นักประวัติศาสตร์ชี้ “บางกลอย-ใจแผ่นดิน” มีมาแต่อยุธยา เส้นทางเชื่อมสองคาบสมุทร

วันที่ 16 ธ.ค. รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาและโบราณคดี กล่าวในการเดินทางเที่ยวตามตำนาน “เพชรบุรีที่ยังไม่เคยเห็น” ซึ่งจัดโดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ว่า แม่น้ำเพชรบุรีเป็นสายน้ำสำคัญ โดยมีปลายน้ำอยู่ที่ตัวเมืองเพชรบุรี ส่วนทางต้นน้ำบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดินเป็นเส้นทางการค้าทางบกมาแต่โบราณ

ช่วงสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 พบมีการตั้งบ้านเรือนและชุมชนริมแม่น้ำเพชรบุรีที่อำเภอบ้านลาด มีภาพประติมากรรมนูนต่ำ ศิลปะทวารวดีที่ถ้ำเขาน้อย แสดงถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนาในการสร้างศิลปะในถ้ำ ซึ่งเป็นที่อยู่และทำพิธีกรรมทางศาสนา

เทือกเขาเดียวกันที่วัดถ้ำรงค์ มีพระพุทธรูปหลวงพ่อดำอยู่ภายในถ้ำรงค์ เป็นพระยืน ศิลปะอู่ทอง กึ่งทรงเครื่อง ราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้น

ศรีศักร วัลลิโภดม

ที่วัดป่าแป้น อำเภอบ้านลาดเช่นกัน มีโกลนพระหินแกรนิตสีเขียวอมเทา ปางห้ามสมุทร ศิลปะทวารวดี และไม่ไกลกัน มีเจดีย์แดงขนาดใหญ่ สมัยอยุธยาตอนต้น เรียกกันว่า ศิลปะสุพรรณภูมิ เนื่องจากมีเจดีย์รูปทรงนี้กระจายหลายแห่งในภาคกลาง ที่ยังค่อนข้างสมบูรณ์คือ เจดีย์ที่วัดพระรูป สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นการรับอิทธิพลศิลปะปาละ จากอินเดีย

ชุมชนทวารวดี อำเภอบ้านลาด เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเพชรบุรี ที่แสดงความสัมพันธ์ของป่า เขา ลำน้ำ และชุมชน ต่อมามีการย้ายความเจริญไปที่ตัวเพชรบุรีในปัจจุบัน ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นเมืองมีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบ มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัส ด้านละประมาณ 1,200 และ 1,300 เมตร

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ด้าน วลัยลักษณ์ ทรงศิริ นักประวัติศาสตร์ ของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธ์ กล่าวว่า บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดินมีมานานมากอย่างน้อยตั้งแต่สมัยอยุธยา เนื่องจากอยู่บนเส้นทางจากมะริดมาเพชรบุรี โดยมีบันทึกของชาวตะวันตกทั้งสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็นคณะราชทูตชาวเปอร์เซีย คณะราชทูตจากฝรั่งเศส

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ตลอดจนคณะราชทูตของครอว์เฟิร์คจากอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 2 บันทึกตรงกันว่า มาขึ้นฝั่งที่มะริด จากนั้นเดินทางทวนลำน้ำตะนาวศรี แล้วเดินข้ามเทือกเขาตะนาวศรี มาที่ต้นน้ำเพชรบุรี จากนั้นจึงล่องแม่น้ำมาที่เมืองเพชรบุรี ซึ่งที่ต้นน้ำเพชรบุรีคือ บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน

ขณะที่ สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ระบุว่า ชาวกะเหรี่ยงและเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ใช้เส้นทางนี้ในการติดต่อและสำรวจชาวเขามาเนิ่นนาน โดยได้สำรวจบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ในปี 2528 และมาจัดทำทะเบียนชาวเขาให้ในปี 2530 ซึ่งปู่คออี้ที่เกิดและอาศัยอยู่ที่นี่ก็ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนชาวเขาให้ด้วย

สุรพงษ์ กองจันทึก

สุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน เป็นที่รู้จักตลอดมา เมื่อมีการทำแผนที่โดยกรมแผนที่ทหารในปี 2455 ก็ปรากฏบ้านใจแผ่นดินในแผนที่ และปรากฏในทุกแผนที่ที่มีการจัดทำในระยะต่อๆมา จนมีถูกเผาทิ้งทั้งหมู่บ้านราว 100 หลังโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี 2554

สุดท้ายในปี 2561 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่าเจ้าหน้าที่กระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้ชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้าน ปัจจุบันชาวบ้านยังไม่ได้กลับไปอยู่บ้านเดิมที่บางกลอย-ใจแผ่นดิน และบิลลี่หลานปู่คออี้ที่ถูกฆาตกรรมซ่อนเร้นศพ ก็ยังไม่มีการฟ้องผู้กระทำผิดต่อศาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน