ไทยตั้งระบบเฝ้าระวังป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าแห่งแรก ห่วงเด็กอยากลอง คิดว่าไม่อันตราย

สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าโลก พบผู้เสียชีวิตป่วยปอดอักเสบรุนแรงจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ตายแล้ว 48 ราย ป่วย 2,291 ราย ล่าสุดไทยพบผู้ป่วยรายแรก พร้อมรับมือ ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาฯ เตรียมจัดตั้ง “ระบบเฝ้าระวังการเจ็บป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้า” แห่งแรกของไทย

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อนเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่โรงแรมเดอะ สุโกสล ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดแถลงข่าว “วิกฤตสุขภาพเยาวชนไทย จากภัยบุหรี่ไฟฟ้า” โดย ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลก จัดเป็นวิกฤตโลกทางด้านสาธารณสุข ดังจะเห็นได้จาก เมื่อพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ประกาศเตือนให้หยุดสูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด หลังพบผู้เสียชีวิตและป่วยปอดอักเสบรุนแรงจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เสียชีวิต 48 ราย ป่วย 2,291 ราย โดยในยุโรปที่ประเทศอังกฤษและเบลเยี่ยมก็พบผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ซึ่งล่าสุดประเทศไทยพบผู้ป่วยรายแรกจากบุหรี่ไฟฟ้า เกิดปอดอักเสบเฉียบพลันและระบบหายใจล้มเหลว ปัจจุบันพบว่ามีรายงานการตายและป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าในหลายประเทศ โดยมีข้อสังเกตทางการแพทย์ที่น่าตกใจคือ เมื่อสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วสามารถป่วยและตายได้ในช่วงเวลาแค่ไม่กี่เดือน

“บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นภัยคุกคามของทุกประเทศทั่วโลก จึงสนับสนุนให้ประเทศไทย ควรมีระบบเฝ้าระวังการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และบังคับใช้กฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าจริงจัง เพื่อเตรียมการรับมือกับความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นฉุกเฉินจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องควรเร่งดำเนินการอย่างยิ่ง หากไม่ดำเนินการอะไร ไทยอาจจะมีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และควรเร่งสื่อสารข้อเท็จจริงถึงอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหาความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ที่เป็นพลังสำคัญของชาติ” ศ.นพ.รณชัย กล่าว

คุณวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุน สสส.และกรรมการกำกับทิศของ ศจย. กล่าวว่า หลายประเทศทั่วโลกกำลังตื่นตัวและเตรียมทบทวนการควบคุมของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน ซึ่งมีการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแล้วในหลายประเทศ โดยล่าสุดเมื่อพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ประกาศห้ามบุหรี่ไฟฟ้า และบังคลาเทศมีแผนห้ามบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด เพราะหวั่นผลกระทบต่อเยาวชนและสุขภาพของคนในประเทศ

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ห้ามนำเข้า ขาย บริการ และครอบครอง ซึ่งมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา มีการจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์ ส่งสินค้าทางไปรษณียภัณฑ์ ที่ย่านตลิ่งชัน มูลค่าของกลางกว่า 7 ล้านบาท และจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ที่ย่านคลองถมเซ็นเตอร์ จากการเข้าตรวจค้นกว่า 15 ร้านค้า พบผู้ต้องหาคนไทย 7 คน คนต่างด้าว 3 คน และพบของกลางจำนวนมาก อาทิ บุหรี่ไฟฟ้า 566 ตัว น้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า 5,158 ขวด อุปกรณ์ 1,362 ชิ้น หัวบุหรี่ไฟฟ้า 402 หัว มูลค่าของกลางกว่า 12 ล้านบาท

คุณช่อผกา วิริยานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเอยูคอมมินิเคชั่น เปิดผลโพลล่าสุดของ ศจย. ซึ่งได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีต่อบุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มตัวอย่างคือนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนในกรุงเทพฯ ผลโพลพบสัญญาณอันตรายหลายประเด็น คือ นักศึกษาเกือบ 100% รู้จักบุหรี่ไฟฟ้า โดย 1 ใน 3 อยากลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า และเกือบครึ่งมีทัศนคติที่ดีต่อบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับบุหรี่ธรรมดา คือ เป็นอันตรายน้อยกว่า ลดความเสี่ยงมะเร็งปอด ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้ และเชื่อว่าไม่ทำให้ติดเพราะไม่มีนิโคติน

และแม้จะมีข่าวดังทั่วโลกว่ามีคนตายจากบุหรี่ไฟฟ้าแล้วในสหรัฐอเมริกา แต่มีนักศึกษาประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่รู้ข่าวนี้ และจำนวน 1 ใน 6 ยังเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตรายเลย ทั้งนี้ผลโพลตอกย้ำว่าสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนไทยน่าเป็นห่วง โดยเยาวชนยังมีความสับสนเรื่องข้อมูลของบุหรี่ไฟฟ้า โดยเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย ซึ่งทั้งหมดนี่คือสัญญาณอันตรายอย่างมากที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย

ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันแล้วว่าสารนิโคตีนนอกจากเป็นสารที่ออกฤทธิ์ในสมองทำให้เสพติดได้แล้ว ยังมีผลต่อการทำงานระบบอื่นๆของร่างกายโดยเฉพาะระบบหลอดเลือดและหัวใจ มีการศึกษาพบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยในการเลิกนิโคตินเทียบกับการเลิกโดยวิธีมาตรฐานอีกทั้งยังนำไปสู่การติดบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย​ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคเส้นเลือดสมอง

การใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังสัมพันธ์ภาวะปอดอักเสบรุนแรงซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตและในผู้ที่รอดชีวิตยังอาจเกิดโรคปอดเรื้อรังอีกด้วย บุคคลรอบข้างผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอาจมีอาการจากการได้รับบุหรี่มือสองได้โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคหอบหืดมีการศึกษาพบว่าน้ำยานิโคตินของบุหรี่ไฟฟ้าอาจมีปริมาณสารนิโคตินไม่ตรงกับที่ฉลากกำกับไว้และมีสารปนเปื้อนอื่นได้อีกด้วย นอกจากนี้น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ายังมีการแต่งสีและกลิ่นต่างๆซึ่งดึงดูดความสนใจของเด็ก หากเด็กนำมากินจะทำให้เกิดภาวะพิษจากนิโคตินเฉียบพลันในรายที่รุนแรงอาจมีอาการชักและเสียชีวิตได้ ​

“เพื่อติดตามและเฝ้าระวังการเจ็บป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้า ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ร่วมกับศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อควบคุมยาสูบ (ศจย.) กำลังสร้างระบบการเฝ้าระวังดังกล่าว เบื้องต้นได้ทำการรวบรวมข้อมูลเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบาดเจ็บจากบุหรี่ไฟฟ้ารวมถึงการวินิจฉัยและดูแลรักษา
นอกจากนี้ ร.พ.รามาธิบดีได้เตรียมการสร้างระบบเครือข่ายเชื่อมโยงในการดูแลผู้บาดเจ็บจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยจะทำระบบรับแจ้งเหตุจากบุหรี่ไฟฟ้า (e-cig emergency) จากศูนย์รับแจ้งเหตุห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินทั่วประเทศ เพื่อให้มีการดูแลที่มีประสิทธิภาพและมีฐานข้อมูลเพื่อติดตามสถานการณ์การบาดเจ็บจากบุหรี่ไฟฟ้า

ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผู้สูบบุหรี่สามารถปรึกษาเลิกบุหรี่กับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 เพื่อการเลิกบุหรี่ที่ถูกต้อง ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการ เลิกบุหรี่และบุหรี่ไฟฟฟ้าวันนี้เพื่อสุภาพที่ดีของคุณและคนที่คุณรักกันดีกว่า” ศ.นพ.วินัย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน