชัดเจนว่าไม่สามารถเรียกเก็บภาษีนายทักษิณได้ ส่งไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) แต่จากการตรวจสอบหมายเรียกประเมินภาษีชัดเจนว่าคณะรัฐมนตรี มีมติสั่งการให้ฟ้องเรียกประเมินภาษี ต่อนายทักษิณ ตามแนวทาง ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

เอาผิดคนประเมินภาษีแม้ว

2.จะหยิบยกประเด็นที่ศาลภาษีอากรกลาง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองชี้ชัดเรื่องอายุความของคดี รวมถึง การเป็นตัวแทนของนายพานทองแท้และน.ส. พินทองทา ชินวัตร ในขณะนั้นว่าได้วินิจฉัยอย่างไร และศาลทั้งสอง ได้ออกคำสั่งให้ยุติการเรียกประเมินภาษี น.ส.พินทองทาและนายพานทองแท้แล้ว

3.จะหยิบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีมติไม่ดำเนินการกับกรมสรรพากร ตั้งแต่ปี 2555 หลังมีคณะบุคคลไปยื่นฟ้อง เพื่อให้ดำเนินการเอาผิดกับกรมสรรพากรเนื่องจากไม่จัดการเรียกประเมินภาษีกับนายทักษิณ มาเป็นแนวทางการต่อสู้ที่สำคัญอีกหนึ่งเรื่อง

อย่างไรก็ตามภายในสัปดาห์นี้ตนจะไปที่คณะกรรมการป.ป.ช. เพื่อกล่าวโทษเอาผิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในการเดินหน้าเรียกประเมินภาษีจากนายทักษิณที่มิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนจะมีบุคคลใดอยู่ในข่ายดังกล่าวบ้างยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด

“บิ๊กตู่”เยือนบาห์เรน 24-26 เม.ย.

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีกำหนดการเยือนราชอาณาจักรบาห์เรนระหว่างวันที่ 24-26 เม.ย.นี้ ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีบาห์เรน โดยมีรมว.ต่างประเทศ รมว.พาณิชย์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.สาธารณสุข และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ทั้งนี้ บาห์เรนเป็นประเทศแรกในภูมิภาคตะวันออกกลางที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางเยือน และถือเป็นโอกาสดีเนื่องจากปี 2560 เป็นปีครบรอบ 40 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและบาห์เรน

ในการเยือนราชอาณาจักรบาห์เรนครั้งนี้ จะมีการลงนามเอ็มโอยู 4 ฉบับด้วยกันประกอบด้วย 1.บันทึกความเข้าใจ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้ง 2 ประเทศ 2.พิธีสารแก้ไขอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลบาห์เรน สำหรับการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี ในส่วนของภาษีเงินได้ 3.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยบาห์เรน และ4.บันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างไทยกับบาห์เรน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน